• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปฏิสนธิชีวิตใหม่ (ตอนที่ 2)

ปฏิสนธิชีวิตใหม่ (ตอนที่ 2)

 


 

การเดินทางของอสุจิ

เมื่อครั้งที่หนุ่ม (สาว) น้อย หนุ่ม (สาว) ใหญ่ในเวลาที่เป็นเด็กเล็กๆ และด้วยอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น หลายคนอาจจะยังคงจำได้ว่าตนเองเคยมีคำถามซุกซนมาทำให้คุณพ่อคุณแม่ลำบากใจที่จะตอบเสมอ เป็นต้นว่า

“พ่อฮับ ป๋องเกิดมาได้ไงฮะ”

“แม่ฮับ น้องออกมาทางไหนฮับ...”

ถึงวันนี้คนเหล่านั้นคงจะได้คำตอบจากประสบการณ์ของคนข้างเคียงหรือของตนเองแล้วว่า ชีวิตของคนเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่กว่าที่วงจรชีวิตของแต่ละคนจะเริ่มถักทอสายใยได้นั้น คุณรู้บ้างไหมว่าหน่วยที่ทำหน้าที่จุดชีวิตหรือที่เรียกกันว่าตัวอสุจินั้น ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายเพียงใด การเดินทางของตัวอสุจิได้เริ่มต้น ณ ที่ที่หญิงและชายมีเพศสัมพันธ์กัน และเมื่อฝ่ายชายถึงจุดสุดยอด (climax) ก็จะปลดปล่อยน้ำเชื้อ (semen) ซึ่งเต็มไปด้วยตัวอสุจิจำนวนมากมายมหาศาลออกมาจากอัณฑะไปตามท่ออสุจิ แล้วออกนอกร่างกายโดยผ่านทางลึงค์ เพื่อเข้าสู่ช่องคลอดในกายของฝ่ายหญิง

ร่างกายของคนเราโดยปกติจะมีเซลล์ที่มีโครโมโซม (chromosome) อยู่ 46 ตัว และจากเซลล์ตัวแรกก็จะแบ่งตัวเจริญเติบโตเป็นร่างกายมนุษย์ขึ้นมาในที่สุด สำหรับในตัวอสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายนั้น มีโครโมโซมอยู่ 23 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนเพียงครึ่งเดียวของคนเรา เมื่ออสุจิผสมกับไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงที่มีโครโมโซม 23 ตัวเท่ากัน ก็จะได้เซลล์ใหม่ที่มีโครโมโซมเป็น 46 ตัว (23 คู่) อันเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของชีวิตใหม่ ส่วนหัวของตัวอสุจิ (คล้ายหัวของลูกอ๊อด) เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเป็นบริเวณที่เก็บโครโมโซมเพื่อถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

ในบรรดาตัวอสุจิที่เข้าไปผสมกับไข่จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด โดยวิธีการแบ่งตามโครโมโซมเพศที่บรรจุอยู่ในส่วนหัวของมัน ตัวอสุจิที่มีโครโมโซมเอ็กซ์ (x) อยู่จะให้กำเนิดทารกเพศหญิง ส่วนตัวอสุจิที่มีโครโมโซมวาย (y) อยู่ก็จะให้กำเนิดทารกเพศชาย จำนวนอสุจิเอกซ์และวายมีอยู่เป็นจำนวนเท่าๆกัน ทำให้โอกาสที่จะได้ลูกสาวหรือลูกชายมีได้เท่าๆ กัน ในจำนวนโครโมโซมทั้ง 23 คู่ จะมีอยู่คู่หนึ่งเป็น xx หรือ xy ซึ่งถ้าโครโมโซมเป็น xx ก็จะให้กำเนิดทารกเพศหญิง แต่ถ้าเป็น xy ก็จะเป็นทารกเพศชาย ดังนั้นการที่ทารกจะเกิดมามีเพศหญิงหรือเพศชายจึงขึ้นอยู่กับอสุจิเป็นตัวกำหนด

ทีนี้มาว่ากันต่อถึงการผจญภัยของตัวอสุจิ จากช่องคลอด เจ้าตัวอสุจิตัวจิ๋วก็จะแหวกว่ายพาตัวเองเข้าไปถึงมดลูกและต่อไปยังปีกมดลูก ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีตัวอสุจิที่สามารถเข้าไปที่มดลูกได้ประมาณ 300 ล้านตัว แต่จะมีเพียง 1,000 ตัวเท่านั้นที่ไปถึงปีกมดลูกได้ก่อนที่พวกมันจะตายเสียก่อน ครั้นพอมาถึงปีกมดลูก (โดยมากมักจะเป็นปีกมดลูกส่วนปลาย) ซึ่งเป็นบริเวณที่ไข่สุกมารออยู่แล้ว ตัวอสุจิหลายล้านตัวก็จะแข่งกันแหวกว่ายเพื่อให้สามารถผ่านทะลุผนังอันเหนียวแน่นของไข่เพศหญิงเข้าไปให้ได้ เมื่ออสุจิตัวใดตัวหนึ่งเข้าไปในไข่ได้แล้ว ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่าการปฏิสนธิขึ้น และต่อจากนั้นไข่ก็จะไม่ยอมให้ตัวอสุจิตัวอื่นเข้าไปได้อีกเลย นับแต่นี้ชีวิตเล็กๆ ได้บังเกิดขึ้นแล้ว แต่จะมีพัฒนาการไปในรูปแบบใด โปรดติดตามตอนต่อไปในครั้งหน้าค่ะ

ข้อมูลสื่อ

166-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 166
กุมภาพันธ์ 2536
สุกาญจน์ เลิศบุศย์