การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 11)
ความฝันเป็นอาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะหลับ มีผู้สนใจพยายามศึกษามากมายว่าทำไมคนจึงฝัน มีสาเหตุที่เกี่ยวกับร่างกายหรือจิตใจหรือไม่ ทำไมบางคนถึงจำความฝันได้มาก บางคนจำความฝันได้น้อย แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับความฝันก่อนดีกว่า
4. การฝัน (dreaming) คือ การนึกเห็นเป็นเรื่องราวในขณะหลับ บางคนถือว่าการฝันเป็นอาการหลอนอย่างหนึ่ง เพราะในขณะฝันเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราเห็นหรือสัมผัสได้นั้นเป็นของจริง มักต้องยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต่างๆมาก มักจะซับซ้อน (แปลกหรือเกินจริง) และสั้นยาวได้ต่างๆกันอย่างมาก จึงมีสภาพเหมือนความหลอนอย่างหนึ่ง ความฝันที่จำได้ส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80-90) เกิดในช่วงของการหลับแบบตากระตุก ความฝันที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆของการหลับมักจะถูกลืม (หรือจำไม่ได้) มากและบ่อยกว่าความฝันที่เกิดขึ้นเมื่อใกล้ตื่นหรือฝันจนตื่น
ความฝันที่เกิดในการหลับแบบตาไม่กระตุก มักจะจำได้ถ้าเกิดในระยะที่ 1 (เมื่อเริ่มหลับ) และมักจะพบในคนที่หลับๆตื่นๆ (หลับแบบตื่นได้ง่าย) หรือในคนที่มีอาการซึมเศร้า ถ้าช่วงการหลับแบบตากระตุกลดลง เช่น จากการดื่มสุรา การฝันในช่วงการหลับแบบตาไม่กระตุกจะเพิ่มขึ้น ความฝันนั้นมีลักษณะต่างๆ กัน อาจจะสั้นหรือยาว สุข สนุกสนาน เศร้าโศก น่ากลัว (ฝันร้าย) น่าเบื่อ จืดชืด หรืออื่นๆ ส่วนใหญ่ความฝันจะอยู่ในรูปของการเห็น รองๆ ลงไปคือ ในรูปของการได้ยินเสียง การได้สัมผัส และความเจ็บปวด ที่พบน้อยมาก คือ ฝันในรูปของการได้ลิ้มรส และการได้กลิ่น อาจจะฝันว่าลอยได้หรือบินได้หรือลอยออกจากตัวขึ้นไปเหนือเตียงและมองเห็นร่างของตนที่นอนอยู่หรือลอยไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ รวมทั้งสวรรค์หรือนรกได้ อาจจะฝันถึงใครคนใดคนหนึ่งว่าเขาตาย หรือเขาจะมาหา แล้วต่อมาปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง ซึ่งในกรณีนี้ อาจถือว่าความฝันนั้นเป็นโทรจิต (telepathy) ได้
บางคนจำความฝันได้มากมาย (ฝันมาก) บางคนจำไม่ได้หรือได้น้อย (ฝันน้อย) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุ เช่น
ก. คนหลับสนิทจะฝันน้อย หรือจำความฝันได้น้อย หรือไม่รู้สึกว่าฝันเลย ถ้าหลับตื้นๆ (หลับแล้วตื่นง่าย) หรือถูกปลุกให้ตื่นบ่อยๆ โดยเฉพาะถ้าถูกปลุกให้ตื่นในขณะหลับแบบตากระตุก มักจะจำความฝันได้มากและบ่อย
ข. คนที่สนใจในความฝัน เช่น ศิลปิน นักจิตวิเคราะห์ นักทำนายฝัน ผู้ที่มีความสุขกับความฝัน เป็นต้น จะฝันบ่อย และจำความฝันได้ดีกว่าผู้ที่ไม่สนใจในความฝัน เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักคำนวณ เป็นต้น
ค. ความฝันหรือการจำความฝันได้จะลดลงตามอายุ นั่นคือ คนแก่จะฝันหรือจำความฝันได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาวและเด็กๆ โดยเฉพาะถ้ามีอาการซึมเศร้าในคนแก่ ความฝันจะลดลงอย่างมากทันที และมักจะเป็นฝันร้าย
ง. ความฝันอาจจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ใหม่ๆ แปลกๆ เกิดขึ้นกับตนเองหรือสิ่งแวดล้อม เช่น คนตั้งครรภ์ (คนมีท้อง) โดยเฉพาะในระยะแรกๆ อาจจะฝันมากและฝันแปลกๆ จนบางครั้งการฝันที่เพิ่มขึ้นมากนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยว่าหญิงนั้นกำลังเริ่มตั้งครรภ์ได้ ทั้งที่ประจำเดือนยังไม่ขาด
ความเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะที่ทำให้ต้องตื่นกลางดึกบ่อยๆ มักจะทำให้ฝันบ่อยหรือจำความฝันได้มากขึ้น และมักจะเป็นฝันร้าย ความอัดอั้นทางกายบางอย่างก็ทำให้ฝันได้ เช่น ฝันเปียก (การฝันว่าได้ร่วมเพศทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนขณะหลับ อาจเกิดเพราะมีน้ำอสุจิเต็มแน่นถุงเก็บ) ฝันว่าไปส้วมเพื่อถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ หรือตื่นขึ้นมาก็พบว่า ปวดปัสสาวะ อุจจาระอยู่ หรือพบว่า ปัสสาวะ อุจจาระราดแล้ว เป็นต้น
การแปลความฝัน ความฝันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดความฉงนสนเท่ห์มาแต่สมัยโบราณ และได้มีความพยายามที่จะแปลความฝันหรือทำนายฝันกันไปต่างๆนานา ความหมายของความฝันขึ้นอยู่กับการแปลในด้านต่างๆ เช่น
1. ในด้านวิทยาศาสตร์ ความฝันเป็นปรากฏการณ์ปกติ (ตามธรรมชาติ) ของสมอง สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมอง (คลื่นไฟฟ้าสมองในขณะฝันจะไม่สม่ำเสมอ (desynchronized) ซึ่งพบในช่วงการหลับแบบตากระตุก หรือในระยะแรกของการหลับแบบตาไม่กระตุก) แสดงว่าสมองบางส่วนยังทำงานสานต่อกันเป็นการเห็น การได้ยิน การได้สัมผัส หรืออื่นๆ โดยปราศจากการควบคุมจากสมองใหญ่ (cerebrum) ทำให้ความฝันเกือบทั้งหมดแปลกและพิสดารกว่าที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง
การแปลความฝันในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ต้องทราบบุคลิกและพื้นเพ (ภูมิหลัง) ของผู้ฝัน สถานภาพปัจจุบัน สิ่งแวดล้อม และเหตุการณ์ที่ฝังใจอยู่หรือเพิ่งเกิดขึ้น นอกจากนั้น ถ้าสามารถบันทึกความฝันไว้ตลอดทั้งคืนเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน การแปลฝันอาจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพทางกายและใจของผู้ฝันได้ แต่การทำเช่นนี้ยุ่งยากมาก และใช้เวลานาน อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้น้อย จึงยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย
2. ในด้านจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) นักจิตวิเคราะห์ชื่อก้องโลก ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และสานุศิษย์ของท่าน เช่น คาร์ล จุง (Carl Jung) ได้นำความฝันมาใช้ในการทำจิตบำบัด (psychotherapy) แก่คนไข้โรคจิตโรคประสาท และถือว่าความฝันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงจิตในส่วนลึก ทั้งความสุข ความสมหวัง และความทุกข์ ความผิดหวังตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ความฝันเป็นช่องทางให้ความอัดอั้นตันใจทั้งหลายได้ระบายออกในขณะหลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ผลดีแก่สุขภาพ
นักจิตวิเคราะห์ได้แปลความฝันกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมไปถึงความรัก ความสัมพันธ์ทางเพศ ความอบอุ่นในครอบครัวตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน และอื่นๆ และถือว่าความฝันอาจแสดงถึงความจริงบางอย่างที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะตื่น หรือเป็นปรัชญา (แนวคิด) ความหลงผิด ความเพ้อฝัน (ความต้องการที่จะเป็นเช่นนั้น) ความเครียด ความกังวล ความทุกข์ร้อน ความเจ็บป่วย และอื่นๆ ซึ่งแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้ให้การรักษาพยาบาลควรจะใส่ใจและไม่ละเลยต่อความฝันของคนไข้
3. ในด้านการทำนายฝัน หรือการใช้ความฝันเพื่อการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นศาสตร์เร้นลับที่ใช้กันมาแต่โบราณ ความแม่นยำของการทำนายฝันนั้นส่วนใหญ่ปรากฏในตำนาน นิทาน หรือนิยายมากกว่าในความเป็นจริง และมีความคลาดเคลื่อนได้สูงมาก ความผิดพลาดของการทำนายฝันมักจะมากกว่าการดู “ดวง” หรือการดูลายมือ เพราะ “ดวง” หรือลายมือเป็นปรากฏการณ์ที่คงที่ (“ดวง”) หรือค่อนข้างคงที่ (ลายมือ) การใช้สถิติ (ประสบการณ์) มาทำนาย จึงคลาดเคลื่อนได้น้อยกว่า
ส่วนความฝันนั้นดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าขึ้นกับบุคลิกและภูมิหลังสถานภาพปัจจุบัน สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ที่ฝังใจหรือเพิ่งเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกร่างกายของผู้ที่ฝันจึงมีตัวแปรจำนวนมาก ทำให้การใช้สถิติเพื่อการทำนายฝันนั้นผิดพลาดได้ง่าย
การรักษา : ความฝันเป็นปรากฏการณ์ตามปกติ (ตามธรรมชาติ) โดยทั่วไป (เกือบทั้งหมด) จึงไม่ต้องการการรักษา ถ้าคนที่ฝันมีอาการไม่สบายใจ ตกใจ หรืออยากรู้เกี่ยวกับเรื่องความฝันของตนมาก แพทย์ พยาบาล หรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความสนใจ (ฟังเขาเล่าความฝันให้จบ อย่าบอกปัด อย่าละเลย ฯลฯ) เพราะการให้ความสนใจและฟังเขาระบายความฝันและความวิตกกังวลอันอาจสืบเนื่องมาจากการแปลความฝันของเขา อย่างน้อยก็จะช่วยทำให้เขาลดความวิตกกังวลลง
เมื่อเขาเล่าความฝันให้ฟังจบแล้ว ก็ควรจะปลอบประโลม ให้กำลังใจ เพื่อให้เขาสบายใจ และเข้าใจว่า ความฝันนั้นเป็นปรากฏการณ์ปกติ อันอาจสืบเนื่องมาจากจิตใจที่ว้าวุ่นกังวล หรือธาตุ (การย่อยอาหาร) ผิดปกติ หรือความเจ็บป่วยทางกายอื่นๆ ถ้าตรวจร่างกายแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ ก็ควรจะสบายใจได้ และควรจะลืมความฝันนั้นเสีย เพราะเหตุการณ์ร้ายแรงที่ฝันเห็นนั้นเป็นเพียงภาพหลอนที่เกิดขึ้นในขณะหลับเท่านั้น ถ้าคนๆ นั้นยังกลัวมาก หรือฝันร้ายบ่อยๆ หรือฝันมาก จนทำให้หลับไม่สนิทในเวลากลางคืน ควรแนะนำให้เขาออกกำลัง และทำงานที่ต้องใช้กำลังให้มากขึ้น เพื่อจะหลับได้สนิท (คนที่หลับสนิทจะไม่ฝันหรือฝันน้อยลง) และแนะนำวิธีการต่างๆที่จะทำให้เขาหลับได้ดีขึ้น (ดูคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-152) ถ้าไม่ได้ผล ควรใช้ยาไดอะซีแพม (diazepam เม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) กิน 1-2 เม็ดก่อนนอน ถ้ายังไม่ได้ผลอีก ควรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้า เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (amitriptyline เม็ดละ 10 หรือ 25 มิลลิกรัม) กิน 1 เม็ด ก่อนนอน เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาไดอะซีแพมก็ได้ (ดูรายละเอียดเรื่องในคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-152)
ถ้าตรวจร่างกายพบโรค หรือซักประวัติพบความเจ็บป่วยที่อาจรบกวนการนอนหลับ และทำให้ฝันมากหรือฝันร้าย จะต้องให้การรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยนั้นด้วย อาการฝันมากหรือฝันร้ายจะหายไปได้ นอกจากนั้นคนที่กินยาบางอย่าง เช่น ยาลดความดันเลือด ยาแก้โรคหัวใจบางอย่าง อาจจะเกิดอาการฝันร้าย หรือฝันบ่อยได้ ถ้าเป็นมากควรให้หมอเปลี่ยนยาใหม่ อนึ่ง คนที่กินยาไดอะซีแพม ยานอนหลับ ยาแก้อาการซึมเศร้า หรือคนที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เมื่อหยุดดื่ม มักจะหลับไม่สนิท และเกิดอาการฝันมาก หรือฝันร้ายได้ในระยะที่หยุดกินใหม่ๆ เมื่อทนไปได้สักพัก อาการหลับไม่สนิท หรือฝันมากฝันร้ายก็จะหายไปเอง โดยไม่ต้องหวนกลับไปกินยาหรือดื่มเหล้าอีก
ความฝันนอกจากจะเป็นช่องทางระบายความอัดอั้นทางใจหรือทางกายแล้ว หลายครั้งยังช่วยให้คนที่ฝันได้เข้าใจตัวเองดีขึ้น และดีกว่าที่คนอื่นจะทำให้เขาเข้าใจได้ จนบางครั้งอาจทำให้เขาเลิกละความประพฤติชั่ว หรือพฤติกรรมบางอย่างได้ทั้งที่เขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้มาก่อน เช่น บางคนฝันเห็นว่าเขาได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมากมายจากโรคมะเร็งปอด หรือโรคปอดโป่งพองจนตาย เมื่อเขาตกใจตื่นขึ้นมา เขาก็เลิกสูบบุหรี่ได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยทั่วไปจึงไม่ต้องให้ยาไปลดการฝันหรือทำให้ไม่ฝัน เพราะความฝันเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกาย ยกเว้นแต่ในกรณีที่ความฝันรบกวนการหลับนอน หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว และความเจ็บป่วยขึ้น
- อ่าน 46,585 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้