• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 19
ชายไทยอายุ 70 ปี ถูกพามาที่ห้องฉุกเฉินเพราะมีอาการอ่อนเพลียมา 1 เดือน ไปนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดแห่งหนึ่งอยู่ประมาณ 10 วัน อาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยและญาติจึงขอใบส่งตัวจาก โรงพยาบาลนั้นเพื่อมารักษาต่อที่กรุงเทพฯ

จากใบส่งตัวและจากแฟ้มประวัติเดิม ปรากฏว่า
ผู้ป่วยรายนี้ป่วยตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 โดยมีอาการท้องอืดบ่อยๆ และ 1 เดือนต่อมามีอาการเบื่ออาหารและแน่นท้องด้วยบางครั้งเห็นหน้าท้องด้านขวาเคลื่อนไหวเป็นลูกๆ และอีกครึ่งเดือนต่อมา มีอาการปวดท้องมาก ท้องอืดมาก คลื่นไส้อาเจียน และไม่ถ่ายอุจจาระจึงไปโรงพยาบาลนั้น
 
โรงพยาบาลนั้นตรวจพบว่า อาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และไม่ถ่ายอุจจาระ เกิดจากลำไส้ใหญ่ส่วนกลางอุดตันจากมะเร็ง จึงส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีที่กรุงเทพฯ โรงพยาบาลรามาธิบดีตรวจพบว่า ลำไส้ใหญ่ส่วนกลางอุดตันจากมะเร็งจริง และมีน้ำในช่องท้อง (ท้องมาน) น้ำในช่องปอด และก้อนในปอด (pulmonary nodules) ด้วย

เนื่องจากอาการลำไส้อุดตันเป็นมาก ถ้าปล่อยไว้ผู้ป่วยจะปวดท้อง ท้องอืด และกินอาหารไม่ได้เลย แพทย์จึงตัดสินใจตัดลำไส้ใหญ่ (ที่มีมะเร็งอยู่) ออกเกือบหมด (subtotal colectomy) และเอาลำไส้เล็กไปต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนทวารหนัก 

3 วันหลังผ่าตัด ผู้ป่วยเกิดอาการแขนขาซ้ายอ่อนแรงจากหลอดเลือดในสมองตีบตัน เกิดอาการอัมพฤกษ์ซีกซ้ายเข้าแทรก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้น จนแข็งแรงพอที่แพทย์จะตัดสินใจให้ “ยาฆ่ามะเร็ง” (anticancer chemotherapy) ในอีก 1 เดือนต่อมา และผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา (เป็นพิษจากยา) คล้ายกับผู้ป่วยอื่นๆ ที่ได้ยาฆ่ามะเร็ง แต่ผู้ป่วยก็ทนมาได้เรื่อยๆ จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมาก และคลื่นไส้อาเจียนมากอีก รักษาที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่รักษาประจำแล้วไม่ดีขึ้น จึงถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีก โดยสงสัยว่าลำไส้จะอุดตันใหม่จากมะเร็งที่กำเริบขึ้น หรือจากพังผืดในช่องท้องที่เกิดจากการผ่าตัดครั้งก่อน

อย่างไรก็ตาม โดยการรักษาแบบประคับประคองอาการไว้โดยไม่ผ่าตัดใหม่ ผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้น และสามารถกลับบ้านได้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543
ผู้ป่วยยังคงป่วย และช่วยตนเองไม่ค่อยได้ กินไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ ปวดแน่นท้องเป็นพักๆ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ประกอบกับที่เป็นอัมพฤกษ์อยู่เดิม จึงทำให้ไปไหนมาไหนไม่ได้เลย

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 จึงไปโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่รักษาประจำด้วยอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เป็นไข้ กินอะไรไม่ได้ และท้องโตขึ้นเรื่อยๆ แพทย์ได้ช่วยเหลือเต็มที่ อาการมีแต่ทรงกับทรุดอยู่ประมาณ 10 วันในระหว่างนั้น ได้ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ แสดงว่ามีเลือดออกในกระเพาะลำไส้ แพทย์ต้องให้เลือดด้วยผู้ป่วยและญาติเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงขอให้แพทย์ที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่รักษาประจำส่งตัวมาที่โรง พยาบาลรามาธิบดีอีก
แพทย์ประจำบ้าน : “อาจารย์ที่รักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยรายนี้ส่งผู้ป่วยรายนี้มาที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ ห้องฉุกเฉินหาเตียงรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลครับ”
อาจารย์ : “ถ้าหมอเป็นคนไข้คนนี้และไม่มีเตียงรับไว้รักษาในโรงพยาบาล หมอจะให้ผมช่วยหมออย่างไร”
แพทย์ประจำบ้าน : “ไม่ทราบครับ ก็คงต้องให้นอนรอเตียงอยู่ในห้องฉุกเฉินไปก่อน”
อาจารย์ : “การนอนรอเตียงในห้องฉุกเฉินเป็นประโยชน์แก่คนไข้หรือ”
 เตียงในห้องฉุกเฉินมีแต่เตียงเข็นผู้ป่วย ซึ่งเป็นเตียงแคบๆ นอนไม่สบาย พลิกตัวลำบาก ไม่มีหมอนหนุนศีรษะ จะลุกขึ้นลุกลง เพื่อไปเข้าห้องน้ำก็ทำได้ยาก เพราะต้องเรียกพยาบาลมาเอารั้วกั้นข้างเตียง(กันผู้ป่วยตกเตียง) ออกไปก่อน จึงจะลงจากเตียงได้
 
อนึ่ง ห้องฉุกเฉินเป็นที่พลุกพล่าน มีคนเข้าออกตลอดเวลา คนเมา คนบ้า คนเจ็บหนัก และอื่นๆ อาจส่งเสียงโวยวาย หรือร้องครวญครางจนคนไข้อื่นๆ ไม่สามารถพักหลับนอนได้
นอกจากนั้น ห้องฉุกเฉินยังมีคนไข้ติดเชื้อนานาชนิด ซึ่งอาจแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นๆได้

ห้องฉุกเฉินจึงไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะแก่การนั่งรอ นอนรอ หรืออยู่นานๆ เพราะนอกจากจะไม่สบายแล้ว ยังอาจติดเชื้ออื่นๆได้ด้วย
และญาติของผู้ป่วยซึ่งจำต้องอยู่เฝ้าผู้ป่วยด้วยก็อาจจะติดเชื้อโรคได้เช่นกัน และเกิดความไม่สบายได้มากกว่าผู้ป่วย เพราะไม่มีที่นั่งหรือที่นอนเหมือนผู้ป่วย ถ้าเมื่อยก็ต้องออกไปนั่งที่ม้านั่งด้านนอกห้องฉุกเฉิน เพราะห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่คับแคบ ที่ไม่สามารถรองรับญาติของผู้ป่วยและเป็นสถานที่ที่ต้องให้การตรวจรักษาอย่างฉุกละหุกอยู่เสมอ ญาติของผู้ป่วยจึงเป็นอุปสรรคในการตรวจ รักษาเช่นนั้นด้วย
อาจารย์ : “เอาละ สมมุติว่าหมอมีเตียงรับผู้ป่วยรายนี้ไว้ หมอจะให้การรักษาอะไรบ้างที่จะทำให้เขาดีขึ้น สบายขึ้น”
แพทย์ประจำบ้าน : “ไม่ทราบครับอาจให้ยาฆ่ามะเร็งอีก และคนไข้ก็อยากอยู่โรงพยาบาลครับ” อาจารย์ : “หมอแน่ใจหรือ หมอเชิญญาติคนไข้มาคุยกันหน่อย ก่อนจะคุยกับคนไข้”
แพทย์ประจำบ้านเชิญญาติผู้ป่วยมานั่งคุยกับอาจารย์ในห้องห่างจากเตียงที่ผู้ป่วยนอนอยู่
อาจารย์ : “สวัสดีครับ คุณทราบไหมว่าคนไข้เป็นโรคอะไรมากน้อย แค่ไหน”
ลูกผู้ป่วย : “ทราบครับ ว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคกระจาย ไปมากแล้วตั้งแต่ก่อนผ่าตัดลำไส้ทิ้ง แต่คุณพ่อทราบเพียงว่าเป็นเนื้องอก “หลังผ่าตัด คุณพ่อดีขึ้นพักหนึ่ง แม้จะเกิดอัมพฤกษ์ เดินเหินไม่สะดวก แต่ก็กินได้ ถ่ายได้ และสบายขึ้น “หลังให้ยาฆ่ามะเร็ง คุณพ่อทรุด ลงอีกพักใหญ่ พอหยุดให้ยา ก็ดีขึ้นพักหนึ่ง เมื่อไรให้ยาก็ทรุดลง เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งเดือนนี้ แม้จะหยุดให้ยาแล้ว แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ท้องโตขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อแน่นท้อง เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ได้ อ่อนเพลีย ลงไปเรื่อยๆ ไปรักษาที่โรงพยาบาล ต่างจังหวัดที่รักษาประจำแล้วก็ไม่ดีขึ้น คุณพ่อจึงขอให้พามาที่นี่” อาจารย์ : “แล้วคุณหมอที่รักษามะเร็งคุณพ่อบอกคุณว่าอย่างไรที่จะให้คุณพ่อนอนโรงพยาบาล”
ลูกผู้ป่วย : “เขาบอกว่าจะลองให้ยาฆ่ามะเร็งใหม่ เพื่อบรรเทาอาการ และให้น้ำเกลือ ให้อาหาร ให้ยาต่างๆ เผื่อว่าคุณพ่อจะดีขึ้น”
อาจารย์ : “คุณคิดว่าการรักษาที่ผ่านๆ มาได้ผลทำให้คุณพ่อสุขสบาย และมีอาการน้อยลงไหมครับ” ลูกผู้ป่วย : “ช่วงหลังผ่าตัด รู้สึกดีมากครับ คุณพ่อสบายขึ้นมาก จนฝังใจว่าถ้ารักษาที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่รักษาประจำไม่ได้ผลแล้ว ถ้ามาที่นี่จะได้ผล จึงรบเร้าให้พามาที่นี่
อาจารย์ : “แล้วทำไมคุณไม่บอกความจริงกับคุณพ่อละ”
ลูกผู้ป่วย : “กลัวท่านจะเสียใจ และหมดกำลังใจครับ”
อาจารย์ : “แล้วถ้าคุณเป็นคุณพ่อที่มีลูกๆปิดบังความจริง ปล่อยให้คุณต้องทุกข์ทรมานโดยไม่มีที่สิ้นสุด คุณจะรู้สึกอย่างไร”
ลูกบางคนเริ่มตาแดงๆ และซับน้ำตา
อาจารย์ : “คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ตัวหมอเองก็ต้องตาย เวลาที่หมอจะตาย หมออยากจะตายสบายๆ ไม่อยากตายลำบาก ไม่อยากตายในโรงพยาบาลที่มีแต่ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย หมออยากตายในบ้านที่หมอรัก ท่ามกลางญาติมิตร ที่หมอคุ้นเคย ในโรงพยาบาลมีแต่คนแปลกหน้า มีแต่ความพลุกพล่าน วุ่นวาย ไม่มีวันที่จะได้นอนพักอย่างสงบได้

“พอเข้าโรงพยาบาล ก็ต้องโดนเจาะเลือด โดยตรวจนั่นตรวจนี่ไม่มีโอกาสที่จะใช้เวลาทำนั้นทำนี่ได้เหมือนอยู่บ้าน แม้แต่เวลานอนหลับก็ยังจะ ถูกกวนวัดปรอทวัดความดันและอื่นๆ ไม่สามารถหลับสนิทได้ “คุณอยากให้คุณพ่อมีวาระสุดท้ายเช่นนี้หรือ”
ลูกผู้ป่วย : “เราเข้าใจและทำใจตั้งแต่วันผ่าตัดแล้ว แต่คุณพ่อยังทำใจไม่ได้ เราจึงต้องพาคุณพ่อมาที่นี่อีก”
อาจารย์ : “ที่คุณพ่อทำใจไม่ได้เพราะไม่มีคนบอกความจริงให้คุณพ่อทราบ คุณพ่อจึงต้องลำบากอยู่ในขณะนี้ คุณจะให้หมอลองพูดกับคุณพ่อดูไหมละ” ลูกๆหันหน้าปรึกษากันสักพักหนึ่ง
ลูกผู้ป่วย : “ตกลงครับ คุณหมอลองคุยกับคุณพ่อ ถ้าคุณพ่อยอมกลับบ้าน เราก็จะพากลับครับ” อาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน และ ลูกหลานผู้ป่วยเดินไปที่เตียงผู้ป่วย
อาจารย์ : “สวัสดีครับ บ่ายนี้อาการดีขึ้นไหมครับ”
ผู้ป่วย : “ไม่ดีขึ้นเลยหมอ ยังแน่นท้อง และเพลียเหลือเกิน”
อาจารย์ : “เมื่อกลางวัน กินข้าวได้ไหมครับ”
ผู้ป่วย : “กินได้คำสองคำ แล้วก็คลื่นไส้และแน่น กลัวจะอาเจียน เลยไม่กินอีก”
อาจารย์ : “ที่คุณหมอเขารักษาให้อย่างเต็มที่ในระยะ 2 ถึง 3 เดือนหลังนี้ อาการดีขึ้นบ้างไหมครับ”
ผู้ป่วย : “ไม่ดีเลยหมอ ทรุดลงเรื่อยๆ”
อาจารย์ : “ครับ โรคที่คุณเป็นอยู่เป็นโรคที่รักษายาก แม้จะผ่าตัดไปแล้ว มันก็กำเริบขึ้นมาอีกได้ และตอนนี้โรคมันได้ลุกลามไปหลายแห่ง ทำให้ท้องโตขึ้น แน่นท้อง ไอ เหนื่อย และอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ

“หมอที่เคยรักษาคุณเป็นประจำ ก็หมดปัญญาที่จะทำให้โรคของคุณหาย เขาใช้ยาไปหลายอย่าง แต่ระยะหลังยิ่งให้ยา ยิ่งทำให้คุณทรุดลง

“วันนี้ เขาส่งคุณมาให้หมอช่วย หาเตียงรับคุณไว้ในโรงพยาบาล แต่หมอกลัวว่าถ้ารับคุณไว้ แล้วเขาให้ยาแรงๆแก่คุณอีก คุณยิ่งจะทรุดลง และจะมีอาการมากขึ้น

“หมอเห็นว่า คุณได้ผ่านความทุกข์ทรมานมามากพอแล้ว ทั้งการผ่าตัด การเป็นอัมพฤกษ์ การได้ยาที่ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ ถ้าคุณจะมีโอกาสได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน อยู่กับลูกหลานในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่ต้องถูกเจาะเลือด เจาะท้อง หรือทำอะไรอื่นๆ ให้คุณต้องลำบากมากขึ้น และนานขึ้น อาจจะทำให้คุณมีความสุขความสบายมากขึ้นได้
 
“เพราะในขณะนี้ ยาที่มีประโยชน์ต่อคุณมากที่สุดคือยาแก้ปวดและยานอนหลับเท่านั้น
“ถ้าปวด ก็กินยาแก้ปวดจนหายปวด หรือถ้ายังไม่หายปวด ก็กินยานอนหลับช่วย เมื่อคุณหลับได้ ความทุกข์ทรมานต่างๆ จะลดลงมากหรือหายไป

“ยานอนหลับก็กินไม่ยาก กินครั้งละ 1 เม็ด ถ้าใน 1 ชั่วโมงยังไม่หลับ ก็กินซ้ำได้ครั้งละเม็ดทุกชั่วโมง จนหลับ
“เมื่อไรตื่นแล้วหิว อยากกินอะไร ก็ให้ลูกหลานจัดการให้ และใช้ชีวิตให้มีความสุขที่สุด ไม่ต้องห่วงกังวลกับโรคของคุณอีกต่อไป
“คุณมีอะไรจะถามหมอไหมครับ”
ผู้ป่วยนิ่งอึ้งไปพักใหญ่ แล้วมีน้ำตาซึมออกมาเล็กน้อย
ผู้ป่วย : “ถ้าอย่างนั้น ผมขอกลับบ้านดีกว่า”
ลูกผู้ป่วย : “คุณพ่อจะกลับบ้านหรือครับ”
ผู้ป่วย : “เออ กลับบ้านดีกว่าลูก”

นี่แสดงว่า ผู้ป่วยคงเตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว แต่เมื่อไม่รู้ความจริง และคิดว่าโรคที่ตนเป็นอยู่ยังรักษาได้ จึงได้ดิ้นรนจะรักษาต่อไป
เมื่อมีผู้บอกความจริงให้ทราบ ผู้ป่วยก็ตัดสินใจได้ทันที ไม่พิรี้พิไรหรือคร่ำครวญขอความเห็นแม้แต่คำเดียว
 
หลายต่อหลายครั้ง ญาติ แพทย์ และพยาบาลกลับจะกลัวความตายมากกว่าผู้ป่วย และคิดว่าการบอกความจริงแก่ผู้ป่วยจะเป็นโทษมาก กว่าเป็นประโยชน์

แต่ในผู้ป่วยที่ได้ผ่านความทุกข์ ทรมานอย่างแสนสาหัสมาแล้ว เกือบทั้งหมดจะตัดสินใจในทางที่ถูกต้องได้ทันที เมื่อได้ทราบความจริงและวิธีจัดการให้เวลาที่เหลืออยู่ของตนนั้น มีความสุข สงบ ได้ตามที่ตนปรารถนา

ข้อมูลสื่อ

266-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 266
มิถุนายน 2544
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์