• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก

ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก (ตอนที่ ๑)


ในภาวะที่เศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ ย่อมมีคนเป็นจำนวนมากเกิดอาการ “ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก” จนบางคนอาจคิดแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะคนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนที่ตนรัก จะต้องรับเคราะห์และมักจะต้องแบกรับภาวะที่ตนทิ้งไว้ให้ต่อไป เป็นการผลักภาระให้แก่คนที่ตนรักให้ต้องทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำเหล่านี้ไว้ดังนี้

ซึม หมายความว่า เหงาหงอย ไม่ค่อยพูดจา ไม่เบิกบาน

ซึมกระทือ หมายความว่า ซึมเซา ง่วงเหงา หรือเกียจคร้าน

เศร้า หมายความว่า สลด ระทด หมอง เหี่ยวแห้ง

เหงา หมายความว่า เปลี่ยวใจ เปล่าเปลี่ยว ไม่คึกคัก

เหงาหงอย หรือหงอยเหงา หมายความว่า ไม่ชุ่มชื้น ไม่กระปรี้กระเปร่า

หงอยก๋อย หมายความว่า ซบเซา จับเจ่า ง่วงเหงา

หงิก หมายความว่า งอที่ปลาย เช่น มือหงิก ใบไม้หงิก

ซึม หมายถึง อาการที่ไม่ค่อยรู้สึกตัว ไม่ค่อยตอบสนองต่อคำถามหรือการกระตุ้นต่างๆ เช่น การกิน การขับถ่าย จะน้อยลงหรือช้าลง หรือไม่กินไม่ถ่าย เป็นต้น

เศร้า หมายถึง อาการที่เกิดจากความขัดแย้งหรือความซึมเศร้าในจิตใจส่วนลึกๆ ที่ไม่ได้แสดงออกด้วยสีหน้าที่โศกสลดหรือหม่นหมอง แต่กลับแสดงออกด้วยอาการหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับไม่สนิท เป็นต้น

เหงา หมายถึง อาการที่เกิดจากความเปล่าเปลี่ยว หรือการขาดแคลนความรักและความสนใจไยดี ที่อาจไม่ได้แสดงออกด้วยอาการซึมเซา หรืออาการหงอยก๋อย แต่กลับแสดงออกด้วยอาการหงุดหงิด ตีโพยตีพาย เรียกร้องความสนใจ เป็นต้น

หงิก หมายถึง อาการหน้าหงิกหน้างอ ที่ไม่ได้หมายความว่า “งอตรงปลาย” แต่หมายความว่า อาการแสดงของความไม่พอใจ ความไม่ถูกใจ เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายถึงความตาย ในภาษาแสลง เช่น “หงิกไปแล้ว” เป็นต้น


คนไข้รายที่ ๑

ชายไทยอายุ ๖๕ ปี ถูกลูกหลายพามาโรงพยาบาลเพราะมีอาการซึมมาก ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำมา ๑ วัน

ลูกสาว : “สวัสดีค่ะคุณหมอ คุณพ่อเป็นอะไรไม่ทราบค่ะ ตั้งแต่เช้าไม่ค่อยยอมตื่น ง่วงหลับอยู่ตลอดเวลา ป้อนข้าวป้อนน้ำก็อมไว้ ไม่ยอมกลืน ถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ คุณหมอช่วยดูคุณพ่อหน่อยสิคะ”

หมอ : “สวัสดีครับ คุณนั่งลงก่อน แล้วเล่าอาการของคุณพ่อให้ละเอียดหน่อย คุณพ่อเคยเป็นแบบนี้มาก่อนไหม หรือเพิ่งมีอาการในวันนี้เป็นครั้งแรก”

ลูกสาว : “คุณพ่อไม่เคยเป็นแบบนี้ค่ะ เพิ่งเป็นครั้งนี้ครั้งแรกค่ะ”

หมอ : “เมื่อวานนี้คุณพ่อสบายดีมั้ย กินอาหารได้ดีมั้ย เดินไปเดินมาและเล่นกับหลานได้ตามปกติมั้ย หรือมีอะไรผิดปกติเมื่อวานนี้ หรือใน ๒ – ๓ วันก่อนหน้านี้บ้างไหม”

ลูกสาว : “เอ...ไม่เห็นมีอะไรผิดปกตินี่คะ แต่ ๕ – ๖ วันนี้ คุณพ่ออ่อนเพลียไม่ค่อยเล่นกับหลานมากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็กินข้าวกินน้ำได้ตามปกติค่ะ”

หมอ : “คุณพ่อมีไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ เดินเซ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ บ้างไหม”

ลูกสาว : “คงจะไม่มีค่ะ เพราะคุณพ่อไม่ได้บ่นว่ามีอาการอะไร จับตัวคุณพ่อก็ไม่ร้อน และเมื่อวานคุณพ่อก็เดินได้ค่ะ แต่ ๒ – ๓ วันมานี้ คุณพ่อเดินน้อยลงไม่เหมือนสัปดาห์ก่อนๆ”

หมอ : “ทำไมคุณพ่อถึงเดินน้อยลงล่ะ”

ลูกสาว : “ไม่ทราบค่ะ รู้สึกว่าคุณพ่อจะซึมๆ ลงด้วยค่ะ ตอนเย็นก็เข้านอนเร็วกว่าปกติค่ะ”

หมอ : “ตอนนี้ คุณพ่อยังพูดได้หรือเปล่า”

ลูกสาว : “ไม่ค่อยพูดค่ะ ถามก็ไม่ค่อยตอบค่ะ”

หมอ : “ถ้าอย่างนั้นให้หมอตรวจคุณพ่อคุณก่อน”

จากการตรวจร่างกาย พบว่า คนไข้ซึมมาก ไม่ตอบคำถามแต่ยังลืมตาขึ้นมองคนที่ถาม และหันศีรษะ (หันหน้า) มาดูคนที่ถามได้ ตรวจพบรูม่านตา (pupils) ซ้ายและขวาไม่เท่ากัน ส่วนอาการอ่อนแรงของแขนขาตรวจไม่ได้ชัดเจนเพราะคนไข้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้

หมอ :
“ผมคิดว่า คุณพ่อคุณมีปัญหาในสมองที่ค่อนข้างฉุกเฉิน ต้องรีบส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองซึ่งจะต้องเสียค่าตรวจประมาณ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ บาท คุณพอจะเสียได้ไหมครับ”

ลูกสาว : “ได้ค่ะ”

หมอ : “ถ้าอย่างนั้นผมจะส่งห้องเอกซเรย์ เพื่อการตรวจฉุกเฉินเลยนะครับ มิฉะนั้นอาจต้องไปผ่านสังคมสงเคราะห์ก่อน ทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้น”

ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง ปรากฏว่า มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (subdural hemorrhage) คนไข้จึงได้รับการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ และดูดเอาน้ำเลือดและเลือดใต้เยื่อหุ้มสมองออกทันที ภายใน ๒๔ ชั่วโมง คนไข้ก็มีอาการดีขึ้นทันตาเห็น พูดคุยและกินอาหารได้ตามปกติ และอีกไม่กี่วันต่อมาก็กลับบ้านได้

คนไข้รายแรกนี้เป็นตัวอย่างของอาการ”ซึม” ที่เป็นภาวะฉุกเฉิน เกิดจากมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองซึ่งมักพบในคนอายุมาก โดยเฉพาะถ้ามีประวัติหกล้มหรือเดินชนสิ่งของโดยศีรษะไปกระทบหรือกระแทกกับพื้น กิ่งไม้ หรือสิ่งอื่น

บางครั้งคนไข้อาจจะจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้เพราะมันเกิดมานานแล้ว เช่น หลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนแล้ว เนื่องจากเลือดค่อยๆ ซึมออกมาทีละเล็กทีละน้อยจากเส้นเลือดฝอยที่ปริหรือฉีกขาดใต้เยื่อหุ้มสมอง เมื่อนานเข้าๆ เลือดที่ออกมาจะรวมกันเป็นก้อนใหญ่ไปกดเนื้อสมอง ทำให้เกิดอาการซึม สับสน หลง เลอะเลือน อัมพาต อัมพฤกษ์ หรืออาการทางสมองอื่นๆ ขึ้น

การตรวจพบความผิดปกติทางสมอง เช่น รูม่านตาไม่เท่ากัน อัมพาตหรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก หรืออื่นๆ จะทำให้นึกถึงความผิดปกติในสมอง และต้องรีบส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อให้การตรวจรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีต่อไป

คนไข้ที่มีอาการทางสมองและตรวจพบความผิดปกติดังตัวอย่างข้างต้นจึงต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที อย่าคิดว่าคนไข้เป็นโรคจิตหรือแกล้งทำ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตหรือพิการได้

ข้อมูลสื่อ

223-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 223
พฤศจิกายน 2540
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์