• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปฏิสนธิชีวิตใหม่

ปฏิสนธิชีวิตใหม่


ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ ก็อยากจะขอเริ่มต้นปีด้วยเรื่องราวของความ “ใหม่” ดังที่จั่วหัวข้อไว้ จากที่เคยเสนอแต่เฉพาะเรื่องการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย แต่คราวนี้ลองมองย้อนกลับมาดูกันสิคะว่า กว่าที่อวัยวะเหล่านั้นจะมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มศักยภาพ จุดกำเนิดชีวิตได้เริ่มต้น ณ ที่ใด

มนุษย์แต่ละคนได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากหน่วยชีวิตเล็กๆ จำนวนหลายพันล้านหน่วย ซึ่งจะขอเรียกหน่วยชีวิตเหล่านี้ว่า “เซลล์” และในจำนวนเซลล์เหล่านี้มีอยู่ 2 ชนิด ซึ่งเป็นที่มาของการปฏิสนธิชีวิตใหม่ นั่นคือ เซลล์ไข่ และเซลล์อสุจิ อันว่าเซลล์ไข่นั้นได้ถูกผลิตขึ้นในร่างกายของผู้ที่เป็น “แม่” ส่วนเซลล์อสุจินั้นเกิดขึ้นในร่างกายของ “พ่อ” และเมื่อเซลล์ 2 ชนิดนี้มาพบและผสมเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นเซลล์ใหม่ เราเรียกปฏิกิริยาการพบกันของเซลล์ทั้งสองชนิดนี้ว่า การตั้งครรภ์ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้จะพัฒนาเป็นทารกในเวลาต่อมา

เซลล์ไข่

เซลล์ไข่นี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า โอวัม (ovum) เมื่อแรกที่ทารกหญิงเกิด แม่หนูน้อยเธอก็มีเซลล์ไข่ถึง 5 แสนเซลล์เก็บสต็อกไว้ในรังไข่ในกายเธอเรียบร้อยแล้ว เมื่อเด็กน้อยเริ่มเติบโตเป็นสาวย่างเข้าวัยรุ่น รังไข่จะผลิตไข่สุกซึ่งพร้อมที่จะทำให้เกิดการปฏิสนธิได้รวมทั้งสิ้นกว่า 400 ฟอง เฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 1 ฟองทุกๆ 28 วัน ไข่นี้จะถูกปล่อยออกมาตามท่อนำไข่ (Fallopian) ซึ่งอยู่ทั้งสองข้างของมดลูกข้างละฟองต่อเดือน ซึ่งเราเรียกอุบัติการณ์นี้ว่า การตกไข่ และเมื่อไข่ที่สุกถูกปล่อยออกมาตามท่อนำไข่แล้วได้รับการผสมกับอสุจิที่อยู่ในท่อ ก็จะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

จากท่อนำไข่ เมื่อไข่เดินทางเข้าไปในมดลูก (uterus) ซึ่งเป็นถุงกล้ามเนื้อสีชมพูแขวนอยู่ด้วยเส้นเอ็นในท้องน้อย ถ้าไข่ได้รับการผสมจนเกิดการตั้งครรภ์ ไข่ก็จะยื่นแขนขนาดจิ๋วของมันออกมาเกาะติดกับเยื่อบุผนังภายในของมดลูกไว้ และเริ่มเจริญเติบโตเพื่อพัฒนาเป็นทารกต่อไป แต่ถ้าหากว่าไข่ไม่ได้รับการผสม มันก็จะเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอด (vagina) ซึ่งเป็นท่อสายตรงมาจากมดลูกออกสู่ภายนอกร่างกายของผู้หญิง หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า ระดู หรือเลือดประจำเดือนนั่นเอง

เซลล์อสุจิ

เซลล์อสุจิ หรือสเปิร์ม (Sperm) เป็นเซลล์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในร่างกาย (ในขณะที่เซลล์ไข่ของเพศหญิงเป็นเซลล์ที่ใหญ่ที่สุด) เป็นตัวที่สร้างชีวิตใหม่ขึ้นมา หากจะเปรียบเทียบขนาดของเซลล์อสุจิ อาจกล่าวได้ว่าต้องใช้เซลล์อสุจิถึง 1,200 ตัว จึงจะมีขนาดเท่ากับจุด (.) เล็กๆ จุดนี้ เซลล์อสุจิมีลักษณะคล้ายลูกอ๊อดตัวเล็กๆ หางที่โบกสะบัดไปมานั้นใช้ในการเคลื่อนที่เท่านั้น แต่ส่วนที่สำคัญ ก็คือ ส่วนหัว ซึ่งเซลล์อสุจิเหล่านี้จะถูกผลิตและเก็บกักไว้ภายในลูกอัณฑะของผู้ชาย ด้วยน้ำหนักของลูกอัณฑะประมาณ 14 กรัม ยาว 1 1/2 นิ้ว และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3/4 นิ้วนี้ สามารถผลิตเซลล์อสุจิได้ประมาณ 50 ล้านตัวต่อวันทีเดียว และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาที่พลเมืองอาจจะล้นโลกได้ถ้าไม่มีการควบคุมการทำงานของสเปิร์มเหล่านี้

ในส่วนของลูกอัณฑะนั้น มีลักษณะห้อยเป็นถุงลงมาอยู่ภายนอกร่างกาย หรือที่เรียกว่า ถุงอัณฑะ แต่ตอนที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ลูกอัณฑะยังคงอยู่ภายในร่างกายของทารก แต่จากระยะเวลาก่อนคลอดเพียง 2 เดือน ลูกอัณฑะทั้งสองจึงได้เคลื่อนตัวลงมาอยู่ภายนอกร่างกาย อุณหภูมิของอัณฑะนี้มีความสำคัญต่อการผลิตเชื้ออสุจิเป็นอย่างมาก คือ ในระดับอุณหภูมิปกติประมาณ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ อัณฑะจะไม่สามารถผลิตเชื้ออสุจิที่จะมีชีวิตเติบโตต่อไปได้

แต่หากว่าอัณฑะมีระดับอุณหภูมิที่ต่ำกว่าร่างกายส่วนอื่นๆ ประมาณ 3 องศาฟาเรนไฮต์ อัณฑะจึงจะผลิตอสุจิได้ดี ดังนั้น ร่างกายจึงได้สร้างระบบปรับอากาศ คือ ต่อมเหงื่อขึ้นมาเป็นจำนวนมากที่บริเวณถุงอัณฑะ ในเวลาที่มีความชื้นหรือเหงื่อระเหยออกไป อุณหภูมิของอัณฑะจะลดลง หรือในเวลาที่พวกผู้ชายอยู่ในพื้นที่เขตหนาว อัตราการผลิตอสุจิก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่าขณะที่อยู่ในเขตร้อน ในการปลดปล่อยน้ำอสุจิในแต่ละครั้งนั้น ผู้ชายจะปล่อยเซลล์อสุจิออกมาเป็นจำนวนมหาศาล คือ ประมาณ 600 ล้านเซลล์ทีเดียว

นอกจากลูกอัณฑะแล้ว การปฏิสนธิยังเกี่ยวข้องกับอวัยวะอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ ลึงค์หรือองคชาต (penis) ซึ่งเป็นท่อที่ต่อลงมาจากบริเวณส่วนกลางของอัณฑะ ลึงค์จะทำหน้าที่เป็นเสมือนท่อระบายน้ำ ทั้งน้ำปัสสาวะที่มีทางเดินจากกระเพาะปัสสาวะและน้ำอสุจิซึ่งมีท่ออสุจิ (sperm duct) ต่อมาจากอัณฑะ เพื่อเป็นท่อทางเดินให้ของเหลวทั้งสองชนิดไหลออกมาสู่ภายนอกร่างกายได้

ครั้งหน้าจะขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับการเดินทางที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ของเซลล์อสุจิหลายล้านตัว เพื่อพิสูจน์ความรวดเร็วและแข็งแรงของมันในการพิชิตเซลล์ไข่ แต่ผู้ชนะย่อมมีได้เพียงตัวเดียว และรางวัลสำหรับผู้ชนะ ก็คือ การตั้งครรภ์ของสตรีเพศ นั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

165-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 165
มกราคม 2536
สุกาญจน์ เลิศบุศย์