การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 14)
คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงจะรู้สึกหัวเสียเมื่อตื่นขึ้นมา พบว่า เช้านี้ลูกน้อยทำที่นอนเปียกอีกแล้ว เพราะนั่นหมายถึงงานทำความสะอาดที่สร้างภาระให้แก่คุณเพิ่มขึ้นในวันทำงานอันแสนจะวุ่นวายอยู่แล้ว และทั้งที่รู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่จะมีเป็นประจำเสียจนอาจจะเรียกว่าเป็นปัญหาของครอบครัวอย่างหนึ่งก็ได้ ถึงกระนั้นคุณก็ยังคิดไม่ออกว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดี ปัญหานี้ไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องรู้สาเหตุของอาการนี้ก่อน
8. ปัสสาวะขณะหลับ (bed wetting, nocturnal enuresis, functional enuresis) คือ การปัสสาวะรดที่นอนโดยไม่รู้ตัวเป็นประจำในขณะหลับ ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติทางกาย เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือผิดปกติ กระดูกหลังแยก (spinabifida) ลมชัก โรคระบบประสาท เบาหวาน เป็นต้น
เด็กอ่อนและเด็กเล็กจะปัสสาวะขณะหลับ (ปัสสาวะรดที่นอน) เป็นปกติ อาการปัสสาวะรดที่นอนจะลดน้อยลงๆ เมื่อโตขึ้น เมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 ปี อาการปัสสาวะรดที่นอนจะพบเพียงร้อยละ 10-20 ถ้าพ่อและแม่ไม่เคยปัสสาวะรดที่นอนตอนเด็กๆ แต่จะพบถึงร้อยละ 40 ถ้าพ่อหรือแม่เคยเป็นเช่นนั้น และอาจสูงถึงร้อยละ 75 ถ้าทั้งพ่อและแม่เคยเป็นเช่นนั้น ดังนั้น การจะวินิจฉัยว่าอาการปัสสาวะขณะหลับนั้นผิดปกติหลังอายุ 6 ขวบ ต้องคำนึงถึงกรรมพันธุ์โดยอาศัยประวัติของพ่อแม่ตอนเด็กๆ ด้วย (ซึ่งตัวพ่อแม่เองอาจจะจำไม่ได้ และอาจจะต้องซักประวัติจากปู่ย่าตายายก็ได้)
อาการปัสสาวะขณะหลับตั้งแต่เด็ก (primary nocturnal enuresis) ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ ส่วนอาการปัสสาวะขณะหลับที่เป็นใหม่ (secondary nocturnal enuresis) คือ ไม่มีปัสสาวะขณะหลับได้แล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 6-12 เดือนติดต่อกัน แล้วกลับปัสสาวะขณะหลับอีก มักเกิดจากปัญหาทางกายหรือทางใจ เช่น การมีน้อง (เกิดใหม่) เด็กอาจอิจฉาน้อง ต้องการให้พ่อแม่สนใจตนบ้าง จึงเริ่มปัสสาวะรดที่นอนใหม่ และถ้าสังเกตให้ดี บางครั้งเด็กอาจตื่นแล้วจึงปัสสาวะรดที่นอน (ไม่ได้ปัสสาวะรดที่นอนขณะหลับ) เพราะต้องการให้พ่อแม่มาสนใจดูแลตนบ้าง ในผู้ใหญ่ที่ปัสสาวะขณะหลับมักเกิดจากปัญหาทางระบบประสาท (เป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต) ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต มดลูกหย่อนยานมาก เบาหวาน เป็นต้น
การรักษา : อาการปัสสาวะขณะหลับนานๆครั้ง (ไม่เป็นประจำ) อาจเกิดได้ทั้งในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะถ้าอ่อนเพลีย หรือไม่สบายมาก จนไม่สามารถควบคุมหูรูดกระเพาะปัสสาวะได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรักษาอาการปัสสาวะขณะหลับในกรณี ให้รักษาสาเหตุของความอ่อนเพลียและความไม่สบายแล้วอาการปัสสาวะขณะหลับจะหายเอง
อาการปัสสาวะขณะหลับอาจเกิดในระยะหลับสนิทหรือไม่สนิทก็ได้ ส่วนใหญ่จะเกิดได้ในทุกระยะของการหลับแบบตาไม่กระตุก (ไม่ค่อยเกิดในช่วงการหลับแบบตากระตุก) การปลุกเด็กที่หลับสนิทเพื่อลุกขึ้นมาปัสสาวะก่อนที่จะปัสสาวะรดที่นอนบางครั้งจึงปลุกไม่ตื่น เพราะเด็กเล็กๆที่หลับสนิท (ระยะที่ 4) จะปลุกให้ตื่นได้ยากมาก ดังนั้นการปลุกให้เด็กตื่นมาถ่ายปัสสาวะก่อนจะปัสสาวะรดที่นอนควรจะกระทำหลังจากเด็กหลับไปแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือประมาณเวลาก่อนที่เด็กจะปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ และควรจะปลุกเด็กขณะที่เด็กหลับตื้นๆ เช่น ขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือเปลี่ยนท่านอน จะปลุกได้ง่ายกว่า และรบกวนการหลับนอนของเด็กน้อยกว่า ทำให้เด็กไม่งัวเงียตอนตื่นขึ้นมาปัสสาวะ และจำการตื่น การถ่ายปัสสาวะ และการควบคุมการถ่ายได้ดีกว่า นอกจากนั้นยังไม่ทำให้พ่อแม่ (ผู้ปลุก) อารมณ์เสียจากการที่ปลุกเด็กแล้วเด็กตื่นยาก (เพราะกำลังหลับสนิท) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเคร่งครัดหรือเข้มงวดกับเด็กมากเกินไปในเรื่องปัสสาวะขณะหลับ โดยที่เด็กยังอายุน้อย (ต่ำกว่า 7-10 ปี) หรือเด็กยังไม่สนใจที่จะควบคุมการถ่ายปัสสาวะ จะไม่ได้ผลดี โดยเฉพาะถ้าการเคร่งครัดหรือเข้มงวดเกินไปนั้นทำด้วยอารมณ์ขุ่นเคืองหรือไม่พอใจ หรือร่วมด้วยการดุว่าลงโทษทำให้เด็กเกิดปมด้อย และถูกล้อเลียนโดยพี่น้อง คนรับใช้ หรือเด็กอื่นๆ ในบ้านหรือที่โรงเรียน เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังทางจิตใจต่อไปในอนาคต
การฝึกเด็กในเรื่องการถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ จึงควรทำด้วยความรัก ความเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์ และใช้การให้รางวัล (เช่นคำชมเชย การกอดรัดด้วยความชื่นชม) มากกว่าการลงโทษ (การดุว่า การคาดคั้น การตี การหยิก หรืออื่นๆ) จึงจะได้ผลดีมากกว่าผลเสีย เมื่อเด็กนั่งได้ดีแล้ว (อายุ 1 ปีขึ้นไป) เริ่มฝึกให้เด็กนั่งกระโถนถ่ายอุจจาระ เพราะอาการเบ่งก่อนถ่ายอุจจาระเป็นอาการที่สังเกตเห็นได้ง่าย และมักจะมีช่วงเวลาเล็กน้อยก่อนที่จะอุจจาระออกมา (ยกเว้นในกรณีท้องเดิน หรืออุจจาระร่วง) จึงมักจะมีเวลาพอที่จะหยิบกระโถนและอุ้มเด็กนั่งกระโถนได้ทัน ควรอยู่ข้างๆเด็กจนเด็กถ่ายเสร็จ ล้างก้นให้เด็ก ชมเชยเด็ก และกอดรัดด้วยความชื่นชมที่เด็กนั่งถ่ายในกระโถนได้สำเร็จ เด็กจะชินกับการถ่ายในกระโถน และง่ายต่อการฝึกการถ่ายปัสสาวะในกระโถนเมื่อโตขึ้น
เมื่อเด็กพูดได้ดีแล้ว (อายุ 2 ปีขึ้นไป) ฝึกให้เด็กเรียกพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเมื่อต้องการปัสสาวะหรืออุจจาระ พ่อแม่หรือญาติพี่น้องจะต้องอดทน ไม่รำคาญกับเสียงเรียก และต้องพาเด็กไปถ่ายในกระโถนหรือห้องส้วม โดยไม่แสดงอาการไม่พอใจ และควรให้รางวัล (คำชม ฯลฯ) ทุกครั้งที่เด็กเรียกและทำการถ่ายเป็นที่เป็นทางได้สำเร็จ เมื่อเด็กชินกับการถ่ายในกระโถนหรือในส้วมในขณะตื่นได้แล้ว การฝึกให้ไม่อุจจาระปัสสาวะรดที่นอนในขณะหลับจึงจะเริ่มขึ้นได้
โดยทั่วไป การอุจจาระขณะหลับมักหายไปเอง และหายไปก่อนการปัสสาวะขณะหลับหลายปี จึงไม่มีปัญหา นอกจากอุจจาระราดเป็นครั้งคราวเวลาท้องเดิน ซึ่งก็เป็นธรรมดา แม้แต่ในผู้ใหญ่ การฝึกไม่ให้เด็กปัสสาวะขณะหลับมักจะเริ่มกันเมื่อเด็กอายุ 5-6 ขวบขึ้นไป โดยในระยะแรกฝึกให้เด็กหัดกลั้นปัสสาวะก่อน เช่น เมื่อเด็กบอกว่าจะปัสสาวะ อาจบอกเด็กว่า “รอเดี๋ยวนะ เดี๋ยวแม่จะพาไป” หรือถอดกางเกงให้ หรืออื่นๆ เมื่อเด็กกลั้นปัสสาวะได้ ก็ต้องให้รางวัลด้วยคำชม หรือการกอดรัด แล้วค่อยๆหัดให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้นๆ ต่อมาให้เด็กฝึกหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ โดยในขณะที่ปัสสาวะอยู่ บอกให้เด็กหยุดถ่ายปัสสาวะสักพริบตาเดียว แล้วถ่ายใหม่ หยุดใหม่ สลับกันไปเช่นนี้พร้อมกับคำชมเชยจนเด็กรู้สึกสนุกในการถ่าย-หยุด-ถ่าย-หยุด-ถ่าย-หยุด เช่นนี้ หูรูดของกระเพาะปัสสาวะจะแข็งแรงขึ้น และจะทำให้กลั้นปัสสาวะในขณะหลับได้ดีขึ้น
อย่าให้เด็กดื่มน้ำ รวมทั้งนมและของเหลวอื่นมากนักตอนก่อนนอน หลังเด็กเข้านอนแล้ว 2-3 ชั่วโมง หรือกะเวลาก่อนที่เด็กจะปัสสาวะรดที่นอน (ซึ่งมักเป็นเวลาที่พ่อแม่กำลังจะเข้านอน) ให้ปลุกเด็กในขณะที่เด็กมีการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่านอน (เพราะเป็นช่วงที่หลับตื้นๆ) ให้ลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะเป็นประจำจนเด็กเคยชินและจะลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะในเวลาดังกล่าวก่อนนอนหลับต่อในกลางดึกที่พ่อหรือแม่ตื่นขึ้น ก็ควรจะแวะดูลูกว่าแฉะหรือยัง จะได้เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ลูกใหม่ หรือปลุกลูกให้ตื่นขึ้นปัสสาวะอีกสักครั้งหนึ่ง การฝึกเช่นนี้เป็นประจำ จะช่วยให้เด็กเคยชินและค่อยๆ หายจากการปัสสาวะรดที่นอนได้
การให้รางวัลในรูปแบบต่างๆสำหรับคืนที่ปัสสาวะรดที่นอนน้อยครั้ง หรือไม่ปัสสาวะรดที่นอนเลย เช่น การเขียนดาว 3 ดวงลงในสมุดบันทึก สำหรับการไม่ปัสสาวะรดที่นอนเลยใน 1 คืน 2 ดาวสำหรับการปัสสาวะรดที่นอน 1 ครั้งใน 1 คืน 1 ดาวสำหรับการปัสสาวะรดที่นอน 2 ครั้งใน 1 คืน และไม่ได้ดาวเลยถ้าเกิน 2 ครั้ง เป็นต้น จะเป็นสิ่งจูงใจให้เด็กพยายามที่จะไม่ปัสสาวะรดที่นอนบ่อยๆ จนหายจากการปัสสาวะรดที่นอนได้
การดุว่า ลงโทษ หรืออื่นๆจะให้ผลน้อยกว่า ในบางกรณี อาจใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าช่วยในการปลุกเด็กให้ตื่นในขณะที่เริ่มปัสสาวะรดที่นอน โดยวางขั้วไฟฟ้า (จากแบตเตอรี่ถ่านไฟฉายที่ต่อกับกริ่งปลุก) ไว้บริเวณก้น (บริเวณผ้าอ้อมตรงก้น หรือผ้าซับ ผ้าอนามัย) เมื่อปัสสาวะเปียกผ้าและขั้วไฟฟ้า ไฟฟ้าก็จะครบวงจร และกริ่งปลุกจะส่งเสียงดัง เพื่อปลุกให้เด็กตื่น เด็กก็จะได้ลุกขึ้นไปถ่ายปัสสาวะต่อในกระโถนหรือห้องส้วม การใช้เครื่องมือแบบนี้จะได้ผลต่อเมื่อเด็กสามารถกลั้นปัสสาวะได้แล้วในขณะตื่น และเด็กไม่หลับสนิทเกินไป
ถ้าได้ฝึกเด็กด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผลและเด็กมีปัญหาทางจิตใจจากการถูกล้อเลียนโดยพี่น้องหรืออื่นๆ การให้กินยาอิมิพรามีน (imipramine เม็ดละ 25 มิลลิกรัม) 1 เม็ดก่อนนอน อาจจะช่วยลดอาการปัสสาวะรดที่นอนลงได้ และต้องขอร้องให้ทุกคนเลิกล้อเลียนเด็กด้วย อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าอาการปัสสาวะรดที่นอนจนถึงอายุ 10-12 ปี อาจเป็นปกติได้ ถ้าพ่อแม่เคยเป็นเช่นนั้นเมื่อเป็นเด็ก จึงไม่ควรวิตกกังวลกับอาการปัสสาวะรดที่นอนมากเกินไป ในกรณีที่หายจากการปัสสาวะรดที่นอนมาแล้ว 6-12 เดือนแล้วกลับเป็นใหม่ ต้องหาสาเหตุ เช่น ในเด็ก อาจเกิดจากการอิจฉาน้องที่เกิดใหม่ หรืออื่นๆ ซึ่งพ่อแม่ต้องให้ความสนใจและแก้สาเหตุด้วย อาการปัสสาวะรดที่นอนจึงจะหายได้ ในผู้ใหญ่หรือเด็กที่ปัสสาวะรดที่นอนจากสาเหตุทางกายหรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ต้องให้การรักษาโรคเหล่านั้นให้ดีขึ้น อาการปัสสาวะรดที่นอนจึงจะดีขึ้น
- อ่าน 18,991 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้