• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “ไอ” (ตอนที่ 3)

เรื่อง “ไอ” (ตอนที่ 3)


คนไข้รายที่ 5 หญิงไทยอายุ 65 ปี มาที่โรงพยาบาลพร้อมกับลูก ๆ ที่มีอาการวิตกกังวลอย่างมาก

หญิง : “สวัสดีค่ะ ดิฉันไอเป็นเลือดออกมาสด ๆ เป็นจำนวนมาก น่ากลัวจังเลยค่ะ เป็นอะไรมากมั้ยคะ”
หมอ : “สวัสดีครับ เลือดออกมาประมาณเท่าไรครับ 1 ถ้วยยา (ประมาณ 50-60 ซีซี) 1 แก้วน้ำ (ประมาณ 250 ซีซี) หรือประมาณเท่าไรครับ

หญิง :
“ไม่แน่ใจค่ะ มันออกมาทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกประมาณถ้วยยากระมังค่ะ ครั้งที่สองมากกว่าครั้งแรก ประมาณ 2-3 เท่าของครั้งแรก และครั้งที่สามพอ ๆ กับครั้งแรกค่ะ”
หมอ : “ครั้งแรกเมื่อไหร่ครับ และรู้สึกเป็นอย่างไรก่อนไอเป็นเลือดมั้ยครับ”

หญิง :
“ครั้งแรกประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อน รู้สึกมีเสียงเหมือนน้ำปุด ๆ ในอกข้างขวา แล้วก็ไอออกมาเป็นเลือดสด ๆ ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกสัก 5-10 นาที แล้วครั้งที่สามนี่ห่างจากครั้งที่สองประมาณครึ่งชั่วโมงค่ะ”
หมอ : “เลือดที่ออกมาเป็นสีแดงสดเลยหรือครับ ไม่มีสีดำหรือเสมหะปนเลยหรือครับ”

หญิง :
“เป็นเลือดสีแดงสดค่ะ และมีลักษณะเป็นวุ้น ๆ คล้ายเลือดที่แข็งตัวด้วยค่ะ มีเสมหะปนน้อยมาก”
หมอ : “คุณเคยเป็นอย่างนี้มาก่อนมั้ยครับ”

หญิง :
“เคยค่ะ 3-4 ปีก่อน เคยเป็นแต่ไม่มากเท่าครั้งนี้ หมอตรวจหลายอย่าง ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร แล้วทำไมมันมาเป็นใหม่ล่ะหมอ”

ระหว่างที่ซักถามกันอยู่ คนไข้ก็ไออีกครั้งและมีเลือดสีแดงสดเป็นวุ้น(เลือดที่แข็งตัวเป็นวุ้น)ออกมาประมาณครึ่งถ้วยยา (30 ซีซี) มีเสมหะ (เมือกขาว ๆ) ปนอยู่เพียงเล็กน้อย

หมอ : “คุณไอเป็นเลือดสด ๆ จริงตามที่คุณบอก แสดงว่ามีเลือดออกในปอดหรือหลอดลมในอกขวาของคุณ เพราะคุณรู้สึกมีอะไรในอกขวาก่อนเป็นเลือด ตอนนี้คุณนั่งเอนหลังพิงพนักให้สบาย หายใจตามสบาย และคลายความกังวลลง เลือดมันออกน้อยลงแล้ว และคงจะหยุดในไม่ช้า ขอหมอตรวจร่างกาย และส่งเสมหะคุณไปตรวจก่อน”

การตรวจร่างกายพบแต่เสียงหายใจในปอดขวาส่วนล่างด้านหน้าเบาลง และมีเสียงกรอกแกรกเบา ๆ ในส่วนนั้น อย่างอื่นไม่พบสิ่งผิดปกติ การตรวจเสมหะไม่พบเชื้อโรคหรือการอักเสบ และไม่พบเซลล์มะเร็ง หรือสิ่งผิดปกติชัดเจน หมอขอเอกซเรย์ปอด (เอกซเรย์อก) คุณด้วยนะครับ”

เอกซเรย์ปอดคนไข้ พบว่าปอดกลีบกลางขวาแฟบ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากที่พบเมื่อ 4 ปีก่อน และไม่พบสิ่งผิดปกติอื่น ๆ

หมอ : “เอกซเรย์ปอดของคุณไม่เปลี่ยนจากเมื่อ ๔ ปีก่อน ยังคงมีการแฟบตัวของปอดกลีบกลางขวาซึ่งก็คงเป็นจุดที่ทำให้มีเลือดออก แต่ครั้งที่แล้วหมอก็เคยส่องกล้อง (bronchoscope) เข้าไปตรวจแล้วก็ไม่พบอะไร คุณอยากให้หมอส่องกล้องเข้าไปตรวจอีกครั้งมั้ยครับ”
หญิง : “แล้วมันจะไม่ทำให้ไอ และเลือดออกมากอีกหรือคะ”

หมอ :
“ครับ การส่องกล้องอาจทำให้ไอ และอาจมีเลือดออกมาก ๆ อีก แต่หมอเห็นคุณค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เลือดออก จึงเห็นว่าการส่องกล้องอาจจะบอกสาเหตุได้”
หญิง : “ถ้ามันจะทำให้ไอ และเลือดออกมาก ๆ อีก หมอคิดว่า ควรจะส่องกล้องหรือคะ”

หมอ :
“ที่จริง หมออยากให้คุณพักมาก ๆ และไม่ไอ ไม่กังวล ไม่ออกกำลังในระยะนี้เลือดจะได้หยุดออก แล้วเราค่อยมาปรึกษากันอีกทีเมื่อเลือดหยุดออกแล้วว่าเราจะส่องกล้องหรือทำการตรวจอย่างอื่นหรือไม่ เพราะการที่คุณเคยเป็นมาครั้งหนึ่งเมื่อ 4 ปีก่อน แล้วก็หายไปถึง 4 ปี เพิ่งมาเป็นใหม่แสดงว่าสิ่งที่เป็นไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือรุนแรง ครั้งนี้เลือดก็คงจะหยุดเองเช่นเดียวกัน ถ้าคุณพักผ่อนมาก ๆ อย่าไอแรง ๆ และอย่าออกกำลังในระยะนี้

หมอจะให้ยาคลายกังวล และยาระงับไอไว้ แต่ถ้าคุณกลัว หมอก็จะให้คุณอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการ ถ้าคุณไม่กลัว หมอก็จะให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้คุณหลับได้สบายกว่า แล้วถ้าคุณไอเป็นเลือดมากขึ้นหรือบ่อยขึ้น คุณค่อยมาโรงพยาบาลใหม่ ถึงตอนนั้นอาจต้องส่องกล้องหรือทำการตรวจรักษาพิเศษต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้คุณต้องอยู่โรงพยาบาลและคงต้องเจ็บเพิ่มขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น”

อาการไอเป็นเลือด ก็เป็นอาการไอที่คนไข้มักจะรู้สึกว่าฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก โดยเฉพาะถ้าไอออกมาเป็นเลือดสด ๆ แทนที่จะเป็นเสมหะปนเลือดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเส้นหรือเป็นจุดเลือดเล็ก ๆ หรือเป็นเสมหะแบบช้ำเลือดช้ำหนอง ซึ่งถ้าคนไข้มีอาการไข้สูงหรือหอบเหนื่อยก็จะไม่ค่อยกังวลกับเรื่องเสมหะเป็นเลือดมากนัก แต่ก็ถือว่าฉุกเฉินเพราะเรื่องไข้และหอบเหนื่อย เป็นต้น อาการไอเป็นเลือดสด ๆ ที่ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินและต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล คือ ถ้าไอครั้งเดียวแล้วมีเลือดสด ๆออกมาเกิน 200 ซีซี หรือประมาณ 1 แก้วน้ำ หรือไอหลาย ๆ ครั้ง แล้วมีเลือดออกมารวมกันใน 24 ชั่วโมง เกิน 600 ซีซี หรือ 2 แก้วครึ่ง

ส่วนอาการไอเป็นเลือดเก่า ๆ (สีดำหรือแดงดำ)ปนเสมหะที่มีสีเขียว เหลือง หรือขุ่นข้น ที่ไม่ร่วมด้วยอาการไข้สูงหรืออาการรุนแรง มักเกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น หลอดลมโป่งพอง (bronchochiectasis) วัณโรค ซึ่งคนไข้มักจะเคยชินกับอาการและไม่กังวลมากนัก เพราะเป็นโรคเรื้อรัง จึงไม่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่ก็ต้องให้การรักษาเพื่อให้โรคทุเลาหรือหายขาด

เมื่อคนไข้มาหาด้วยอาการไอ ในการตรวจรักษาขั้นแรกจึงต้องแยกว่าคนไข้อยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือเจ็บหนักหรือไม่ (เช่นเดียวกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ) อาการไอที่ถือว่าฉุกเฉิน คือ อาการไอที่ร่วมด้วย

1. อาการหอบเหนื่อย

2. อาการไอเป็นเลือดสด ๆ มากกว่า 1 แก้วน้ำในครั้งเดียว หรือมากกว่า 2 แก้วครึ่งใน 24 ชั่วโมง

3. อาการหมดสติหรือชัก

4. อาการคลื่นไส้อาเจียนจนกินอาหารและน้ำไม่ได้

5. อาการเจ็บหนักอื่น ๆ

คนไข้ที่ไอจนหอบเหนื่อย หรือไอเป็นเลือดสด ๆ หรือไอจนวูบ(หมดสติหรือชัก) หรือไอจนอาเจียน หรือไอจนอุจจาระปัสสาวะราด ควรจะแนะนำให้คนไข้ไอเบา ๆ (อย่าไอรุนแรง) และถ้าใช้การกระแอมแทนการไอได้ ก็จะยิ่งช่วยให้อาการหอบเหนื่อยจากการไอรุนแรง อาการไอเป็นเลือดสด ๆ อาการไอจนวูบ ฯลฯ ดีขึ้น

การให้ดื่มน้ำอุ่น ๆ หรือจิบน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรืออมยาแก้ไอมะแว้ง หรืออมลูกกวาดที่มีรสหวานซ่า หรือจิบยาแก้ไอ หรือใช้ยากวาดคอ หรืออื่น ๆ มักจะช่วยลดอาการไอลงได้ ถ้ายังลดอาการไอลงไม่ได้ และการไอทำให้เกิดอาการร่วมต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็จำเป็นต้องให้ยาคลายกังวล (เช่น ยาไดอะซีแพม ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม 1 เม็ด) ร่วมกับยากดการไอ (เช่น ยาเดกซ์โตรเมตโทแฟน หรือ dextromethorphan 1-2 เม็ด หรือยาแก้ไอที่ผสมโคเดอีน (codeine) ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาด หลายขนาน หรือยาสามัญประจำบ้าน ที่ชื่อ ทิงเจอร์ฝิ่น การบูร กินตามขนาดที่กำหนดไว้ในสลากยา) ก็จะช่วยลดอาการไอลงได้

นอกจากนั้น จะต้องพยายามกำจัดหรือจำกัดชนวนที่ทำให้ไอ เช่น อากาศเย็นจัด ฝุ่นละออง ควัน กลิ่นฉุน หรืออื่น ๆ และให้คนไข้นั่งพักหรือนอนพักในท่าที่สบายที่สุด ให้คนไข้หายใจยาว ๆ ช้า ๆ (แต่ไม่ลึกจนทำให้ไอ และไม่ช้าจนหายใจไม่ทัน) เปิดพัดลมให้ถ้าคนไข้ชอบ ให้กำลังใจเพื่อไม่ให้คนไข้กังวล ถ้ามีออกซิเจนอยู่ให้ออกซิเจนแก่คนไข้แล้วนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยให้เคลื่อนย้ายคนไข้อย่างนิ่มนวล อย่ากระแทกกระเทือนจนทำให้คนไข้ไอเพิ่มขึ้น

สำหรับคนไข้ที่ไม่มีอาการรุนแรง (ไม่ฉุกเฉิน) ให้ดูว่ามีอาการร่วมอะไร จะทำให้วินิจฉัยโรคได้จากประวัติของอาการร่วมนั้น เช่น

1. อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ที่ร่วมกับอาการไอ จะทำให้นึกถึงโรคหวัด ถ้ามีไข้ด้วยก็อาจเรียกว่า ไข้หวัด ให้รักษาแบบโรคหวัดหรือโรคไข้หวัด

2. อาการหายใจมีเสียงหวีดที่ร่วมกับอาการไอ แสดงว่า หลอดลมตีบเกร็ง เช่น ในโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดโป่งพอง โรคหลอดลมเล็กอักเสบเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้ม เมื่อมีเสียงหวีด แสดงว่า หลอดลมตีบเกร็ง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ให้ใช้ยาขยายหลอดลม เช่น ยาทีโอฟิลลีน (theophylline) ยาซัลบูตามอล (salbutamol) หรือยาเทอร์บูตาลีน (terbutaline) กินครั้งละครึ่ง - 1 เม็ด หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน

3. เสมหะเป็นหนองหรือช้ำเลือดช้ำหนอง แสดงว่ามีการติดเชื้อโรค (เชื้อหนอง) ในหลอดลมหรือปอด ถ้าเอาเสมหะไปตรวจหาเชื้อได้ ควรตรวจดูว่าเป็นเชื้อชนิดใด ถ้าตรวจไม่ได้ให้กินยาอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด (ถ้าเป็นมากและมีไข้สูง ควรกินครั้งละ 2 เม็ด) ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5-7 วัน (คนที่แพ้เพนิซิลลีน ห้ามกินยานี้) หรือกินยาโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) ครั้งละ 2 เม็ดเล็ก หรือ 1 เม็ดใหญ่ หลังอาหารเช้าและเย็นเป็นเวลา 5-7 วัน (คนที่แพ้ยาซัลฟา ห้ามกินยานี้) หรือยาปฏิชีวนะอื่น ถ้าใช้ยาข้างต้นแล้วไม่ได้ผล

4. เสมหะปนเลือดเล็กน้อย (เสมหะปนเลือดมากหรือเสมหะเป็นเลือดสดจำนวนมาก จะเข้าข่ายเป็นคนไข้ฉุกเฉิน) ถ้าเลือดที่ออกมาเป็นเส้นหรือสายเล็ก ๆ หรือออกมาเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ปนออกมากับเสมหะ และสีแดงสดมักเกิดจากการไออย่างรุนแรงจนทำให้เส้นเลือดฝอยในคอหอยปริแตก จึงมีเลือดปนออกมากับเสมหะเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีอันตรายอะไร ให้ไอเบาลง อย่าไอรุนแรง แล้วเลือดจะหยุดออกเอง ถ้ายังกลั้นหรือลดการไอรุนแรงไม่ได้ ควรใช้ยาหรือวิธีลดการไอดังได้กล่าวไว้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว ถ้าเลือดที่ออกมาเป็นเลือดเก่า (สีคล้ำดำหรือสีเลือดหมูเก่า ๆ) และมักออกมาเป็นก้อนปนกับเสมหะ หรือเป็นสีช้ำเลือดช้ำหนอง มักเกิดจากวัณโรค โรคหลอดลมโป่งพอง มะเร็งปอด ฝีในปอด หรืออื่น ๆ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ และรับการตรวจรักษาที่ตรงกับสาเหตุ จะทำให้หายได้เร็วขึ้น

5. เสมหะเป็นฟองใส สีขาว ถ้ามีไข้ อาจเกิดจากการติดเชื้อ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะและรับการตรวจรักษาที่ตรงกับสาเหตุ ถ้าไม่มีไข้ และเคยเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน อาการไอที่มีเสมหะเป็นฟองใส มักเกิดจากภาวะหัวใจล้ม (ล้มเหลว) ซึ่งมักจะมีอาการเหนื่อยง่าย หรือหอบเหนื่อยร่วมด้วย ให้กินยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำออก เช่น ยาฟูโรซีไมค์ เม็ดละ 40 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 1-2 ครั้ง ตอนเช้าและตอนบ่าย ถ้าได้กินยาขับปัสสาวะอยู่แล้ว แต่ยังมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นให้เพิ่มยาขับปัสสาวะขึ้นอีกเท่าตัว และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาล

6. อาการร่วมอื่น ๆ ที่ไม่รู้สาเหตุ หรือไม่แน่ใจในสาเหตุ ควรไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาล

ถ้าลองรักษาตนเองดูแล้วไม่ดีขึ้น หรือรู้สึกไม่แน่ใจในสาเหตุที่ทำให้ไอ ก็ควรไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่ชอบดูแผนภูมิการรักษาเป็นขั้นตอนก็ดูตามแผนภูมิที่ให้ไว้ อาการไอ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยมาก และอาจเป็นอาการที่ไม่สำคัญอะไร ไปจนถึงอาการที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ตัวอย่างที่ได้ให้ไว้และตัวอย่างการตรวจรักษาอย่างง่าย ๆ ดังกล่าวข้างต้นคงจะพอทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถช่วยตนเองและญาติมิตรได้ตามสมควรต่อไป

ข้อมูลสื่อ

217-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 217
พฤษภาคม 2540
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์