• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนจบ)

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนจบ)


15. อาการชักขณะหลับ อาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น

15.1 โรคลมชักหรือลมบ้าหมู ผู้ป่วยโรคลมชักที่ชักทั้งตัวจะมีเกือบครึ่งหนึ่งที่ชอบชักในขณะหลับ และมีประมาณร้อยละ 10 ที่มีอาการชักเฉพาะเวลาหลับเท่านั้น ผู้ป่วยโรคลมชักจำนวนมากจะหลับไม่ปกติ โดยการหลับในระยะที่ 1 มักจะยาวขึ้น แต่การหลับในระยะที่ 3 และ 4 (การหลับสนิท) จะลดลง ส่วนการหลับแบบตากระตุกมักจะไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นในกรณีที่ชักเมื่อเพิ่งหลับได้ไม่นาน การหลับแบบตากระตุกอาจจะลดลงไปหลายชั่วโมงหลังจากนั้น

การรักษา : ถ้ามีอาการชักในขณะหลับ ควรเพิ่มยาป้องกันอาการชัก ผู้ป่วยโรคลมชักที่หลับไม่ปกติ ควรกินยาฟีโนบาร์บ (phenobarb) ก่อนนอน ยาตัวนี้ใช้รักษาอาการชัก และช่วยให้หลับมากขึ้น

15.2 โรครำชักกลางคืน (paroxysmal nocturmal dystonia) มีอาการคล้ายโรคลมชักชนิดหนึ่ง (complex partial siezure) ที่ผู้ป่วยมักจะส่งเสียงร้อง มีการเคลื่อนไหวของแขนขาคล้ายท่ารำ หรือชัก แต่ผิดกับโรคลมชัก เพราะผู้ป่วยมักจะรู้ตัว (ไม่หมดสติ) มักจะกลัวมาก แต่ไม่สามารถระงับการเคลื่อนไหวของแขนขาได้ ไม่มีอาการนำ ไม่มีอาการสับสนเลอะเลือนหลังชัก และคลื่นไฟฟ้าสมอง (ECG) ปกติ อาการมักจะเกิดในเวลากลางคืน ผู้ป่วยจะตื่นขึ้นทันทีแล้วลุกพรวดพราดขึ้นนั่ง ร้องเสียงดัง แล้วมีการรำ ชักกระตุก ศีรษะและลำตัวอาจสั่นเครือ บิดเบี้ยวผิดปกติ หน้าตามักจะแสดงอาการตื่นตกใจ หรือยิ้มแสยะ ผู้ป่วยจะไม่ตอบคำถามในขณะที่เป็น อาการจะเป็นอยู่ไม่กี่วินาที (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที) แล้วจะหยุดลงอย่างกะทันหันเช่นเดียวกับตอนเริ่มต้น ในวันรุ่งขึ้นผู้ป่วยอาจบ่นว่าหลับไม่สนิท และรู้สึกอ่อนเพลียกว่าปกติ อาการจะเกิดในช่วงการหลับแบบตาไม่กระตุก หรือในช่วงที่จะเปลี่ยนเป็นการหลับแบบตากระตุก โรคนี้มักจะเริ่มเป็นในวัยเด็กหรือวัยรุ่น และอาการจะเป็นมากขึ้นและถี่ขึ้นเมื่อโตขึ้น

การรักษา : โรคนี้จะตอบสนองต่อยาคาร์บามาซีพีน (carbamazepine) อะมิทริปไทลีน (amitriptyline) และอิมิพรามีน (imipramine) เป็นต้น

15.3 โรครำชักเรื้อรัง (chronic chorea) เป็นโรคที่สืบทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ต่อมามีอาการรำชัก สมองจะเสื่อมมากขึ้นๆ ตามอายุ จนในที่สุดมีปัญหาเรื่องการกลืนอาหารและการหายใจ เมื่อเริ่มเป็นใหม่ๆ จะไม่มีอาการรำชักในขณะหลับ แต่เป็นมากขึ้น จะมีอาการในขณะหลับด้วย และช่วงการหลับระยะที่ 2-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก และช่วงการหลับแบบตากระตุกจะลดลงๆ เมื่อโรคเป็นมากขึ้นๆ

การรักษา : การใช้ยาโซเดียมวัลโพรเอต (sodium valproate) อาจช่วยให้หลับได้ดีขึ้น

ตัวอย่างอาการที่เกิดร่วมกับการหลับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คงจะเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความหลากหลายของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะหลับ อาการบางอย่างเป็นสิ่งที่คนทุกคนเคยประสบด้วยตนเอง และไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ แต่บางคนก็เอาไปทึกทักหรือทำนายทายทักให้กลายเป็นสิ่งผิดปกติไป เช่น ความฝัน เป็นต้น แต่อาการบางอย่างที่เกิดขึ้นในขณะหลับอาจเป็นสิ่งผิดปกติได้ การเรียนรู้และทำความเข้าใจในอาการต่างๆ ที่เกิดในขณะหลับจะทำให้สามารถแนะนำและดูแลรักษาอาการเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

อาการหลับไม่ปกติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ลักษณะการหลับปกติ อาการนอนไม่หลับ อาการหลับมาก หรือง่วงมาก และอาการที่เกิดร่วมหรือเกิดขึ้นในขณะหลับ ดังที่ได้กล่าวไว้ในหมอชาวบ้านตั้งแต่ ฉบับที่ 148 จนถึงฉบับปัจจุบัน คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ และนำไปปฏิบัติได้ตามควรแก่กรณีต่อไป

ข้อมูลสื่อ

164-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 164
ธันวาคม 2535
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์