• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

ตัวอย่างผู้ป่วยจำนวนมากในห้องฉุกเฉินตามที่แสดงไว้ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา คงจะพอทำให้เห็นวิธีการตรวจรักษาในห้องฉุกเฉินแบบต่างๆ ตั้งแต่การตรวจด้วยการดูสภาพทั่วไปของผู้ป่วยแล้วให้การวินิจฉัยโรคหรือภาวะแห่งความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ไปจนถึงการตรวจ ที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการแพงๆ เช่นการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) กว่าจะวินิจฉัยโรคได้ เป็นต้น

และตั้งแต่การรักษาด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น การพูดคุยให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงโรคของผู้ป่วยและวิธีดูแลรักษาผู้ป่วย ที่ผู้ป่วยและญาติสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องมาโรง พยาบาล ไปจนถึงวิธีการยากๆ เช่น การผ่าตัดที่ยุ่งยาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้กล่าวถึงในช่วง 2 ปีนี้ เกือบทั้งหมดยังเป็นเพียงการตรวจรักษาผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น
แต่แพทย์ พยาบาล รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ก็ยังคงสนใจเฉพาะการตรวจรักษาผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากต้องเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หรือกว่าจะเคลื่อนย้าย จากที่เกิดเหตุมาถึงห้อง ฉุกเฉินในโรงพยาบาลได้ ก็ต้องเสียชีวิตระหว่างทาง หรือมาถึงโรงพยาบาลในสภาพที่รักษาไม่ได้หรือพิการถาวรแล้ว เป็นต้น

ช่วงต่อไปนี้ จึงจะกล่าวถึง “การปฏิรูประบบ สุขภาพยามฉุกเฉิน” ซึ่งครอบคลุมภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งหมด และเป็นการแก้ปัญหาแบบองค์รวม(แก้ทุกจุด) ไม่ใช่แก้แบบขอไปที หรือแก้ทีละจุด พอจุดนี้ดีแล้วจึงไปแก้ที่จุดอื่น พอไปสนใจแก้ จุดอื่น จุดที่เคยแก้ไว้ดีแล้วก็กลับแย่อีก เพราะคนเลิกสนใจ เป็นต้น
“การปฏิรูประบบสุขภาพยามฉุกเฉิน” ที่จะเสนอตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป เป็นข้อเสนอต่อคณะกรรมการ ปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ โดยได้ รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้นำเสนอไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2544

การปฏิรูประบบสุขภาพยามฉุกเฉิน
คำนำ
การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งในทุกประเทศทั่วโลก เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินครอบคลุมโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิด ตั้งแต่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ สาธารณภัย ภัยสงคราม ภยันตราย แมลงกัดต่อย และการได้รับสารพิษ ซึ่งรวมถึงการ แพ้ยาและการเป็นพิษจากยาด้วย ไปจนถึงการป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ แม้แต่ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็เกิดการเจ็บป่วย ฉุกเฉินได้ในยามที่โรคกำเริบหรือมีภาวะแทรกซ้อน

การเจ็บป่วยฉุกเฉินทำให้เกิดความทุกข์ทรมานขึ้นอย่างฉับพลัน ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยฉุกเฉินจึงต้องการการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องและฉับไว เพื่อจะได้รอดชีวิต รอดจากความพิการและความทุกข์ทรมานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพ ได้เท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม

สถานการณ์และสภาพปัญหา
ผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทยยังไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและทันกาลพอ เพราะยังไม่มี “ระบบสุขภาพยามฉุกเฉิน” ที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และครอบคลุมผู้ป่วยทุกชั้นและทุกพื้นที่ ผู้ป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่จึงประสบความทุกข์ทรมาน ความพิการ และความตายที่ไม่จำเป็นเป็นประจำ

“สำนักวิจัยเอแบคโพลล์” โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สำรวจสภาพการณ์บริการรักษาพยาบาลประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2543 พบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้แจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดๆ และต้องดิ้นรนหาทางไปสถานพยาบาลเอง (ร้อยละ 76 ถูกนำส่งโดยญาติหรือเพื่อน ร้อยละ 12 เดินทางมาด้วยตนเอง ร้อยละ 10 ถูกนำส่งโดยผู้พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ มีเพียงร้อยละ 1.2 ถูกนำส่งโดยหน่วยกู้ภัยสาธารณะ ร้อยละ 1 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร้อยละ 0.9 โดยหน่วยกู้ชีพของโรงพยาบาล) แสดงว่าระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินยังไม่สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพพอที่ประชาชนและผู้ป่วยฉุกเฉินจะพึ่งพิงได้ แม้แต่รถพยาบาลก็เช่นกัน

นอกจากนั้น ระยะทางที่ผู้ป่วยฉุกเฉินเดินทางจากจุดเกิดเหตุไปถึงโรงพยาบาล โดยเฉลี่ยประมาณ 33 กิโลเมตรในกรุงเทพฯ และ 18 ถึง 19 กิโลเมตรในต่างจังหวัด ทั้งที่ในกรุงเทพฯ มีสถานพยาบาลแทบทุกหัวระแหง แสดงว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด (การเดินทางไกลในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ย่อมเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย)

ประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และร้อยละ 40 ของผู้ป่วยในต่างจังหวัด ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฉุกเฉินเองทั้งหมด
แสดงว่าระบบประกันสุขภาพ ยังไม่ครอบคลุมภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะอ้างกันว่า รัฐสามารถจัดหลักประกันสุขภาพได้ถึงร้อยละ 75 ของประชากรทั้งหมด

กล่าวคือสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล ประมาณร้อยละ 42 บัตรสุขภาพร้อยละ 15 สวัสดิการข้าราชการร้อยละ 11 และการประกันสังคมร้อยละ 7 และมีผู้ซื้อประกันสุขภาพของภาคเอกชนร้อยละ 10 แต่เป็นประกันแนบท้าย ประกันชีวิตเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความซ้ำซ้อนกับกลุ่มอื่นๆ อยู่มาก

คาดว่าประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ และหลักประกันสุขภาพหลายระบบที่มีอยู่ก็ไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมาก (ร้อยละ 60 ในกรุงเทพฯ และร้อยละ 40 ในต่างจังหวัด) ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินเองทั้งหมด และเป็นเหตุให้โรงพยาบาลจำนวนมากไม่เต็มใจหรือบ้างถึงกับปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยฉุกเฉินไว้รักษาในโรงพยาบาลของตน ผู้ป่วยที่คิดว่าจะเดือดร้อนจากค่ารักษาพยาบาล มีถึงร้อยละ 76 ถ้าเกิดอุบัติเหตุรุนแรง และร้อยละ 64 ถ้าเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล

ปัญหาของ “ระบบสุขภาพยามฉุกเฉิน” จึงมีอยู่มากมาย พอจะสรุปรวมได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. การขาดแคลน “หลักประกันสุขภาพยามฉุกเฉิน” ในประชากรจำนวนมาก (ร้อยละ 60 ของประชากรในกรุงเทพฯ ยังต้องรับผิดชอบ ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินทั้งหมดเอง) และระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่หลาย ระบบยังไม่คุ้มครองได้อย่างมีประ-สิทธิภาพ เสมอภาคและเป็นธรรม
2. การขาดแคลน “ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน” ที่สามารถให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ในทันที ที่เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่เร็วไปรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่มีห้องฉุกเฉินและแพทย์-พยาบาลที่มีประสบการณ์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วทันต่อสภาวการณ์ฉุกเฉินทุกรูปแบบ
3. การขาดแคลน “ระบบป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน” ที่สามารถลดการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติภัยและจากการกำเริบของโรคเรื้อรังต่างๆ และที่สามารถลดการเกิดโรคเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วย
 
สาเหตุ
สาเหตุสำคัญๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น คือ
1. การขาดแคลนแรงผลักดัน จากประชาชนที่จะทำให้นักการเมือง และข้าราชการ ปฏิรูประบบสุขภาพ ทั้งหมด รวมทั้งระบบสุขภาพยามฉุกเฉินด้วย
2. การขาดแคลนกฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ตระหนัก ว่าตนมีสิทธิและหน้าที่ในด้านสุขภาพ นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ สิทธิที่จะได้รับการป้องกันอุบัติภัยและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน รวมทั้งหน้าที่ที่จะต้องดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วย
3. การขาดแคลนระบบประกัน สุขภาพที่คุ้มครองประชาชนโดยถ้วน หน้าด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม ทั้งในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเจ็บป่วยอื่นๆ รวมทั้งการป้องกันอุบัติภัยและการเจ็บป่วยด้วย
4. การขาดแคลนสิ่งจูงใจที่จะทำให้บุคลากรต่างๆ โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน สนใจและพยายามที่จะป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งการป้องกัน อุบัติภัยและการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แก่ประชาชนด้วย

การแก้ไข
ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที เพื่อให้รอดพ้นจากความตาย ความพิการ และความทุกข์ทรมานให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

เนื่องจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกือบทั้งหมดเกิดนอกสถานพยาบาล เช่น ในบ้าน ในสถานที่ทำงานบนถนน เป็นต้น ผู้ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยมากที่สุด เช่น ญาติมิตร ผู้เห็นเหตุการณ์ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีการฝึกอบรมให้ประชาชนทั่วไปสามารถให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ การปฐมพยาบาลจึงเป็นขั้นตอนแรก และสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน

ข้อมูลสื่อ

268-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 268
สิงหาคม 2544
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์