• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อมหมวกไต

ต่อมหมวกไต


เคยบ้างไหมที่พบว่า...

ในบางสถานการณ์ที่อุบัติขึ้นอย่างกะทันหันท่ามกลางความตระหนกตกใจของใครหลายๆคน รวมทั้งตัวคุณเองด้วย อย่างเช่นในกรณีที่แม่บ้านเกิดทำไฟไหม้ห้องครัว ช่วงนั้นทุกคนต่างตกอยู่ในภาวะแห่งความสับสนอลหม่าน มารู้ตัวอีกครั้งก็เมื่อพบว่าตัวคุณเองได้กลายเป็น “สาวน้อยมหัศจรรย์” หรือ “ซูเปอร์แมน” ไปเสียแล้ว ด้วยเหตุที่สามารถยกโอ่งยักษ์ที่บรรจุน้ำเต็มเปี่ยมไปราดในบริเวณต้นเพลิง ซึ่งช่วยสกัดการลุกลามของไฟเอาไว้ได้

คุณอาจจะรู้สึกงงว่าพละกำลังอันมหาศาลเช่นนั้นของคุณได้มาจากไหน

คำตอบที่ได้รับนี้อาจจะทำให้คุณเกิดอาการงงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมหากจะบอกว่าสิ่งนั้น คือ การทำหน้าที่อย่างหนึ่งของต่อมหมวกไตหรือต่อมอะดรีนาล (adrenal glands) ในร่างกายคุณนั่นเอง

ต่อมหมวกไตเป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเกาะติดอยู่กับส่วนบนของไตข้างละอัน มีรูปร่างคล้ายหมวกสามมุมขนาดโตกว่าปลายนิ้วเล็กน้อย หนักพอๆกับเหรียญบาท (เล็ก) หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของต่อมนี้ก็คือการสังเคราะห์ฮอร์โมนประมาณ 50 ชนิด ซึ่งในแต่ละวันจะผลิตได้ประมาณ 1/1,000 ของ 1 ออนซ์ (1 ออนซ์=28.35 กรัม) ก็จริง แต่ฮอร์โมนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของคนเราอย่างมากทีเดียว

ถ้าพูดถึงโครงสร้างของต่อมชนิดนี้แล้วจะพบว่า ประกอบด้วยส่วนที่มีตาข่ายเส้นเลือดอยู่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในร่างกาย ใน 1 นาทีจะมีเลือดไหลผ่านคิดเป็นน้ำหนักได้ประมาณ 6 เท่าของน้ำหนักต่อมนี้ ในเวลาที่ร่างกายอยู่ในภาวะปกติ การผลิตฮอร์โมนได้เพียงร้อยละ 10 ก็สามารถเพียงพอกับความต้องการ แต่ถ้าอยู่ในภาวะที่ร่างกายตึงเครียดอย่างหนัก เช่น ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ป่วยหนัก การลดความสามารถในการผลิตฮอร์โมนเช่นนี้ก็สามารถทำให้คนๆนั้นมีอาการเพียบหนักลงได้เนื่องจากขาดฮอร์โมนที่จะคุ้มกันให้พ้นจากความเครียดนั่นเอง

ในต่อมหมวกไตแต่ละข้างจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแกนข้างใน เรียกว่า “เมดุลลา”  (medulla) และส่วนเปลือกที่เรียกว่า “คอร์เท็กซ์” (cortex) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะผลิตฮอร์โมนคนละชุดกัน ส่วนแกนในนั้นจะมีเส้นประสาทติดต่อกับสมองโดยตรง ฉะนั้น ในกรณีที่คนเราเกิดอารมณ์อย่างรุนแรง เช่น โกรธเสียจนหน้าแดง หรือกลัวจนตัวสั่นในสภาวการณ์เช่นนี้ต่อมหมวกไตจึงต้องเตรียมความพร้อมให้เรารู้ว่าจะสู้หรือหนีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และในทันทีที่เกิดความตึงเครียดขึ้นมา เมดุลลาจะเริ่มจ่ายฮอร์โมน 2 ชนิด คือ อะดรีนาลิน (adrenalin) และนอร์อะดรีนาลิน (noradrenalin)

เมื่อถึงตอนนี้การตอบสนองของร่างกายจะเป็นไปอย่างโลดโผนพิสดารผิดปกติ ตับก็เริ่มจ่ายน้ำตาลที่สะสมไว้ให้แก่เลือด ทำให้เกิดมีพลังงานขึ้นมาในฉับพลัน และฮอร์โมนนี้จะไปปิดเส้นเลือดตามผิวหนัง มีผลทำให้ผิวซีดลง และพร้อมกันนี้ก็จะนำเอาเลือดที่ไม่ผ่านทางผิวหนังนี้ไปเพิ่มให้แก่กล้ามเนื้อและอวัยวะภายในบางอย่าง หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น เส้นเลือดแดงกระชับแน่น ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น การย่อยอาหารจะหยุดทำงาน การแข็งตัวของเลือดจะสั้นลง เป็นการเผื่อเอาไว้สำหรับกรณีที่มีบาดแผลเกิดขึ้น

ทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้นนี้เสร็จสิ้นลงในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่ในช่วงระยะเวลาอันสั้นนั้น คุณจะสามารถสวมวิญญาณ “มนุษย์จอมพลัง” ได้ทันที เช่น ถ้าหากว่าต้องการวิ่งให้เร็วขึ้น หรือยกน้ำหนักให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม หรืออื่นๆ เพื่อความอยู่รอดแล้วล่ะก็ คุณก็สามารถทำได้ทุกอย่างน่ะแหละ นั่นก็เพราะฮอร์โมนตัวนี้นี่เอง คุณอาจจะคิดว่าน่าเสียดายที่การกระตุ้นร่างกายในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ทราบหรือไม่ว่าถ้าเป็นเช่นนี้นานๆ ก็ทำให้คุณแย่ได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีตัวป้องกันที่ต้องทำงานพร้อมๆกันไป คือ เมื่ออารมณ์ตึงเครียดนั้นทำให้อะดรีนาลินหลั่งออกมา ขณะเดียวกันก็ไปทำให้ไฮโปทาลามัสส่งสัญญาณไปเตือนให้ต่อมใต้สมองหรือต่อมพิทูอิทารี (pituitary glands) ปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า เอ.ซี.ที.เอช. (ACTH – Adreno Corticotrophic Hormone) ออกมา ซึ่งสารนี้จะไปกระตุ้นคอร์เท็กซ์เพื่อให้เร่งผลิตฮอร์โมนของมันออกมาให้มากขึ้น เพื่อช่วยรักษาระดับความดันเลือดและการไหลของเลือดไปสู่อวัยวะสำคัญๆ ในร่างกาย รวมทั้งช่วยเปลี่ยนไขมันและโปรตีนให้เป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที และในไม่ช้าทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติอีกครั้งหนึ่ง

จากหน้าที่การทำงานของต่อมหมวกไตจะเห็นได้ว่า อะดรีนาลินนั้นก่อผลแก่ร่างกายทั้งในเชิงบวกและลบ และที่สำคัญฮอร์โมนนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเครียด วิตกกังวล โดยการที่ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนชนิดนี้ออกมาในปริมาณมากเมื่อเกิดความเครียดดังได้กล่าวมาแล้ว มีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูงขึ้น ซึ่งถ้าหากว่าร่างกายเกิดภาวะเช่นนี้ต่อเนื่องกันบ่อยๆ อาจเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นโรคความดันเลือดสูงก็ได้

ฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่าเป็นคนที่จริงจังกับชีวิตมากจนเกินไป และพบว่า บ่อยครั้งที่มักจะเครียด และวิตกกังวลบ่อยๆ ก็น่าจะหาวันสบายๆส่วนตัวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือออกกำลังกายกันบ้าง และเพื่อช่วยดึงความสดใสไล่ความเครียดออกไปจากสังคมไทย ทุกคนควรใช้ฮอร์โมนอะดรีนาลินกันให้ประหยัดๆ หน่อยก็จะดีนะคะ

ข้อมูลจาก J.D.Ratcliff สรีรวิทยาสำหรับประชาชน (Your body and how it works). มงคล เดชนครินทร์, แปล. กรุงเทพฯ

ข้อมูลสื่อ

161-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
สุกาญจน์ เลิศบุศย์