• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลำคอ (ตอนจบ)

 ลำคอ (ตอนจบ)

 

ทุกวันนี้มีหลายอาชีพที่จำเป็นต้องอาศัยเสียงเป็นเครื่องยังชีพที่สำคัญ โดยเฉพาะอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมอยู่มากในขณะนี้ ได้แก่ ศิลปินนักร้อง และอาจรวมไปถึงดีเจ (disc jockey) หรือนักจัดรายการเพลงขวัญใจวัยรุ่นตามคลื่นวิทยุของสถานีต่างๆ และด้วยเสียงอันมีกังวานเสน่ห์น่าฟังของท่านเหล่านั้น ก็สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ฟังรู้สึกเคลิบเคลิ้มคล้อยตามในสิ่งที่พูดได้โดยง่าย

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าการใช้เสียงมิได้มีความสำคัญต่อบุคคลในอาชีพอื่นๆ ก็หาไม่ เพราะในโลกปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารถือเป็นสิ่งจำเป็น และสื่อที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ ภาษาพูด

ต้นกำเนิดของเสียง

บางคนอาจจะคิดว่าสายเสียง (vocal cord) เหมือนกับสายไวโอลิน และสั่นสะเทือนได้โดยอากาศที่ออกจากปอด แต่ตามความเป็นจริงแล้วสายเสียงนั้นมีลักษณะคล้ายริมฝีปากมากกว่า ลิ้นที่ปิดเปิดตามการเปลี่ยนแปลงของความแหลมหรือทุ้มของเสียงที่คนเราพูดนั้นเหมือนกับการขยับริมฝีปากเวลาที่เราผิวปากนั่นเอง

ด้วยลักษณะเช่นนี้ “สายเสียง” น่าจะได้รับชื่อใหม่ว่า “กลีบเสียง” จะเหมาะกว่าตามลักษณะรูปร่างและวิธีการทำงานของมัน อันว่ากลีบเสียงนี้มีระบบกล้ามเนื้อที่ซับซ้อนคอยควบคุมอยู่ การเปิดกว้างของกลีบเสียงจะทำให้เสียงที่ออกมามีลักษณะทุ้ม และหากมันหุบแคบลงจะทำให้เกิดเสียงแหลม และในเวลาที่เรากลืนอาหาร กลีบเสียงจะปิดแน่นสนิท นี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราจึงพูดไม่ได้ในขณะที่กำลังกลืนอาหารอยู่

ทางเดินของเสียง

ทางเดินของเสียง (vocal tract) คือส่วนที่ยาวประมาณ 7 นิ้ว จากกล่องเสียงไปจนถึงริมฝีปากนั้น ทำงานคล้ายๆ กับท่อออร์แกนขนาดเล็ก ในขณะที่ลำอากาศจากปอดฝ่ากลีบเสียงออกไปนั้น เสียงที่ดังจะขึ้นอยู่กับความกว้างของช่องกลีบเสียง และแถบสั่นสะเทือนอันเป็นสายใยเหนียวๆ ตามขอบกลีบเสียงนั้นยืดออกไปมากน้อยเพียงใด

ในเวลาที่เราเปลี่ยนจากเสียงบ่นอุบอิบไปเป็นเสียงร้องหวีดแหลม แถบสั่นสะเทือนดังกล่าวจะยืดออกประมาณ 1/4 นิ้ว (แถบสั่นสะเทือนของพวกนักร้องโอเปร่าที่ฝึกหัดดีแล้วจะสามารถยืดออกได้ประมาณ 1/2 นิ้ว) เสียงที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้เมื่อผ่านกระบวนการขัดเกลาตกแต่งเสียงจากอวัยวะบางส่วน เช่น ริมฝีปาก ลิ้น ท่อทางเดินอากาศในจมูก และเพดานปาก ก็จะเกิดเป็นคำพูดที่เป็นภาษาของแต่ละชาติที่สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจกันได้

ทอนซิล – หน่วยปราบศัตรู

บริเวณลำคอของคนเราจะมีต่อมทอนซิล ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลือง (lymph gland) ชนิดหนึ่งอยู่ตรงข้างในลำคอทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังมีต่อมน้ำเหลืองอีกต่อมหนึ่งคือต่อมอะดีนอยด์อยู่ที่ปลายด้านในของท่อทางเดินอากาศของจมูก (nasal tract) ประโยชน์ของทอนซิลนี้ คือ จะทำหน้าที่ดักพวกแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสต่างๆ ทั้งที่มากับอากาศและอาหารที่บุกรุกเอาเข้าไปไว้ตามซอกโพรงของมัน แล้วเซลล์เม็ดเลือดที่ชื่อว่า ฟาโกไซต์ (phagocyte) ก็จะมาจับแบคทีเรียกิน เหมือนกับที่แมงมุมจับแมลงที่ติดอยู่ตามใยของมันกินเป็นอาหาร ในเวลาที่ต่อมทอนซิลเกิดติดเชื้อ มีอาการอักเสบ หรือขยายโตขึ้น นั่นก็หมายความว่า ต่อมพวกนี้ได้พ่ายแพ้ต่อเชื้อโรคเท่านั้นเอง แพทย์จะบำบัดรักษาให้องครักษ์น้อยๆ เหล่านี้กลับมีสุขภาพดีดังเดิมด้วยยาปฏิชีวนะ มีเพียงบางรายที่เป็นเรื้อรังบ่อยๆ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาทอนซิลออกไป

ไอ – สุนัขเฝ้าคอ

อาการไอเป็นอาการตอบสนองโดยอัตโนมัติ (reflex) ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย หลายคนพากันเรียกอาการไอว่าเป็น “สุนัขเฝ้าคอ” (watchdog of the throat) อาการไอนี้เรียกได้ว่าเป็นวิธีป้องกันตัวเองของลำคอเพื่อให้รอดพ้นจากสิ่งที่ระคายเคือง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นน้ำมูก อาหาร หรือเครื่องดื่ม ที่บังเอิญเดินผิดทางมาหรือแม้แต่ควันบุหรี่ก็ตาม ด้วยความพยายามที่จะขับไล่สิ่งที่มารบกวน ลำคอจึงใช้วิธีดูดอากาศเข้ามากักไว้ แล้วปล่อยมันออกไปด้วยแรงระเบิดที่มีความเร็วประมาณ 200 ไมล์ต่อชั่วโมง

ตอนนี้ก็เข้าหน้าหนาวแล้ว ก็อยากฝากให้ผู้อ่านทุกท่านหมั่นดูแลรักษาเนื้อรักษาตัว รักษาลำคอกันไว้ให้ดี ระวังอย่าให้อาการหวัดมารบกวนลำคอคุณได้นะคะ
 

ข้อมูลสื่อ

164-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 164
ธันวาคม 2535
สุกาญจน์ เลิศบุศย์