• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน (ต่อ)

" เจ็บ" ในที่นี้หมายถึง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุภยันตราย แมลงสัตว์กัดต่อย และการได้รับสารพิษ รวมทั้งการแพ้ยา และการเป็นพิษจากยาด้วย
" ฉุกเฉิน " ในที่นี้หมายถึง เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน และจะต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ถึงชีวิตหรือพิการ หรือต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก
" การช่วยตนเองและช่วยกันเอง "ในที่นี้หมายถึง คนที่เกิดอาการเจ็บฉุกเฉินรู้จักวิธีช่วยตนเอง เพื่อกำจัดหรือบรรเทาอาการเจ็บฉุกเฉินนั้น ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะ และกำลังวังชาพอที่จะช่วยตนเองได้ หรือถ้าไม่สามารถช่วยตนเองได้  คนที่อยู่ใกล้ๆ หรือพบเห็นการเจ็บฉุกเฉินนั้น รู้จักช่วยผู้ที่เจ็บฉุกเฉิน ตามสมควรเพื่อช่วยชีวิตหรือลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้

๕. การปฐมพยาบาล ทำการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บในระดับที่ ๑ ก่อนถ้าทำได้ ถ้าทำไม่ได้ หรือทำเสร็จแล้วจึงทำการปฐมพยาบาลระดับที่ ๒ ต่อไปส่วน ระดับที่ ๓ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมักจะดูแลตนเองได้ โดยเฉพาะเมื่อได้รับคำแนะนำว่าจะช่วยตนเองได้อย่างไร
๕.๑ ผู้บาดเจ็บที่หมดสติ ไม่หายใจ และไม่กระดุกกระดิกเลย ให้ถือว่า " ฉุกเฉินที่สุด" เพราะถือ ว่า " หัวใจหยุด " แล้ว ให้ทำการ  "กู้ชีพ " ทันทีถ้าทำได้ หลังจากนำ (ลาก) ผู้บาดเจ็บให้พ้นจากจุดอันตรายแล้ว (ดูวิธี " กู้ชีพ " ใน" มาเป็นหมอกันเถิด " ในหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕)
คำเตือน : ต้องระวังภาวะกระดูกคอหักเสมอในผู้บาดเจ็บที่หมดสติไม่หายใจ ไม่ขยับคอ หรือเจ็บปวดบริเวณต้นคอ การกู้ชีพและการช่วยหายใจจะต้องระวังให้ หน้า คอ และลำตัว เป็นแท่งตรงเสมอ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยรู้ตัวและยังหายใจเองได้ แล้วไม่สามารถหันคอให้หน้าคอ และลำตัวเป็นแท่งตรงได้ ก็ให้ตรึงคอผู้ป่วยไว้ในท่านั้น
๕.๒ ผู้บาดเจ็บที่หมดสติ แต่ยังหายใจได้เอง ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกซากรถ ต้องพยายามตรึงหรือ ดามคอให้อยู่นิ่งๆ ก่อน (ดูคำเตือน ในข้อ ๕.๑) ถ้าไม่เคยฝึกวิธีช่วยคนกระดูกคอหักมาก่อน ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศีรษะ คอ และลำตัวผู้บาดเจ็บเด็ดขาด เพราะถ้าศีรษะ คอ และลำตัว ไม่เคลื่อนไหวไปพร้อมกันในแนวทางเดียวกัน กระดูกคอที่หักอาจจะไปกดไขสันหลัง บริเวณคอทันทีทำให้เกิดอัมพาตของแขน ขา และหยุดหายใจได้
ถ้าไม่แน่ใจว่าตนเองจะสามารถช่วยผู้บาดเจ็บ โดยไม่ทำให้ผู้บาดเจ็บเป็นอัมพาต หรือหยุดหายใจ ควรรอให้ผู้ที่ชำนาญกว่ามาช่วยจะดีกว่า
๕.๓ ผู้ที่หมดสติจากการจมน้ำ ถ้าเกิดจากการที่ศีรษะกระแทกพื้นหรือถูกกระแทก ควรตรึงคอหรือดามคอก่อนเสมอ ถ้าไม่เกิดจากศีรษะกระแทกหรือถูกกระแทก ให้เปิดทางหายใจและช่วยหายใจทันที (ดูใน " มาเป็นหมอกันเถิด " ในหมอชาวบ้านฉบับเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ๒๕๔๕)
ถ้าช่วยหายใจลำบาก เพราะมีน้ำในกระเพาะอาหารมากให้ตะแคงตัวผู้ป่วยแล้วกดท้อง แล้วใช้นิ้วล้วงสิ่งที่อาเจียนออกมาและค้างอยู่ในปากออกจนหมดก่อนช่วยหายใจและนวดหัวใจต่อ ถ้าทำได้ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าหัวต่ำ (๑๕-๒๐ องศา) เพื่อให้น้ำไหลออกได้สะดวกโดยทั่วไป คนที่จมน้ำจะไม่กลืนน้ำเข้าไปมากนัก
๕.๔ ผู้บาดเจ็บที่ไม่หายใจ หรือกำลังจะหยุดหายใจ รีบช่วยหายใจโดยล้วงสิ่งของในปาก เช่น ฟันปลอม เศษอาหารออกจากปากเช็ดเลือดและสิ่งสกปรกต่างๆ ออก จากบริเวณจมูก ปาก และหน้า แล้ว " เป่าปาก " หรือ " เป่าจมูก " ช่วยหายใจ (ดูวิธีช่วยหายใจใน "มาเป็นหมอกันเถิด " ในหมอชาวบ้านฉบับเดือน พฤษภาคมและมิถุนายน ๒๕๔๕)
คำเตือน : ต้องระวังภาวะกระดูกคอหัก ดังที่กล่าวไว้ในข้อ ๕.๑ เสมอ
๕.๕ ผู้บาดเจ็บที่ชัก ให้การปฐมพยาบาลแบบผู้ป่วยชักอื่นๆ (ดูการปฐมพยาบาลผู้ป่วยชัก ใน"มาเป็นหมอกันเถิด " ในหมอชาวบ้านฉบับเดือนเดือนมิถุนายนและ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
๕.๖ ผู้ที่มีบาดแผลเลือดออกมาก ผู้ที่เข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บควรสวมถุงมือยางก่อน ในกรณีไม่มีถุงมือยาง ต้องระวังไม่ให้มือมีบาดแผล และไม่ให้เกิดบาดแผล เพราะอาจติดโรคได้
- ในกรณีที่เลือดออกจากบาดแผลภายนอก และไม่มีสิ่งปักคาอยู่ เช่น มีด ไม้ หรืออื่นๆ ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือ หรือสันมือกดลงตรงจุดที่เลือดออกจนเลือดหยุดไหลแล้วกดไว้เช่นนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐-๑๕ นาที ถ้าปล่อยมือแล้วเลือดออกอีก อาจต้องกดไว้อย่างนั้นจนกว่าจะพบหมอหรือไป ถึงโรงพยาบาลแล้ว เมื่อเลือดหยุดออกรุนแรงแล้วให้ใช้ผ้าสะอาดพับเป็นก้อนขนาดใหญ่กว่าบาดแผลเล็กน้อย แล้ววางลงบนบาดแผลแล้วใช้เชือกพันรัดให้แน่นถ้าทำได้ จะได้ไม่ต้องกดอยู่ตลอดเวลา ควรรัดให้แน่นพอที่เลือดจะหยุดออกเท่านั้น อย่ารัดแน่นจนเลือดไหลไปเลี้ยงส่วนปลายไม่ได้ และห้ามขันชะเนาะเด็ดขาด
ในกรณีที่เลือดออกจากบาดแผลภายนอกที่มีมีด ไม้ หรือสิ่งอื่นปักคาอยู่ ห้ามดึงสิ่งที่ปักคาอยู่ ออก ต้องพยายามตรึงสิ่งที่ปักคาอยู่ให้อยู่นิ่งๆ ถ้าเลือดออกเพียงไหลรินหรือซึมๆออก ควรปล่อยไว้เฉยๆ แล้วมันจะแห้งและหยุดเอง แต่ถ้ามันไม่หยุดไหล หรือมีเลือดออกมากควรกดลงที่บาดแผล รอบๆ สิ่งที่ปักคาอยู่เพื่อให้เลือดหยุดไหลหรือไหลออกน้อยลง หรือ ใช้น้ำแข็งประคบ

ผู้ที่เสียเลือด แล้วมีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือกระหายน้ำ ควรให้ดื่มน้ำเกลือแร่ (ถ้าหาไม่ได้ ให้ดื่มน้ำเปล่าแทน) บ่อยๆ จนหายหน้ามืดเป็นลม หรือกระหายน้ำ แล้วรีบส่งโรงพยาบาล
อย่าลืมปลอบขวัญและให้กำลังใจบ่อยๆ และให้ผู้ป่วยสงบ และมีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด เลือดจะออกน้อยลง
- ในกรณีที่เลือดออกจากบาดแผลภายใน เช่น กระดูกหัก ตับแตก ม้ามแตก ซึ่งมักจะไม่เห็นเลือดไหลออกมาภายนอกแต่ผู้ได้ รับบาดเจ็บจะมีอาการปวดบริเวณที่มีบาดแผลภายในมาก และจะซีดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็น และเหงื่อเย็นๆ ออกในเวลาต่อมา ปลอบขวัญ ให้กำลังใจ และทำให้ผู้ป่วยสงบและมีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด ถ้าตรึงส่วนที่เจ็บปวดให้อยู่นิ่งๆ ได้ ควรจะตรึงทันที ถ้าผู้ป่วยไม่ปวดท้อง และไม่คลื่นไส้อาเจียนแล้วยังมีอาการกระหายน้ำ ควรให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำเปล่าบ่อยๆ ยก เว้นถ้าผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือดหรือ อุจจาระสีดำหรือเป็นเลือด ควรงดอาหารและน้ำ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ในกรณีที่เลือดออกจากจมูก (เลือดกำเดา) ให้ผู้ป่วยนั่งพิงเอน ศีรษะพิงพนักหรือกำแพง (ผนัง หรือสิ่งอื่น) หายใจเข้าออกยาวๆ ปลอบใจให้สงบ (ยิ่งตื่นเต้น เลือด ยิ่งออกมาก ใช้นิ้วบีบจมูกทั้ง ๒ ข้างให้แน่น โดยหายใจทางปากแทน วางน้ำแข็งหรือน้ำเย็นบริเวณสันจมูก และหน้าผาก ถ้าเลือดไม่หยุด รีบพาไปโรงพยาบาล
- ในกรณีที่เลือดออกจากปาก จมูก หรือหู โดยไม่เห็นบาดแผล ให้จับนอนตะแคงคว่ำ (ท่านอนตะแคงกอดหมอนข้าง) เหมือนผู้ป่วยหมดสติ เพื่อให้เลือดที่ออกสามารถไหลออกสู่ภายนอกได้สะดวก เลือดจะได้ไม่ไหลเข้าคอหอย และทำให้สำลักเลือดเข้าไปในปอด)
- ในกรณีที่เลือดออกจากส่วนอื่น และไม่สามารถมองเห็นบาดแผลได้ ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายที่สุด และทำให้เลือดออกน้อยที่สุด เช่น ให้ส่วนที่เลือดออกอยู่สูงที่สุดปลอบใจให้สงบ วางน้ำแข็งหรือน้ำเย็นบริเวณที่เลือดออกถ้าเลือดไม่หยุดรีบพาไปโรงพยาบาล
๕.๗ ผู้ที่มีบาดแผลทะลุ
ถ้าบาดแผลทะลุนั้นมีสิ่งปักคาอยู่ ห้ามดึงสิ่งที่ปักคาอยู่ออก พยายามตรึงสิ่งที่ปักคาอยู่ให้อยู่นิ่งๆ ถ้ามีเลือดออกมากรอบสิ่งที่ปักคาอยู่ ให้ใช้ปลายนิ้วกดบริเวณที่เลือดออกนั้น แล้วใช้น้ำแข็งประคบ ถ้าบาดแผลทะลุนั้นไม่มีสิ่งปักคาอยู่ ให้ใช้มือหรือผ้าสะอาดปิดรูทะลุนั้นทันที ในกรณีที่เป็นแผลทะลุที่ช่องท้องแล้วมีลำไส้ไหล เลื่อนออกมาทางแผลทะลุนั้น ห้ามยัดลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้องให้ใช้ผ้าสะอาดคลุมไว้ แล้วพันรัดช่องท้องให้แน่นพอที่ลำไส้จะไม่ไหลเลื่อนออกมาอีก
(ยังมีต่อ)
 

 

ข้อมูลสื่อ

283-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 283
พฤศจิกายน 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์