• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตัวเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน(ต่อ)

 ” เจ็บ “ ในที่นี้หมายถึง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุภยันตราย แมลงสัตว์กัดต่อย และการได้รับสารพิษ รวมทั้งการแพ้ยา และการเป็นพิษจากยาด้วย
”ฉุกเฉิน “ ในที่นี้หมายถึง เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน และจะต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ถึงชีวิตหรือพิการ หรือต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก
 ”การช่วยตนเองและช่วยกันเอง “ ในที่นี้หมายถึง คนที่เกิดอาการเจ็บฉุกเฉิน รู้จักวิธีช่วยตนเอง เพื่อกำจัดหรือบรรเทาอาการเจ็บฉุกเฉินนั้น ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะ และกำลังวังชาพอที่จะช่วยตนเองได้ หรือถ้าไม่สามารถช่วยตนเองได้ คนที่อยู่ใกล้ๆ หรือพบเห็นการเจ็บฉุกเฉินนั้น รู้จักช่วยผู้ที่เจ็บฉุกเฉิน ตามสมควร เพื่อช่วยชีวิตหรือลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้
 

๕.๘ ผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ น้ำร้อน หรือ สารเคมีลวก
(๑) ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณอันตราย
* ถ้ามีไฟลุกติดเสื้ออยู่ ให้กลิ้งตัวผู้ป่วยไปกับพื้นแล้วใช้ผ้าผืนใหญ่ ๆ ตบหรือครอบบริเวณเสื้อผ้าที่ติดไฟ เพื่อให้ไฟดับ ถ้ามีน้ำก็ใช้น้ำดับไฟได้
* ถ้าผู้ป่วยมีสายไฟติดอยู่ และมีน้ำนองบริเวณที่ผู้ป่วยนอนอยู่ ห้ามเข้าใกล้ผู้ป่วย ยืนให้ห่างจากน้ำและโลหะที่จะนำไฟฟ้ามาถึงตัวคนช่วยได้ แล้วใช้ไม้ที่ยาวๆ ที่ไม่เปียกน้ำเขี่ยสายไฟให้พ้นไปจากตัวผู้ป่วย และจากบริเวณที่มีน้ำนองอยู่ และลองใช้นิ้วแตะบริเวณน้ำและตัวของผู้ป่วยเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อตรวจดูว่ามีไฟฟ้า “ ดูด “ ไหม ถ้าไม่มีจึงจะเข้าไปนำ ( ลาก ) ผู้ป่วยออกจากบริเวณนั้น
* ถ้าได้กลิ่นสารเคมี หรือมีควันคลุ้งในบริเวณนั้น ให้เข้าทางเหนือลม ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกตนเอง และถ้าจะให้ดี ควรสวมแว่นตากันน้ำ (ที่ใช้ใส่เวลาว่ายน้ำ ) ด้วย ก่อนเข้าไปบริเวณนั้น เพื่อนำ ( ลาก ) ผู้ป่วยออกมาจากบริเวณอันตราย
( ๒ ) รีบถอดเสื้อผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือเปื้อนสารพิษออก แล้วใช้น้ำเย็นสะอาด ( น้ำประปา )ราดบริเวณแผลไฟไหม้ หรือถูกลวกให้มาก ๆ
ในกรณีที่ถูกสารเคมีควรถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด และใช้น้ำราดทั้งตัวจนแน่ใจว่าไม่มีสารเคมี หรือสารพิษเหลืออยู่ ผู้ที่เข้าไปช่วยถอดเสื้อผ้าควรระวังไม่ให้สารเคมีถูกต้องตนเอง ควรใส่ถุงมือและอาจต้องใส่หน้ากากป้องกันไอพิษด้วย
( ๓ ) ใช้ผ้าสะอาดคลุมแผล ถ้าเป็นมากให้คลุมหรือห่อทั้งตัว
( ๔ ) ให้ใช้น้ำแข็งประคบถ้าปวดแสบปวดร้อนมาก
( ๕ ) ห้ามเจาะแผลที่พองอย่างเด็ดขาด
( ๖ ) ให้การปฐมพยาบาลส่วนอื่นที่บาดเจ็บด้วย อย่ามัวพะวงกับแผลไฟไหม้เท่านั้น ผู้ที่หายใจลำบากต้องรีบช่วยหายใจ ผู้ป่วยฟ้าผ่าส่วนมากเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ

๕.๙ ผู้ที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายบิดเบี้ยวไปจากรูปเดิม และใช้การไม่ได้
( ๑ ) ให้ตรึงหรือดามส่วนที่บิดเบี้ยวและใช้การไม่ได้ จนส่วนนั้นไม่เคลื่อนไหว ( อยู่นิ่ง ) ก่อน
( ๒) เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณอันตราย โดยใช้ส่วนที่ตรึงไว้หรือดามไว้ได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
(๓ ) ถ้ามีบาดแผลในบริเวณนั้นให้ใช้น้ำเย็นสะอาดราดบริเวณแผลให้มากๆ แล้วใช้ผ้าสะอาดคลุมบาดแผลไว้
( ๔ ) ใช้น้ำแข็งประคบ ถ้าเจ็บปวดมาก ( น้ำแข็งและน้ำเย็นจะช่วยลดการอักเสบและการบวมด้วย )
( ๕ ) นำส่งโรงพยาบาล
๕.๑๐ ผู้ที่มีบาดแผลอื่น ๆ

นอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ปลอบใจ ให้กำลังใจ และเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณอันตราย แล้วให้การปฐมพยาบาลตามลักษณะของบาดแผลต่าง ๆ
ก. แผลสดทั่วไป
( ๑ ) ใส่ถุงมือยางที่สะอาดก่อนทำแผล ถ้าไม่มีถุงมือยางต้องล้างมือให้สะอาดก่อน ไม่ให้เกิดบาดแผลได้ในขณะที่ช่วย เพราะอาจติดโรคจากผู้บาดเจ็บ ยกเว้นที่ผู้บาดเจ็บเป็นคนรู้จักที่รู้แน่ว่าไม่มีโรคติดจ่อได้ทางเลือดหรือน้ำเหลือง ถ้าเป็นคนไม่รู้จักควรล้างแผลให้โดยไม่ให้มือไปแตะต้องเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้บาดเจ็บ

( ๒ ) ล้างแผลที่สะอาดก่อนแผลสกปรก ถ้าไม่มีถุงมือยางและ มือมีแผล ควรใช้น้ำสะอาดราดที่แผลให้มากๆ ถ้ามีถุงมือยาง หรือแน่ใจว่าผู้บาดเจ็บไม่มีโรคติดต่อทางเลือดและน้ำเหลือง ควรล้างแผลด้วยสบู่ ( ฟอกแผล ) เพื่อให้แผลสะอาด
( ๓ ) เสร็จแล้วใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน เช็ดรอบแผลด้านในสุด ( ติดขอบแผล ) ก่อนแล้วเช็ดวนทางเดียวรอบแผลจากด้านในสุดออกสู่ด้านนอก ( ห้ามเช็ดจากด้านนอกเข้าใน และห้าเช็ดวนกลับไปกลับมา )
( ๔ ) แล้วทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อที่ไม่แสบมาก เช่น ยาโพวิโดนไอโอดีน
( ๕ ) ปิดแผลด้วยผ้าสะอาดและระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ ถ้าถูกน้ำต้องทำแผลใหม่
( ๖ ) ถ้าแผลใหญ่ หรือลึก หรือสกปรก ควรไปโรงพยาบาล
ข. แผลตะปูตำ หรือหนามตำ / เสี้ยนตำ
( ๑ ) ดึงตะปูออก ดึงหรือบ่งหนามและเสี้ยนออก
( ๒ ) บีบเลือดให้ออกตามรูแผล เพื่อล้างสิ่งสกปรกออกมา
( ๓ ) ถ้าปากแผลเล็กแคบ ควรใช้เข็มสะอาดสะกิดปากแผลให้กว้างออก
( ๔ ) ล้างสิ่งสกปรกออกจากแผลให้มากที่สุด
( ๕ ) ใส่ทิงเจอร์ ใส่แผลสดหรือน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน
( ๖ ) ถ้าแผลตำลึก ควรฉีดยากันบาดทะยัก และกินยาปฏิชีวนะ
ค. แผลถูกแทง
( ๑ ) ห้ามดึงสิ่งที่ปักอยู่ออก ให้ตรึงสิ่งที่ปักอยู่ให้อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหวเวลาเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ถ้าสิ่งที่ปักคาอยู่ยาวมาก อาจตัดให้สั้นได้ แต่ต้องตัดด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้กระเทือนแผล
( ๒ ) ใช้น้ำสะอาดราดที่แผลให้มากๆ
( ๓ ) ถ้าเลือดออกมา ดูข้อ ๕.๖ ( ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ )
( ๔ ) รีบส่งโรงพยาบาล
ง. แผลถึงกระดูก หรือกระดูกโผล่
( ๑ ) ใช้น้ำสะอาดราดแผลให้แผลสะอาดขึ้น
(๒ ) ห้ามดึงสิ่งที่ปักคาอยู่ออกจากแผล
( ๓ ) ห้ามคุ้ยแผล ห้ามจับกระดูกที่โผล่ออกมายัดกลับเข้าไป
( ๔ ) ถ้าเลือดออกมาก ดูข้อ ๕.๖ ( ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ )
( ๕ ) ใช้ผ้าสะอาดคลุมปิดแผล
( ๖ ) ให้ส่วนที่มีแผลอยู่นิ่ง ๆ
( ๗ ) ใช้น้ำแข็งประคบถ้าปวดมาก
( ๘ ) รีบส่งโรงพยาบาล
จ. แผลเบ็ดเกี่ยว
( ๑ ) ล้างแผลและส่วนของเบ็ดนอกแผลให้สะอาด
( ๒ ) ถ้าปลายเบ็ดโผล่นอกเนื้อ ให้ตัดปลายเบ็ดส่วนที่มีเงี่ยงออก แล้วจึงดึงโคนเบ็ดออก ถ้าปลายเบ็ดไม่โผล่ ให้ดันจนปลายเบ็ดและเงี่ยง โผล่พ้นเนื้อแล้วตัดปลายเบ็ด หรือตัดโคนตรงใกล้เนื้อทิ้ง แล้วดึงส่วนที่เหลือออก
( ๓ ) บีบเลือดออกจากแผลจนเลือดหยุด
( ๔ ) ล้างแผลและทำแผลแบบตะปูตำ ( ข้อ ข. ) 
                                                                                  ( ยังมีต่อ )

ข้อมูลสื่อ

284-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 284
ธันวาคม 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์