• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก

ซึม - เศร้า - เหงา - หงิก (ตอนที่ ๔)

 
คนไข้รายที่ ๔

หญิงหม้ายอายุ ๗๔ ปี ป่วยด้วยโรคเบาหวาน และความดันเลือดสูงมา ๓๐ ปี มีอาการอัมพาตด้านซ้ายมา ๔ ปี จนต่อมาปัสสาวะเองลำบาก ต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้มา ๓ ปี และมีการติดเชื้อ (โรค) ในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบและไตอักเสบบ่อยๆ ในปีแรกที่มีการคาสายปัสสาวะไว้ แต่ต่อมาเมื่อลูกหลานรู้จักดูแลสาวสวนปัสสาวะให้ถูกต้อง การอักเสบในทางเดินปัสสาวะก็ลดลงและไม่เป็นบ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม คนไข้ก็เดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องให้คนอุ้มหรือใช้รถเข็น แต่ลูกหลานก็เอาใจใส่เป็นอย่างดีและพามาหาหมอเป็นประจำ

ลูก : “สวัสดีค่ะคุณหมอ พาคุณแม่มาหาหมอตามนัดค่ะ”

หมอ : “สวัสดีครับ สวัสดีคุณอำไพ ช่วง ๒-๓ เดือนนี้เป็นอย่างไรบ้าง”

คนไข้ : “สบายดีหมอ แล้วหมอล่ะ สบายดีมั้ย”

หมอ : “สบายดีครับ ขอบคุณ หน้าตาคุณดูแจ่มใสดี รูสึกจะอ้วนขึ้นนิดหน่อย แต่ไม่เป็นไร เพราะคุณผอมอยู่และน้ำตาลในเลือดก็ปกติ”

คนไข้ : “ก็อ้วนขึ้นหน่อย เพราะต้องคอยกินอาหารและขนมของเจ้าหลานตัวนี้มันกินไม่หมด”

หมอจึงหันไปดูเด็กชายอายุประมาณ ๕ ปีที่มาด้วยและเกาะแขนคนไข้ซึ่งเป็นยายอยู่

หมอ : “สวัสดีหนู หนูกวนคุณยายมากไหม”

เด็กน้อยทำหน้ายิ้ม ๆแล้วหลบหน้าไปหลังยาย แต่ยังจับแขนคุณยายไว้

คนไข้ : “โอ๊ยหมอ เจ้าตัวนี้มันร้ายจะตาย เดี๋ยวก็ทะเลาะกับชั้น เดี๋ยวก็มาประจบประแจง เกาะแข้งเกาะขาทั้งวัน ให้กินอะไรก็กินไม่ค่อยหมด จนชั้นต้องคอยเก็บกินของที่มันเหลือ แล้วยังถามโน่นถามนี่จนชั้นเหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว จริงมั้ยไอ้จ้อน”
 
ขณะที่คนไข้บ่นเรื่องหลาน หน้าตาของคนไข้แจ่มใส สดชื่น และยิ้มอย่างเอ็นดูหลาน และหลานก็ไม่แสดงอาการสะทกสะท้านหรือโกรธที่ถูกยายว่าแต่อย่างใด

ลูก : “หมอคู่นี้เขาเหมือนตังเมค่ะ ไปไหนต้องไปด้วยกัน นี่ขนาดมาโรงพยาบาลยังขอตามมาด้วย อยู่บ้านก็เจี๊ยวจ๊าวกันทั้งวัน กลางคืนก็นอนด้วยกันค่ะ”

หมอ : “ดีสิ มีหลานเล็กๆคอยดูแลคุณยายอย่างนี้ คุณยายจะได้สดใส กลายเป็นสาวใหม่”

คนไข้ : “ใช่หมอ แต่เป็นสาวน้อยนะ ชั้นรู้ตัวดีน่ะหมอ อายุ ๗๐ กว่าแล้ว แถมยังเป็นอัมพาต ไม่มีทางเป็นสาวได้หรอก แต่ไอ้จ้อนมันทำให้ชั้นมีความสุข วุ่นกับมันทั้งวัน ทำให้ชั้นไม่เหงา และกลางคืนก็หลับได้ดี ปัสสาวะพลอยไม่มีปัญหาไปด้วย”

หมอ : “ดีมาก หมอดีใจด้วย ลูกหลานดูแลคุณดีอย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร”

ลูก : “หมอคะ ดิฉันกำลังกลุ้มใจอยู่เนี่ย เพราะพ่อแม่ของจ้อนเขาถูกย้ายไปรับราชการที่เมืองนอก นี่เขาไปแล้วได้ ๒-๓ เดือน เดือนหน้าเขาจะมารับจ้อนไปอยู่ที่นั่นและไปเรียนหนังสือที่นั่นด้วย ดิฉันไม่รู้จะทำอย่างไรดี”

หมอ : “ไม่มีหลานคนอื่นหรือ”

ลูก : “คนอื่นๆ ก็โตกันหมดแล้ว และไม่มีใครสนิทกับยายเหมือนจ้อนค่ะ”

หมอ : “คุณลองหาเด็กเล็กๆ ลูกของคนงานก็ได้มาช่วยเป็นเพื่อนคุณแม่ในตอนนี้ และก็เป็นเพื่อนเล่นของจ้อนด้วย เผื่อว่าตอนที่จ้อนไปนอก คุณแม่จะได้ไม่เหงามากนัก”

๒ เดือนต่อมา คนไข้ถูกพามาหาหมอก่อนนัด

ลูก : “คุณแม่หมู่นี้ไม่ค่อยสบายค่ะ กินได้น้อยมาก นอนไม่ค่อยหลับ นี่ปัสสาวะขุ่นและมีไข้ขึ้นมา ๑ วันแล้วค่ะ จึงรีบพามา”

หมอ : “เกิดอะไรขึ้นล่ะ ถึงมีโรคแทรกได้”

ลูก : “หมอจำจ้อนได้ไหมค่ะ หลานคนที่มากับคุณแม่ทุกครั้งไงคะ แกไปเมืองนอกได้เกือบเดือนแล้วค่ะ คุณแม่เลยทรุด ไม่ค่อยกินและนอนไม่ค่อยหลับ นี่ขนาดให้จ้อนโทรศัพท์มาคุยกับยายเกือบทุกวันนะคะ ก็ยังเป็นอย่างนี้”

หมอ : “อ้าว แล้วคุณไม่หาเด็กอื่น มาเป็นเพื่อนคุณแม่หรือ”

ลูก : “หามาตั้งหลายคนแล้วค่ะ แต่คุณแม่ไม่ชอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”

หมอ : “สวัสดีครับคุณอำไพ เป็นอย่างไรบ้าง”

คนไข้ : “ก็เป็นไปตามสภาพแหละหมอ มันนอนไม่ค่อยหลับและเบื่ออาหาร ร่างกายมันเลยทรุดลง”

หมอ : “ร่างกายทรุดหรือจิตใจทรุดกันแน่คุณอำไพ”

คนไข้ : “ก็ทั้งสองอย่างนั่นแหละ พอจิตใจทรุดร่างกายมันก็ทรุด พอร่างกายทรุดจิตใจมันก็ทรุดมากขึ้น ซ้ำเดิมกันไปไม่ใช่หรือหมอ”

หมอ : “ใช่ครับ ก็ในเมื่อคุณรู้เช่นนั้นแล้ว ทำไมไม่ทำใจให้สดชื่นขึ้นบ้าง”

คนไข้ : “พยายามแล้วล่ะหมอ แต่พูดมันง่ายกว่าทำนะ มันรู้สึกเหงาจริงๆ เหงาจนบอกไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม เป็นภาระแก่ลูกหลานเขา”

หมอ : “ลูกหลานเขาไม่เคยบอกสักหน่อยว่าคุณเป็นภาระ พูดอย่างนี้เขาเสียใจแย่ อุตส่าห์ดูแลเป็นอย่างดี ไม่เคยห่างเหินเลย”

คนไข้ : “ลูกหลานดีทุกคนแหละหมอ แต่ฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและเป็นภาระให้ลูกหลานต้องห่วงต้องกังวล ต้องให้จ้อนโทรศัพท์มาหาเกือบทุกวัน ค่าโทรศัพท์ทางไกลมันไม่เบานะหมด และมันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำด้วย”

หมอ : “คุณคิดมากไปแล้วล่ะ ลูกๆ ของคุณเขาอยากทำให้คุณเอง และเขาก็มีปัญญาพอที่จะทำได้ ทำไมคุณต้องไปกังวลแทนเขาล่ะ”

คนไข้ : “หมอคิดดูสิ ฉันแก่แล้วนะ และก็เป็นโรคมากมาย ทำอะไรก็ไม่ได้ แล้วยังทำให้ค่าขนม ค่าของเล่นของไอ้จ้อนต้องกลายมาเป็นค่าโทรศัพท์ มันสมควรหรือ”

หมอ : “ก็มันเป็นความสุขของจ้อนและของพ่อแม่จ้อน คุณจะไปขัดขวางความสุขของเขาทำไม แล้วอีกไม่นาน จ้อนเขาปิดเทอม เขาก็บินกลับมาอยู่กับคุณได้อีก”

คนไข้ : “ยิ่งแล้วใหญ่ บินไปบินมา เสียค่าเครื่องบินแล้วยังเสี่ยงกับเครื่องบินตกอีก ยิ่งระยะนี้ตกกันบ่อย หมอคิดว่าคุ้มหรือ”

หมอ : “หมอคงเถียงสู้คุณไม่ได้ เอาเป็นว่าหมอจะให้ยารักษาอาการปัสสาวะอักเสบและอาการนอนไม่หลับของคุณก่อน และถ้าคุณยังพอจะกินยา กินอาหารและน้ำได้ หมอก็ไม่ต้องใส่สายยางผ่านจมูกเข้าไปในกระเพาะของคุณ ซึ่งจะทำให้คุณรำคาญมากขึ้น”

แม้จะให้ยาอาการแทรกซ้อน (โรคแทรก) ต่างๆ รวมทั้งยาแก้อาการซึมเศร้าและยานอนหลับ แต่คนไข้ก็ไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร เพราะไม่ยอมกินอาหาร จนต้องใส่สายยางผ่านจมูกเพื่อให้อาหาร น้ำ และยา แต่คนไข้ก็ยังคงทรุดลงๆ และมีโรคแทรกซ้อนต่างๆ จนในที่สุดก็ต้องเสียชีวิตหลังจากหลานรักไปเมืองนอกได้ประมาณ ๖ เดือน

นี่เป็นตัวอย่างของความเหงา หรือ “โรคเหงา” ที่จะพบได้ทั่วไปในคนที่สูญเสียของรักหรือคนรัก ซึ่งถ้าเป็นคนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน มักจะแก้ไขให้กลับเป็นปกติได้
แต่ในคนชราที่มีโรคมากมายอาจจะแก้ได้ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะคนชราที่ตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะไม่อยู่เป็นภาระแก่ลูกหลานหรือแก่ใคร

คนชราและคนที่ไม่ชรา แต่ถูกทอดทิ้งโดยลูกหลานจะเกิด “โรคเหงา” และเศร้าซึม ถึงกับเดินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบันที่ภาวะวัตถุนิยม บริโภคนิยม และทุนนิยม ได้เข้าครอบงำคนจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นและหนุ่มสาว ทำให้บุคคลเหล่านี้ทอดทิ้งพ่อ แม่ ปู่ย่าตายายของตนเพื่อไปหาเงินและหาความสนุกสนานนอกบ้านและนอกท้องถิ่นเพิ่มขึ้นๆ ปล่อยให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายายของตนต้องหงอยเหงา เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย และเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆจาก “ความเหงาและความเศร้า” อยู่โดยลำพัง

ข้อมูลสื่อ

226-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 226
กุมภาพันธ์ 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์