การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 10)
ในครั้งก่อนๆ ได้กล่าวถึงอาการนอนไม่หลับ หลับมาก หรือง่วงเหงาหาวนอนมาก และวิธีการตรวจรักษาไว้แล้ว ในครั้งนี้และฉบับต่อๆไปจะกล่าวถึงอาการที่เกิดร่วมกับการหลับ
อาการที่เกิดร่วมกับการหลับ (parasomnias) คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะหลับ อาจจะปกติหรือผิดปกติก็ได้ ถ้าผิดปกติอาจเรียกว่าอาการผิดปกติขณะหลับ (dyssomnias) อาการที่เกิดร่วมกับการหลับมีมากมาย เช่น
1. การกระตุกขณะหลับ (hypnic jerks, periodic movements in sleep, nocturnal myoclonus) คือ การทำงานของกล้ามเนื้อเป็นพักๆ ขณะหลับ เป็นอาการปกติที่พบบ่อยมากร่วมกับการหลับ มักเกิดในผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป และมักจะเป็นมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น การกระตุกขณะหลับมักจะเป็นมากขึ้นถ้าอดนอน มีเรื่องเครียดก่อนนอน มีโรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดในสมองแตก-ตีบ-ตัน ไตวาย การได้ยาแก้อาการซึมเศร้า การหยุดยานอนหลับ หรืออื่นๆ ที่พบบ่อยมักเป็นที่ขา คนที่ชอบรู้สึกว่ามีอะไรคลานหรือกวนอยู่ในน่องลึกๆ จนต้องขยับขาบ่อยๆ ในยามตื่น (restless leg syndrome) เกือบทั้งหมดจะมีการกระตุกของขาขณะหลับ แต่คนที่ขากระตุกขณะหลับอาจไม่รู้สึกผิดปกติที่น่องในขณะตื่น
การกระตุกขณะหลับอาจมีเพียงการกระดกหัวแม่เท้าหรือการกระดกเท้า หรือนิ้วมือเป็นระยะๆ (ทุก 20-40 วินาที) ไปจนถึงการเตะถีบ ฟาดแขนฟาดขา หรือกระตุกทั้งตัว จนตื่นขึ้นเต็มที่ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ตื่น (สมองตื่นเพียงเล็กน้อยแล้วก็หลับต่อแล้วก็ตื่นใหม่ สลับกันไปเช่นนี้ ถ้าเป็นมากจะทำให้นอนไม่พอทั้งที่รู้สึกว่าหลับทั้งคืน ทำให้ง่วงเหงาหาวนอนมากในเวลากลางวัน คนที่เป็นเช่นนั้นมักจะไม่รู้ตัว แต่คนที่นอนด้วยจะสังเกตเห็นการกระตุกเหล่านี้ และทำให้วินิจฉัยโรคนี้ได้)
การรักษา : ถ้ามีสาเหตุ ให้รักษาสาเหตุ ถ้าไม่มีสาเหตุชัดเจนหรือกระตุกมากให้กินยาโคลนาซีแพม (clonazepam เม็ดละ 0.5 มิลลิกรัม) 1/2-2 เม็ดก่อนนอน หรือยาเทมาซีแพม (temazepam เม็ดละ 15 หรือ 30 มิลลิกรัม) 1 เม็ดก่อนนอน อาจช่วยให้หลับได้ดีขึ้น และลดการกระตุกขณะหลับได้
2. การละเมอ (sleep talking) คือ การพูดพึมพำหรือการตะโกนโหวกเหวกขณะหลับ อาจจะละเมอเป็นประโยคหรือเป็นคำๆ อาจฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ได้ และเมื่อถูกคู่นอนหรือคนใกล้ชิดถามว่าอะไร เป็นอะไรหรือ เกือบทั้งหมดจะไม่มีการตอบสนอง เพราะผู้ละเมอกำลังหลับอยู่ แต่ในบางกรณีที่พบได้น้อยมาก ผู้ละเมออาจจะตื่นมากกว่าหลับ ทำให้ตอบอือๆอาๆ (แบบฟังไม่รู้เรื่อง) หรือในบางกรณีที่ยิ่งพบน้อยมากยิ่งขึ้น คือ อาจตอบแบบรู้เรื่องได้ แต่ผู้ละเมออาจจะจำอะไรไม่ได้เมื่อตื่นขึ้นเต็มที่
การละเมอพบได้ในทุกอายุ และในหญิงมากกว่าชาย โดยทั่วไปการละเมอมักจะเกิดในระยะที่ 1 และ 2 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก แต่ในบางครั้งก็เกิดในการหลับแบบตากระตุกได้ การละเมอโดยทั่วไปถือว่าเป็นสิ่งปกติ ยกเว้นเมื่อการละเมอนั้นรบกวนการหลับนอนของผู้ละเมอหรือคนข้างเคียง จึงจะถือว่าผิดปกติ ในกรณีเช่นนั้น การใช้ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับจะช่วยให้อาการละเมอลดลงได้ (ดูเรื่องยาคลายกังวลและยานอนหลับ คอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-152)
3. การเดินละเมอ (sleep walking, somnambulism) คือ การเดินโดยไม่รู้ตัวที่เกิดขึ้นในขณะหลับ มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการหลับ โดยเฉพาะในระยะที่ 3-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุกช่วงแรก และมักจะเกิดขึ้นในเด็ก (ตั้งแต่ 2-3 ขวบ จนถึงวัยรุ่น) มากกว่าผู้ใหญ่ ที่พบบ่อยคือ ขณะที่หลับๆอยู่ เขาจะมีการเคลื่อนไหวแขนขาหรือร่างกายแล้วจะลุกขึ้นนั่งบนเตียง ลืมตาแป๋วเหมือนตาแก้ว (glassy eyes) ที่มองไม่เห็น (ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการเห็น) แล้วจะลุกขึ้นยืนและเดินไปอย่างไร้จุดหมายด้วยท่าทีที่งุ่มง่ามหรือเหมือนหุ่นยนต์ เข้าห้องนั้นออกห้องนี้ หรือเดินหนีออกไปจากบ้านโดยไม่ชนประตู โต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งกีดขวาง ขึ้นลงบันไดได้ (ซึ่งแสดงว่าเขามองเห็นสิ่งที่เขาต้องการจะเห็น ส่วนสิ่งอื่นที่เขาไม่ต้องการจะเห็น เช่น การโบกไม้โบกมือที่หน้าของเขา เขาจะไม่เห็น ดังนั้น เขาจึงอาจหกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุอื่นๆ ได้)
โดยทั่วไปเขาจะไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก (ซึ่งคงเป็นเพราะเขาไม่ได้ยิน) แต่มักจะยอมให้จูงมือกลับไปนอนใหม่ได้ เมื่อตื่นขึ้นเขาจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือจำได้อย่างรางเลือนคล้ายกับว่าฝันไป นอกจากการเดินละเมอแล้ว เขาอาจจะถอดเสื้อผ้า หรือแต่งตัวใหม่ หรือถ่ายปัสสาวะอุจจาระไม่เป็นที่เป็นทางโดยไม่รู้ตัวได้ หรืออาจเกิดร่วมกับอาการฝันร้ายหรือฝันผวาได้ อาการที่เกิดขึ้นอาจกินเวลาไม่ถึงนาที หรืออาจยาวนานถึงครึ่งชั่วโมงได้ การลุกขึ้นเดินสะเปะสะปะในเวลากลางคืนของผู้สูงอายุ (คนแก่) ไม่ใช่การเดินละเมอ เพราะไม่ได้เกิดขณะหลับ แต่เกิดจากตื่นแล้วหลง (walking disorientation) มักเกิดจากโรคสมองเสื่อม (senile dementia) สาเหตุของการเดินละเมออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ปัญหาทางจิตใจ โดยเฉพาะการเก็บกดความไม่พอใจไว้ หรืออื่นๆ
การรักษา :
1. หาสาเหตุ ถ้าเกิดจากกรรมพันธุ์ก็ควรใช้การรักษาด้วยยา ถ้าเกิดจากปัญหาทางจิตใจ เช่น เด็กขาดความอบอุ่นในครอบครัว เด็กถูกรังแกข่มเหง เด็กเกิดความอิจฉาริษยาพี่หรือน้อง หรืออื่นๆ จะต้องพยายามแก้ไขสาเหตุ และให้การรักษาในด้านจิตใจ (จิตบำบัด) ด้วย
2. การรักษาด้วยยา ใช้ในระยะที่เป็นมาก โดยให้ยาไดอะซีแพม (diazepam ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) กิน 1-2 เม็ดก่อนนอน จะช่วยลดอาการเดินละเมอได้ ถ้ามีปัญหาทางจิตใจหรือมีการเก็บกด อาจต้องใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าช่วย (ดูเรื่องยาเหล่านี้ในคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 153)
อย่างไรก็ตาม การเดินละเมอเป็นอาการปกติที่เกิดร่วมกับการหลับได้ ถ้านานๆจะเป็นสักครั้ง และแต่ละครั้งเป็นชั่วครู่เดียว แล้วก็กลับเข้านอนเองได้โดยไม่มีอุบัติเหตุหรืออันตรายอะไรก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล เพราะจะหายเองได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่อย่าลืมหาสาเหตุทางจิตใจและแก้ไขเสียด้วย มิฉะนั้นคนที่เดินละเมออาจเกิดโรคทางจิต และ/หรือทางกายต่างๆในภายหน้า
- อ่าน 39,556 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้