การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 1)
อาการเลือดออก (blooding หรือ hemorrhage) หมายถึง การที่เลือดไหลออกนอกหลอดเลือด (เส้นเลือด) ซึ่งบางครั้งก็เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกรณีที่เลือดไหลออกจากบาดแผลที่ผิวหนัง ซึ่งจะเห็นเป็นน้ำสีแดงข้นๆ อาจจะเป็นสีแดงสดหรือสีแดงคล้ำๆ ไหลออกจากบาดแผล
ถ้าเป็นสีแดงสด แสดงว่า เลือดที่ออกนั้นออกจากหลอดเลือดแดง (artery) หรือหลอดเลือดฝอย (capillary) มีออกซิเจนมาก จึงแดงสด
ถ้าเป็นสีแดงคล้ำ (สีแดงดำ หรือสีของก้อนเลือดหมู หรือก้อนเลือดเป็ด) แสดงว่า เลือดที่ออกนั้นออกจากหลอดเลือดดำ (vein) มีออกซิเจนน้อย จึงเป็นสีแดงคล้ำ
การที่เลือดไหลออกนอกหลอดเลือดได้ แสดงว่าหลอดเลือดตรงนั้นฉีกขาด หรือถ้าไม่ฉีกขาดจนเห็นได้ก็แสดงว่าเลือดไม่สามารถแข็งตัวอุดรูรั่วเล็กๆตามผนังหลอดเลือดได้
ในภาวะปกติ ถ้าเริ่มมีรอยปริหรือรูรั่วเล็กๆ ที่ผนังหลอดเลือด เกร็ดเลือด (platelet) จะจับกลุ่มกันเพื่ออุดรอยปริหรือรูรั่วเหล่านั้นทันที และจะสลายตัวกระตุ้นให้โปรตีนบางชนิดในน้ำเลือดแข็งตัวเพื่ออุดรอยปริหรือรูรั่วนั้นให้แน่นหนาขึ้น เลือดที่ไหลออกนอกหลอดเลือดก็จะแข็งตัวเช่นเดียวกันเมื่อถูกกับอากาศ หรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากภายในหลอดเลือด ดังนั้น เมื่อเลือดไหลออกจากบาดแผลที่ผิวหนังสักครู่ เลือดที่แต่เดิมเป็นน้ำหรือของเหลว จะจับตัวกันเป็นวุ้นหรือเป็นก้อนปิดปากแผลนั้น หลอดเลือดที่ฉีกขาดจะพยายามหดตัวรัดปากแผลที่ผนังหลอดเลือดให้เล็กลง เพื่อให้เลือดไหลออกจากหลอดเลือดยากขึ้น ประกอบกับที่มีก้อนเลือดมาอุดปากแผล เลือดก็จะไหลออกช้าลงๆ จนในที่สุดเลือดจะหยุดไหล (เลือดจะหยุดออก) โดยตัวของมันเองได้ ถ้าบาดแผลนั้นไม่ใหญ่จนเกินไป และเลือดสามารถแข็งตัวได้ตามปกติ
ดังนั้น เมื่อหนามหรือเข็มแทงนิ้วหรือผิวหนังส่วนใดของร่างกายในตอนแรกจึงมีเลือดไหลออกมาตรงรอยที่ถูกแทง ต่อมาสักพักเลือดจะไหลออกมาช้าลง และเลือดที่ไหลออกมาจะจับตัวเป็นก้อนตรงบาดแผล แล้วในที่สุดเลือดก็จะหยุดออก แต่ถ้าไปเช็ดเลือด (หรือก้อนเลือด) ตรงปากแผลตลอดเวลา เลือดจะออกนานขึ้น เพราะไม่สามารถเกิดก้อนเลือดไปอุดปากแผลที่ผนังหลอดเลือดได้
อาการเลือดออก อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. เลือดออกภายนอก (external hemorrhage) หมายถึง อาการเลือดออกที่เห็นเลือดไหลออกมาภายนอกร่างกาย เช่น เลือดออกจากบาดแผลที่ผิวหนัง เลือดกำเดา (เลือดออกจากรูจมูก) เลือดออกจากการถอนฟัน เลือดออกจากริดสีดวงทวารหนัก เลือดออกทางช่องคลอด (เช่น ประจำเดือน ตกเลือดหลังคลอดบุตรหรือแท้งบุตร เป็นต้น)
2. เลือดออกภายใน (internal hemorrhage) หมายถึง อาการเลือดออกที่ไม่เห็นเลือดไหลออกมาภายนอกร่างกาย เช่น เลือดออกในสมอง (เส้นเลือดในสมองแตก) เลือดออกในช่องท้อง (เช่น ท้องนอกมดลูกแตก) เลือดออกในสะโพกตรงบริเวณที่กระดูกสะโพกหัก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บางครั้งแม้เลือดจะออกภายใน แต่เลือดนั้นอาจถูกขับออกมา ทำให้เรารู้ว่ามีเลือดออกภายในได้ เลือดที่ออกในหลอดลมหรือปอด อาจถูกขับออกมาในการไอ ที่เรียกว่า ไอเป็นเลือด (hemoptysis) หรือเสมหะเป็นเลือด หรือปนเลือด (bloody sputum) เลือดที่ออกในหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น อาจถูกอาเจียนออกมาให้เห็นเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นของเหลวสีดำหรือสีน้ำตาลดำ ซึ่งเกิดจากเลือดทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารแล้วเปลี่ยนสีไปเรียกว่า อาเจียนเป็นเลือด (hematemesis)
ถ้าไม่อาเจียนออกมาในวันแรกๆ วันต่อมาอาจจะถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ เป็นของเหลวสีดำคล้ายเฉาก๊วยหรือยางมะตอยเละๆ เรียกว่า อุจจาระดำเหลว (melena) ถ้าอุจจาระสีดำ แต่เป็นก้อนแข็งมักเกิดจากท้องผูก ไม่ใช่เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดที่ออกในลำไส้ใหญ่มักถูกขับออกมาทางทวารหนัก โดยออกมาเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นเลือดสีคล้ำ (แต่มักไม่คล้ำจนเป็นสีดำ) อาจออกมาพร้อมกับอุจจาระ หรือออกมาเองก็ได้ เรียกว่า เลือดออกทางทวารหนัก (rectul or anal blooding)
เลือดที่ออกในมดลูก จะถูกขับออกมาทางช่องคลอด เรียกว่า เลือดออกทางช่องคลอด (vaginal blooding) ซึ่งอาจจะเป็นระดูหรือประจำเดือน ถ้ามาตามกำหนดทุกเดือนหรือมาตามปกติ แต่อาจเกิดจากสาเหตุหรือโรคถ้าเลือดออกมาผิดกำหนดหรือออกมากผิดปกติจนเป็นก้อน
เลือดที่ออกใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ตื้นๆมักจะมองเห็นได้ อาจเห็นเป็น รอยฟกช้ำดำเขียว (bruise) หรือเป็น ปื้นสีแดง หรือสีม่วงดำที่ชาวบ้านเรียกว่า พรายย้ำ หรือ จ้ำเลือด (purpura หรือ ecchymosis) หรือเป็นจุดสีแดงๆ คล้ายรอยยุงกัด ที่เรียกว่า จุดเลือดออก (petechial hemorrhage) ที่พบในโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
การวินิจฉัย อาการเลือดออกส่วนใหญ่จึงสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่ยากเกินไป ชาวบ้านมักจะวินิจฉัยได้เอง โดยเฉพาะถ้ามีเลือดออกมาให้เห็นในรูปของเลือดสดหรือของเหลวสีดำ หรือสีดำแดง ส่วนอาการเลือดออกภายในหรือตกเลือดภายใน (internal hemorrhage) ที่ไม่ถูกขับถ่ายออกมาภายนอกจะวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก แต่อาจจะสังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยซีดลงมาก (หน้าตาและริมฝีปากขาวซีด เล็บมือเล็บเท้าขาวซีด) บริเวณที่มีเลือดออกมักจะบวมขึ้นหรือมีอาการเจ็บปวด หรือมีสาเหตุที่ทำให้สงสัยว่าจะมีเลือดออกภายใน เช่น กระดูกหัก เป็นต้น
การวินิจฉัยอาการเลือดออกภายในที่ไม่ถูกขับถ่ายออกมาให้เห็นมักต้องการประสบการณ์ของผู้ตรวจรักษา ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยซีดลงมากในเวลารวดเร็วเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงโดยไม่เห็นอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือไม่เห็นเลือดออกภายนอก (external hemorrhage) ให้สงสัยว่าน่าจะมีเลือดออกภายใน (internal hemorrhage) ต้องส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุโดยด่วน
การตรวจรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออก ต้องรีบตรวจรักษา ดังนี้
1. ดูว่าผู้ป่วยมีอาการหนักหรือฉุกเฉินไหม (ดูวิธีวินิจฉัยอาการหนักหรือฉุกเฉินใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64-65)
ก. ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักหรือฉุกเฉิน เช่น เลือดออกมาก (เลือดไหลออกมาตลอดเวลาและออกมาก เลือดไหลพุ่งออกมา หรือไหลออกมาอย่างแรง หรือไหลออกมาเป็นสีแดงสด และไหลพุ่งเป็นจังหวะ) ผู้ป่วยหน้ามืดเป็นลมหรือหมดสติ ซีดมาก ชีพจรเต้นเร็วมาก ความดันเลือดตกมาก เป็นต้น ให้รีบตรวจรักษา ดังนี้
ก.1 ต้องรีบห้ามเลือดทันที ถ้าเห็นบาดแผล หรือจุดที่เลือดออกโดย
1. ใช้มือกดลงบนบาดแผล หรือปากแผลที่มีเลือดออก ถ้ามีผ้าสะอาด เช่น ผ้าเช็ดหน้า อาจจะพับผ้าเป็นชิ้นขนาดบาดแผลเพื่อปิดแผล แล้วใช้มือกดบนชิ้นผ้าแทนที่จะกดลงบนบาดแผลโดยตรงก็ได้ แต่ไม่ควรเสียเวลามองหาหรือควานหาผ้าเพื่อใช้ปิดแผล ควรจะรีบกดลงบนบาดแผลเพื่อให้เลือดหยุดก่อน แล้วค่อยหาผ้ามาช่วยเมื่ออาการเลือดออกดีขึ้นแล้ว
มือที่ใช้กดลงบนบาดแผลของผู้ป่วยจะต้องสะอาด และไม่มีรอยขีดข่วนหรือบาดแผลใดๆ เพื่อจะได้ไม่ถ่ายทอดเชื้อโรคลงไปในบาดแผลของผู้ป่วย หรือรับเชื้อโรคจากเลือดหรือจากบาดแผลของผู้ป่วยมาสู่ตนเอง ในกรณีที่มีถุงมือยางที่สะอาดอยู่ใกล้ตัว ควรจะสวมถุงมือยางทันทีที่ทำได้ก่อนกดบาดแผลของผู้ป่วย ถ้ากดลงบนปากแผลหรือบาดแผลแล้วเลือดยังออกอยู่ ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่บาดแผลใหญ่มากและมีการฉีกขาดของหลอดเลือด (เส้นเลือด) ใหญ่หรือเส้นเลือดหลายเส้นให้ทำขั้นตอนที่ 2-3
2. ใช้มือกดลงบนบริเวณที่มีหลอดเลือดใหญ่ผ่าน อาจใช้ปลายนิ้วมือกดหรือใช้ข้อมือกดก็ได้ บริเวณที่หลอดเลือดแดงอยู่ลึกและมีขนาดใหญ่ เช่น ที่ขาหนีบ การใช้ข้อมือกดจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกว่า การใช้ปลายนิ้วมือกด และจะทำให้ผู้กดไม่เกิดอาการเมื่อยล้าได้ง่าย ถ้าเลือดยังออกอยู่ และจุดที่เลือดออกอยู่บริเวณแขนและขา อาจใช้ขั้นตอนที่ 3
3. การรัดแขนหรือขาที่มีบาดแผลเลือดออก โดยใช้เชือกหรือเศษผ้ายาวๆ รัดรอบต้นแขนหรือต้นขา (อย่าไปรัดปลายแขนหรือปลายขาที่ต่ำจากข้อศอกหรือข้อเข่าลงมาจะไม่เกิดผล) เหนือบริเวณที่มีบาดแผลเลือดออก แล้วรัดให้แน่นพอที่เลือดจะหยุดไหลมาก นั่นคือ รัดให้แน่นพอที่เลือดจะยังไหลซึมๆ ออกมาได้ (ไม่รัดจนเลือดหยุดสนิท เพราะจะทำให้แขนหรือขาส่วนปลายตายจากการขาดเลือดได้) แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่ชำนาญในการทำแผล และแผลที่มีเลือดออกสะอาดดีแล้ว อาจใช้วิธีเย็บปิดบาดแผล โดยเฉพาะตรงจุดที่เลือดออก หรือถ้ามองเห็นเส้นเลือดที่ฉีกขาด อาจเย็บหรือผูกเส้นเลือดตรงจุดที่เลือดออกก็ได้
- อ่าน 65,733 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้