• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันตรายจากภาชนะใส่อาหาร

อันตรายจากภาชนะใส่อาหาร


ในสมัยก่อนภาชนะที่เราใช้บรรจุอาหารส่วนมากมักจะใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากธรรมชาติ เช่น ใบตอง กะลามะพร้าว เครื่องปั้นดินเผา (ไม่มีลวดลาย ไม่เคลือบ) แต่มาถึงยุคปัจจุบัน วัสดุจากธรรมชาติเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะค่อยๆถูกกลืนหายไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คืบคลานเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตคนเราเสียจนหมดสิ้น

ถึงเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่จานกระเบื้องเคลือบสีลายสวย จานพลาสติกในระดับคุณภาพต่างๆ กัน ที่ดีหน่อยก็เป็นพลาสติกพวกเมลามีน และถ้าจะให้ดูคลาสสิกก็อาจจะเป็นจานเซรามิกเคลือบ นอกจากนี้ก็มีกล่องโฟมซึ่งจัดว่าเป็นวัสดุบรรจุอาหารที่ทำลายสิ่งแวดล้อมตัวฉกาจทีเดียว ในเนื้อที่หน้ากระดาษอันจำกัดนี้จะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะภาชนะใส่อาหารที่ทำจากพลาสติก และเครื่องเคลือบดินเผาเท่านั้น

ภาชนะพลาสติก
พลาสติกเป็นสารสังเคราะห์ที่มีประโยชน์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอนที่มีแหล่งกำเนิดจากน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรและสินแร่ แม้ว่าพลาสติกจะมีประโยชน์ แต่หากถูกนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดผลเสียต่างๆตามมามากมาย โดยเฉพาะผลเสียทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการอุดตันและทับถมของพลาสติกในชั้นดิน แต่ปัญหาสำคัญที่อยากจะกล่าวถึงตรงนี้คือปัญหาที่เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากการที่มีการปนเปื้อนของพลาสติกในอาหาร ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสะสมหรือเรื้อรัง ซึ่งก็มีสาเหตุ ดังนี้

1. การนำภาชนะพลาสติกที่ทิ้งแล้วหรือใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่โดยไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์หรือสารเคมีที่ตกค้างอยู่ย่อมทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

2. ในกรรมวิธีการผลิตผงและเม็ดพลาสติก จะมีการเติมสารเจือปน (additives) ก่อนหรือระหว่างการขึ้นรูป สารเจือปนนี้มิได้เข้าไปทำปฏิกิริยาโดยตรงกับโครงสร้างของโมเลกุลของพลาสติก หากแต่กระจายตัวสอดแทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างโมเลกุลพลาสติกนั่นเอง เมื่อมีการบรรจุอาหารในระดับอุณหภูมิที่แตกต่างกัน หรือตัวอาหารเองอาจเป็นตัวละลายที่ดีจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของสารเจือปนบางชนิดจากเนื้อพลาสติกเข้าไปปนเปื้อนในอาหาร ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้

และกรณีที่มีการพูดถึงกันมาก ก็คือ การปนเปื้อนของสีจากเนื้อพลาสติกลงสู่อาหาร เนื่องจากความมักง่ายของผู้ผลิตที่ใช้สีที่มีความบริสุทธิ์ต่ำ และใช้ในปริมาณสูง ซึ่งสีที่ไม่ได้คุณภาพเหล่านี้มักมีสารที่เป็นอันตราย เช่น โลหะหนักจำพวกตะกั่วและแคดเมียมปะปนอยู่ ซึ่งจะเคลื่อนหลุดออกได้ถ้านำภาชนะนั้นไปบรรจุอาหารที่เป็นกรดหรือด่าง และยิ่งถ้ามีลวดลายสีติดที่บนภาชนะ ก็จะยิ่งอันตรายมากขึ้น

วิธีป้องกันพิษภัยอันเกิดจากพลาสติกสามารถป้องกันได้โดยการเลือกใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสีอ่อนๆ ไม่มีลวดลายหรือไม่มีสีเลยจะดีที่สุด และถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆควรเลือกใช้ภาชนะพลาสติกแบบเมลามีน (พลาสติกแข็ง) เพราะทนความร้อน และสภาวะกรดด่างได้ดีกว่าภาชนะพลาสติกทั่วไป

ภาชนะเครื่องเคลือบดินเผา
ปัจจุบันภาชนะเครื่องเคลือบดินเผาเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะได้มีการคิดค้นออกแบบให้ดูสดใสน่าใช้ มีการเคลือบผิวภาชนะเพื่อป้องกันการซึมของน้ำ ทำให้ผิวเรียบเป็นมันวาวสวยงาม ป้องกันการขีดข่วนของลวดลายหรือสีสันต่างๆ ที่เขียนไว้บนภาชนะ รวมทั้งป้องกันปฏิกิริยาเคมีอันอาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งความก้าวหน้าในกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบเหล่านี้มีประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น ผู้ผลิตไม่คำนึงถึงอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ เนื่องจากสารที่ใช้ในการเคลือบและเขียนลวดลายบนภาชนะนั้นต้องใช้สีที่มีส่วนผสมของตะกั่วอยู่ด้วย

จากการศึกษาหาปริมาณตะกั่วที่ถูกละลายออกจากภาชนะเคลือบดินเผาด้วยสารละลายกรดน้ำส้ม ร้อยละ 4 พบว่า ภาชนะที่มีลวดลายเป็นสีเหลือง แสด และแดง จะมีปริมาณตะกั่วที่ถูกละลายออกมาสูงกว่าสีอื่นๆ และบางตัวอย่างสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัย คือ เกินกว่า 2 มิลลิกรัมต่อภาชนะที่มีความจุ 1 ลิตร ความเป็นพิษของตะกั่วจะแสดงออกมาให้เห็นเมื่อถูกสะสมอยู่ในร่างกายจนมีปริมาณมากพอ

อาการแพ้พิษของตะกั่วที่พบบ่อยๆ คือ โลหิตจาง ปวดท้องเป็นประจำ ท้องผูก กล้ามเนื้อไม่มีแรง ปวดศีรษะ อาจมีเส้นสีน้ำเงินปรากฏที่ขอบเหงือก อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดข้อ ฉะนั้น ทางที่ดีควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะเคลือบที่มีสีและลวดลายเข้มๆ เช่น เหลือง แดง และแสด สีและลวดลายที่เขียนบนภาชนะเมื่อใช้มือลูบแล้วต้องไม่สากมือ คือ ภาชนะที่เคลือบเกลี้ยงๆ และไม่ควรใช้ภาชนะเคลือบบรรจุของหมักดอง น้ำส้มสายชู อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เพราะอาจจะละลายตะกั่วออกได้ แต่ควรใช้ภาชนะที่ทำด้วยแก้ว และนอกจากนี้ไม่ควรใช้ภาชนะเคลือบบรรจุอาหารทิ้งค้างไว้เป็นระยะเวลานานหลายวัน เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ตะกั่วถูกละลายออกมามากขึ้น

อันที่จริงภาชนะที่ใส่อาหารนั้นขอเพียงให้มีความสะอาดและมีรูปทรงเหมาะแก่การใช้งาน มีความแข็งแรงทนทานก็น่าจะพอแล้ว เพราะถ้าคุณพิถีพิถันเลือกรูปแบบที่สวยมากๆ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพในการใช้งานก็อาจได้รับพิษภัยจากความสวยงามอย่างไม่ได้ตั้งใจเช่นที่กล่าวนี้
 

ข้อมูลสื่อ

158-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 158
มิถุนายน 2535
รู้ก่อนกิน
สุกาญจน์ เลิศบุศย์