• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขสดชื่นเมื่อดื่มน้ำ

สุขสดชื่นเมื่อดื่มน้ำ


น้ำและเครื่องดื่มต่างๆเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมาก ในทุกๆวันตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงก่อนนอน ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กทารกจนถึงผู้สูงอายุ ล้วนต้องดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเป็นประจำเกือบทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เราทราบดีว่าร่างกายประกอบด้วยน้ำมากถึงร้อยละ 50-60 ในผู้ใหญ่ และประมาณร้อยละ 75 ในทารก แต่ทำไมเราไม่เก็บปริมาณของน้ำนี้ไว้ตลอดเวลา หรือสะสมน้ำไว้ในร่างกายให้มากโดยไม่ต้องดื่มน้ำเป็นวันๆ เช่นเดียวกับการอดอาหาร

กลไกการทำงานของน้ำในร่างกาย
เมื่อดื่มน้ำเข้าทางปาก ผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะ น้ำส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมโดยกระเพาะอาหารผ่านเข้าไปในกระแสเลือด อีกส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมโดยลำไส้เล็กเช่นเดียวกับอาหาร และเมื่อกากอาหารมาถึงลำไส้ใหญ่ น้ำจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอีก ดังนั้นถ้าดื่มน้ำแก้วหนึ่งเข้าไป เกือบจะไม่มีน้ำไหลออกมาจากทางเดินอาหารเลย ซึ่งน้ำที่ถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดนี้ จะทำให้เลือดจางลง ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นไตให้ขับน้ำในกระแสเลือดที่มากกว่าปกติออกจากร่างกายไปในรูปของปัสสาวะ

น้ำไม่สามารถถูกสะสมไว้ในร่างกายเกินความจำเป็น น้ำที่ดื่มเข้าไปมีเพียงแต่เพื่อเป็นส่วนประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ยังทำหน้าที่ช่วยขจัดของเสียออกจากร่างกาย โดยละลายของเสียเหล่านี้ไป ทำให้ง่ายต่อการกำจัดออกทางไตและต่อมเหงื่อ ลดอุณหภูมิร่างกายลง และมีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญอาหารภายในเซลล์

ภาวะ “ขาดน้ำ” ในร่างกาย
ในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ เช่น ดื่มน้ำน้อยเกินไป นอนมากไป หายใจถี่และแรงตลอดเวลา จะทำให้สูญเสียน้ำทางลมหายใจ และเลือดเข้มข้นมากในผู้ที่เป็นเบาหวาน ถ้าเป็นในกรณีที่เสียเลือดมาก เหงื่อออกมาก อาเจียน ท้องร่วง เหล่านี้ล้วนทำให้ร่างกายเสียน้ำและสารละลายต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน อาการที่ปรากฏอย่างเด่นชัด คือ กระหายน้ำ น้ำหนักลด คอแห้ง ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวย่น ปัสสาวะกะปริดกะปรอย นอนหลับไม่สนิท กระวนกระวาย ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันลดลง หน้ามืดตาลายเมื่อลุกขึ้นยืน และเกิดความรู้สึกสับสนต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้

ภาวะ “น้ำเป็นพิษ”
ถ้าร่างกายมีน้ำมากเกินไป เราจะเกิดภาวะบวม ซึ่งพบในกรณีที่มีปัญหาของไตและหัวใจ แต่ในกรณีที่ดื่มน้ำมากเกินไปเนื่องจากปัญหาทางจิตใจ หรือขาดเกลือแร่ หลังอาเจียนแล้วดื่มแต่น้ำเปล่า มีความผิดปกติของระบบฮอร์โมน ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ในภาวะนี้เรียกว่า ภาวะน้ำเป็นพิษ ทำให้เกิดอาการเซื่องซึมง่วงนอน กินอาหารไม่ได้ สับสน เสียการประสานงานของกล้ามเนื้อ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หายใจถี่และลึก ผิวหนังเปียกชื้น และอาจมีอาการบวมเล็กน้อยตามแขนขา

หนทางที่ร่างกายได้รับน้ำ
เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องดื่มเข้าไป ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ ทั้งเป็นเครื่องดื่ม น้ำแกง ข้าวต้ม และอาหารที่มีลักษณะเหลว ในเครื่องดื่มทุกชนิดส่วนประกอบที่สำคัญ คือ น้ำและน้ำตาล อาจมีรสปรุงแต่งจากสารเคมีสังเคราะห์ที่ทำให้เราเข้าใจว่ามีส่วนผสมของผลไม้ แต่เกือบไม่มีประโยชน์ สู้ผลไม้สดๆไม่ได้ นอกจากนี้เครื่องดื่มหลายชนิดยังมียากระตุ้นประสาท ซึ่งได้แก่ กาแฟ น้ำชา หรือประเภทโซดา ยาชูกำลังต่างๆ ที่โหมโฆษณาทุกๆ 20 นาทีตามหน้าจอโทรทัศน์ เครื่องดื่มประเภทนี้ถ้าดื่มน้อยนิด จะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่เมื่อดื่มมาก จะทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย และหงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดื่มอีก ซึ่งจะมีผลเสียต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และอาจทำให้เหงือกและฟันเสียได้จากปริมาณน้ำตาลที่สูงมาก

เครื่องดื่มอีกประเภทหนึ่งที่มาในลักษณะเป็นอาหารเหลว เช่น น้ำนม น้ำเต้าหู้ เครื่องดื่มเหล่านี้มีส่วนประกอบของโปรตีนก็จริง แต่ยังจำเป็นต้องกินอาหารอื่นด้วย เพราะจะได้รับโปรตีนไม่เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ เครื่องดื่มในช่วงฤดูร้อนนี้ที่ดีที่สุด เห็นจะเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ น้ำผลไม้แท้ หรือน้ำจากสมุนไพร ยาแผนไทย เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำที่ใส่ยาอุทัย ส่วนเครื่องดื่มที่เหมาะกับประเทศที่มีอากาศหนาว เช่น เครื่องดื่มประเภทประเภทที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์นั้นไม่เหมาะที่จะดื่มในฤดูร้อน เพราะทำให้ร่างกายไม่สบาย มีไข้ และเกิดภาวะขาดน้ำได้

ดื่มน้ำอย่างไรให้พอเหมาะ
ร่างกายของมนุษย์แต่ละคนต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น ขณะอยู่กลางแจ้ง ย่อมต้องการน้ำมากกว่าอยู่ในที่ร่ม ขณะอยู่ในห้องที่ติดพัดลม ย่อมต้องการน้ำมากกว่าในห้องปรับอากาศ โดยทั่วไปในสภาพอากาศปกติที่ไม่ร้อนเกินไป เราควรดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณ 2 ลิตร หรือ 6-8 แก้ว ย่อมเพียงพอแล้ว แต่ถ้าออกกำลังกาย มีไข้ ท้องเสีย หรืออาเจียน ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้น

การดื่มน้ำ ควรดื่มเวลาที่รู้สึกกระหายน้ำเสมอ เพราะเป็นสัญญาณจากร่างกายบ่งบอกว่าต้องการน้ำ แต่ในสภาพที่กำลังเหนื่อยและกระหายน้ำอย่างหนัก เช่น หลังจากการเล่นกีฬาใหม่ๆ ไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมากทันทีทันใด ควรอมน้ำไว้ในปากสักครู่ แล้วค่อยๆ กลืนลงทีละน้อย เพราะการดื่มรวดเร็วมากเกินไป ประหนึ่งเอาน้ำราดลงในกระทะที่กำลังร้อน ร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้อวัยวะภายในเกิดอาการผิดปกติได้

มีความเชื่อว่า การดื่มน้ำในช่วงตื่นนอน ก่อนที่จะแปรงฟันหรือกินอาหารเป็นวิธีการรักษาสุขภาพที่ดี และให้ดื่มในปริมาณมากถึง 2-3 ขวด ในทางปฏิบัติ การดื่มน้ำมากขนาดนั้นในเวลาอันสั้น ย่อมต้องการการฝึกฝนโดยการค่อยๆ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น และถ้าพิจารณาในแง่สรีรวิทยา จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมนหลั่งออกมามากขึ้น เพื่อกำจัดน้ำส่วนที่เกินให้ออกทางไต แต่ถ้าในช่วงเวลาอื่นๆ ของวัน คุณเพียงดื่มน้ำอีก 5-6 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร ย่อมทำให้ร่างกายไม่เกิดภาวะขาดดุลจากการสูญเสียน้ำทางเหงื่อ ปัสสาวะ และลมหายใจ ดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตได้จริงๆ ครับ

ข้อมูลสื่อ

157-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 157
พฤษภาคม 2535
อื่น ๆ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข