• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่ ๕)

รายที่ ๔ หญิงไทยอายุ ๘๙ ปี ถูก พามาส่งโรงพยาบาลโดยลูกหลาน เพราะไม่ยอมกินอาหารมา ๒-๓ วัน แม้ลูกหลานจะเคี่ยวเข็ญอย่างไร ก็ยอมกินแต่น้ำหรือน้ำหวานเท่านั้น ลูกหลานที่เป็นหมอตรวจร่างกาย แล้วก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ แม้จะให้ยาแก้อาการซึมเศร้า ยาแก้กังวล ยาบำรุง หรือยาอะไรอื่น คนไข้ก็ไม่ยอมกิน พอเซ้าซี้มากๆเข้า คนไข้เลยโกรธ ไม่พูดด้วยและไม่ยอมลงจากเตียงอีก จึงจองห้องพิเศษและพาคนไข้มาอยู่โรงพยาบาล
หลาน : “อาจารย์ช่วยดูคุณยายให้ด้วย ระยะเดือนเศษๆที่ผ่านมา คุณยายกินอาหารน้อยลง และลงจากเตียงน้อยลง จน ๒-๓ วันมานี้ ไม่ยอมกินข้าวหรืออาหารอื่นเลย นอกจากน้ำและน้ำหวาน และไม่ยอมลงจากเตียงอีก “ตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ นอกจากซูบลง เจาะเลือดตรวจทุกอย่างก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ “คุณยายไม่มีอาการอะไรเลย ถามก็บอกว่าสบายดี หลับได้ ปัสสาวะปกติแต่น้อยลง ส่วนอุจจาระ ๓-๔ วันครั้ง ครั้งละน้อยๆ เพราะไม่ได้กินอะไร เลยพามาโรงพยาบาล เผื่อจะดีขึ้น”
อาจารย์ : “สวัสดีครับคุณยาย คุณยายมาอยู่โรงพยาบาลนี่คุณยายชอบไหมครับ”
คนไข้ : “ไม่ชอบ หมอให้ยายอยู่โรงพยาบาลทำไม ยายไม่ได้เจ็บป่วยอะไรเลยนะ”
อาจารย์ : “ลูกหลานเขาห่วงว่ายายจะไม่สบายที่ไม่กินข้าวกินอาหาร เขาก็เลยพามาอยู่โรงพยาบาลครับ”
คนไข้ : “ถึงพามาอยู่โรงพยาบาล ฉันก็ไม่กินอยู่ดี”
อาจารย์ : “ทำไมคุณยายถึงตัดสินใจอย่างนั้นล่ะครับ”
คนไข้ : “ยายแก่แล้ว จะ ๙๐ แล้วนะ แล้วยังมาบังคับเคี่ยวเข็ญอะไรกันอีก ยายอยากไปสบายๆ จะให้อยู่ไปถึงไหนกัน”
อาจารย์ : “ยายอยู่เป็นมิ่งขวัญของลูกหลานและเหลน เขาก็รักใคร่และเอาใจใส่ยายทุกคน ยายกินข้าวซักหน่อย ลูกหลานเหลนเขาจะได้ชื่นใจ ดีไหมครับ”
คนไข้ : “เอ๊ะ! หมอนี่ก็พูดไม่รู้เรื่องอีกคน หมอจับฉันอยู่โรงพยาบาล ฉันก็ไม่กินอยู่ดี ไม่น่าจะพูดกันไม่รู้เรื่องไปอีกคน”
อาจารย์ : “คุณยาย หมอพยายามให้คุณยายได้กลับบ้านโดยเร็วที่สุด นี่ถ้าคุณยายยอมกินข้าวสัก ๒-๓ คำ ให้ลูกหลานเขาเห็นว่ายายกินได้ หมอก็จะให้คุณยายกลับบ้านเลย ตกลงไหมครับ”
คนไข้ : “หมออย่ามาหลอกคนแก่เลย ถ้าฉันกินข้าว ๒-๓ คำ แล้วจะให้ฉันกลับบ้านจริงนะ”
อาจารย์ : “จริงสิครับ หมอจะหลอกคุณยายได้อย่างไร หลอกคนแก่บาปแน่ๆเลยครับ”
คนไข้ : “เอ๊า! ตกลง” แล้วคุณยายก็กินข้าวต้มมื้อนั้นไป ๓-๔ คำ โดยกินได้ดี ไม่มีอาการสำลัก หรือคลื่นไส้อาเจียนแต่อย่างไร
คนไข้ : “เอ้า! ฉันกินให้หมอแล้ว หมอจะให้ฉันกลับบ้านหรือยังล่ะ”
อาจารย์ : “ครับ ผมจะบอกลูกหลานคุณยายว่า คุณยายกินได้ให้พาคุณยายกลับได้”
แต่ลูกหลานไม่ยอมพาคุณยายกลับบ้าน และหวังจะให้หมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลช่วยพูดคุยให้คุณยายกินอาหารจนเป็นปกติก่อน จึงจะพากลับบ้าน หลังหลอกล่อให้คุณยายกินอาหาร ได้ ๓ มื้อ มื้อละ ๓-๔ คำ คุณยายก็ไม่ยอมกินอีก
คนไข้ : “หมอผิดสัญญามาหลายครั้งแล้ว หลอกฉันมาหลายครั้งแล้ว ฉันไม่กินอีกแล้ว”
อาจารย์ : “ผมไม่ได้หลอกคุณยายนะครับ ผมขอให้ลูกหลานเขาพาคุณยายกลับตั้งแต่วันแรก แต่เขา ไม่ยอมพาคุณยายกลับ แล้วหมอจะทำอย่างไร จะพาคุณยายกลับบ้านเองก็ไม่ได้ เดี๋ยวลูกหลานของคุณยายเล่นงานหมอแย่”
คนไข้ : “นั่นเป็นหน้าที่ของหมอ หมอเป็นผู้ให้คำสัญญา หมอก็ต้องทำตามสัญญา”
อาจารย์ : “หมอทำตามสัญญาแล้วครับ เขียนคำสั่งให้คุณยายกลับบ้านแล้วครับ แต่ลูกหลานของคุณยายไม่ยอมพาคุณยายกลับ หมอก็เลยหมดปัญญา”
คนไข้พลิกตัวหันหลังให้หมอและไม่พูดกับหมออีก หมอพยายามพูดกับลูกหลานคนไข้ให้พาคนไข้กลับ บ้านอีก แต่ลูกหลานก็ยังยืนกราน ให้คนไข้รักษาตัวในโรงพยาบาลต่อ
อาจารย์ : “คุณยายครับ คุณยายก็ได้ยินที่ผมพูดกับลูกหลานของคุณยายแล้ว แต่เขาก็ไม่ยอมพาคุณยายกลับบ้าน และถ้าคุณยายยังไม่ยอมกินข้าวอีก ผมก็จำเป็นต้องให้น้ำเกลือคุณยายไว้ก่อน และถ้าคุณยายไม่กินอีก ผมก็คงต้องใส่ท่อยางผ่านจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อให้อาหารนะครับคุณยาย”
คนไข้ไม่ตอบ และหยุดพูดกับหมอ พยาบาล และลูกหลานตั้งแต่นั้นมา ให้จิตแพทย์มาช่วยดูแล และให้ยาช่วยจิตใจทางน้ำเกลืออยู่ ๓ วัน คนไข้ก็ยังไม่ยอมกินอาหาร ลูกหลานจึงคะยั้นคะยอให้ใส่ท่อยางผ่านจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร ทั้งที่ทราบดีว่า การใส่ท่อยางเช่นนั้นจะทำให้คนไข้เจ็บ รำคาญ ไม่สบาย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

หลังใส่ท่อยางให้อาหาร คนไข้รำคาญจึงต่อสู้และดึงท่อยางออกเองหลายครั้ง จนต้องมัดมือทั้ง ๒ ข้างไว้กับเตียง อีก ๓ วันต่อมา มีอาการตัวร้อนจัด หอบเหนื่อย และไอ อันเกิดจากปอดอักเสบจากการสำลักอาหารที่ป้อนผ่านท่อยางลงไปในกระเพาะ แล้วถูกขย้อนหรืออาเจียนออกมา แล้วสำลักเข้าไปในปอด ทำให้ปอดอักเสบ

คนไข้หอบเหนื่อยมากและเขียว จึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาปฏิชีวนะและยาอื่นๆมากมาย อาการไข้และอาการหอบเหนื่อยดีขึ้น แต่คนไข้ซึมลง และในที่สุดก็ไม่ค่อยรู้สึกตัว
 
ลูกหลานได้ขอให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระบบต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ปอด กระเพาะลำไส้และอื่นๆ มาช่วยดูแลคนไข้ตั้งแต่ต้น และผู้เชี่ยวชาญต่างๆก็ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่ผู้ป่วยยังคงทรงแล้วทรุด จนไม่ค่อยรู้สึกตัว
เนื่องจากใส่ท่อช่วยหายใจผ่านจมูกไว้นานหลายวัน รูจมูกเริ่มเป็นแผลเน่าและมีกลิ่นเหม็น จึงต้องเจาะคอและใส่ท่อช่วยหายใจที่คอ

แม้อาจารย์เจ้าของไข้จะพยายามพูดคุยให้ลูกหลานเข้าใจว่า การรักษาพยาบาลที่ได้ให้คนไข้มาตลอดนั้นไม่ได้ทำให้คนไข้ดีขึ้น กลับทำให้คนไข้ต้องทนทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้น แต่ลูกหลานโดยเฉพาะคนที่เป็นหมอกลับไม่ยอมเข้าใจ และให้รักษาอย่างเต็มที่ต่อไป พร้อมกับเข้ามาตรวจสอบการรักษาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้แพทย์เจ้าของไข้ยุติการรักษา

หลังจากทนทุกข์ทรมานอยู่ ๒ เดือนเศษ คนไข้ก็จากไป แม้จะได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ด้วยวิทยาการแผนใหม่ที่สรรหาได้ทั้งหมด รวมทั้งการต้องผ่านกระบวนการฟื้นชีวิต เช่น ขย่มหน้าอกเพื่อปั๊มหัวใจ ใช้ไฟฟ้าช็อตหัวใจผ่านทางหน้าอกเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นเป็นปกติใหม่ เป็นต้น หลายต่อหลาย ครั้งโดยเฉพาะในสัปดาห์สุดท้ายของชีวิต

แต่การรักษาทั้งหมดที่ให้ไป ได้ผลเพียงแต่ยืดการตายออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้นเอง แทนที่คนไข้จะได้ตายอย่างสงบในวิถีทางที่ตนเลือกไว้คือการลดอาหาร และในที่สุดอดอาหาร ตามความต้องการของร่างกาย(นั่นคือ เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพ และไม่ได้ใช้พลังงานอะไรแล้ว ความต้องการอาหารก็ลดลงๆ จนในที่สุดก็ไม่ต้องการอาหาร ทำให้เบื่ออาหารไม่อยากกินอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้จากไปตามอายุขัยของตน)

ลูกหลานโดยเฉพาะคนที่เป็นหมอและคนที่จบการศึกษาแผนฝรั่ง มักไม่เข้าใจในสัจธรรมเหล่านี้ เช่น ไตรลักษณธรรม หรือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา นั่นคือ สรรพสิ่งจะต้องเปลี่ยนแปลง ขัดแย้ง และไม่มีตัวตน
การพยายามจะฝืนธรรมชาติ โดยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นไปไม่ได้ และทำให้เกิดผลเสียอื่นๆตามมา เช่น ในกรณีผู้ป่วยรายนี้ ก็คือ ความทุกข์ทรมาน และค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น
 
ผู้ป่วยรายนี้จึงเป็นตัวอย่างของ “ความหมดหวัง” ในการรักษาพยาบาลอีกอย่างหนึ่ง ที่อายุขัยและความตั้งใจจริงของผู้ป่วยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล

การรักษาพยาบาลส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะได้ผลหรือไม่จึงขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจของคนไข้ ความตั้งใจและความร่วมมือของคนไข้และญาติมิตร และความเอาใจใส่ดูแลรวมทั้งความรู้ความสามารถของแพทย์พยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ

ข้อมูลสื่อ

240-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 240
เมษายน 2542
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์