• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 2)

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 2)


ฉบับปฐมฤกษ์ของเรื่องราวการตรวจรักษาอาการผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออก หรือในฉบับก่อนนั้นได้กล่าวถึงลักษณะอาการเลือดออกในรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว พร้อมกับนำเสนอขั้นตอนแรกของการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือฉุกเฉินที่ต้องเสียเลือดมาก โดยการห้ามเลือดทันที และขั้นต่อไปก็คือ

ก.2 รีบช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ก่อน โดย

1. ให้ผู้ป่วยนอนราบลงกับพื้น ศีรษะไม่ต้องหนุนหมอน ถ้ามีอาการมาก ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มรองเท้าและขา ให้เท้าและขาสูงกว่าลำตัวเพื่อให้เลือดที่เท้าและขาไหลกลับเข้าหัวใจได้ง่ายขึ้น หัวใจจะได้มีเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะภายในที่สำคัญอื่นๆ

2. พูดปลอบโยน ให้กำลังใจและพยายามทำให้ผู้ป่วยสงบ ไม่ตกใจและไม่กระวนกระวาย จะทำให้อาการเลือดออกลดลง และทำให้ผู้ป่วยใช้พลังงานและออกซิเจนลดลง ทำให้อยู่รอดได้นานขึ้น

3. ให้น้ำเกลือเข้าเส้น ถ้าทำได้จะให้เป็นน้ำเกลือผสมกลูโคส (5% glucose in normal saline) หรือน้ำเกลืออย่างอื่นก็ได้ โดยให้ค่อนข้างเร็ว ประมาณ 20-30 ซี.ซี. (มิลลิลิตร) ต่อนาที จนผู้ป่วยดีขึ้นแล้วจึงให้ช้าลง เพื่อทดแทนเลือดที่เสียไปจนกว่าจะหาเลือดมาให้แก่ผู้ป่วยได้

4. ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย ถ้าทำได้ ถ้าไม่มีออกซิเจน ก็ควรให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในบริเวณที่มีลมโกรก และไม่ควรให้คนมามุงดูหรือห้อมล้อมผู้ป่วย ทำให้อากาศไม่เพียงพอแก่การหายใจของผู้ป่วย

ก.3 รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อการตรวจรักษาต่อไป

ข. ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการหนักหรือฉุกเฉิน
เพราะเลือดออกเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการเฉกเช่นอาการเจ็บหนักที่กล่าวถึงแล้ว ให้ตรวจรักษา ดังนี้

ข.1 บีบรอบๆ บาดแผล เพื่อให้เลือดออกมากขึ้น เพื่อจะได้ชำระล้างสิ่งสกปรกหรือสารพิษที่ติดอยู่ภายในให้หลุดออกไปพร้อมกับเลือด โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากหนาม เข็ม หรือตะปูตำ หรือบาดแผลที่เกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น

ข.2 ล้างแผลให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่

ข.3 ห้ามเลือด ด้วยการใช้ผ้าสะอาดวางลงบนบาดแผล แล้วใช้มือกดไว้จนเลือดหยุด เมื่อเลือดหยุดแล้วไม่ควรรีบดึงผ้าที่เปื้อนเลือดนั้นออกจากบาดแผลทันที เพราะจะทำให้เลือดออกอีก ควรใช้ผ้าสะอาดชิ้นอื่นวางทับ แล้วใช้ผ้าพันแผลหรือผ้ากาวปิดแผลอีกทีหนึ่ง ถ้าจำเป็นต้องใส่ยารักษาแผลก็อาจใสยาลงบนผ้า แล้วให้ยาซึมผ่านผ้าลงไปถึงแผลได้

ข.4 ให้ยาป้องกันการติดเชื้อ เช่น ยาป้องกันโรคบาดทะยัก ยาป้องกันการติดเชื้อหนอง หรือยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

ข.5 ล้างแผลและทายาที่บาดแผล อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง จนแผลหายสนิท

ข.6 หาและรักษาสาเหตุ สาเหตุที่ทำให้เลือดออกเกือบทั้งหมดเกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือด (เส้นเลือด) และ/หรือเลือดไม่แข็งตัวตามปกติ

การฉีกขาดของหลอดเลือด (ผนังหลอดเลือด) มักเกิดจากการถูกของมีคมหรือภยันตรายต่างๆ การอักเสบของหลอดเลือด หรือของเนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือดจากการติดเชื้อโรค หรือจากโรคภูมิแพ้รุนแรง หรืออื่นๆ

โดยทั่วไป หลอดเลือดที่ฉีกขาดจะซ่อมแซมตัวมันเองเช่นเดียวกับเนื้อเยื่ออื่นๆที่ได้รับบาดเจ็บ ยกเว้นแต่ในกรณีที่เส้นเลือดใหญ่ๆ ขาดจากกัน โดยเฉพาะเส้นเลือดแดง (หลอดเลือดแดง) จำเป็นที่จะต้องเย็บปลายที่ขาดต่อเข้าหากัน จึงจะทำให้เส้นเลือดนั้นต่อติดกันอีกครั้งหนึ่งได้

การเย็บหรือการผูกปลายเส้นเลือดที่ขาดจากกัน เป็นการรักษาสาเหตุที่ทำให้เลือดออกรุนแรงได้เป็นอย่างดี และจะป้องกันไม่ให้เลือดออกในบริเวณบาดแผลอีก แต่ถ้าเป็นเส้นเลือดใหญ่ๆ ควรจะใช้วิธีเย็บปลายที่ขาดต่อเข้าหากัน เพราะจะทำให้เส้นเลือดนั้นหายกลับเป็นปกติ การผูกปลายเส้นเลือดที่ขาดจากกัน จะทำให้เส้นเลือดนั้นขาดจากกันอย่างถาวร ซึ่งถ้าเป็นเส้นเลือดใหญ่ อาจทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อในบริเวณนั้นขัดข้อง และเกิดปัญหาขึ้นได้

สำหรับสาเหตุที่เลือดไม่แข็งตัวตามปกติ ซึ่งสังเกตได้จากการที่เลือดออกง่ายกว่าปกติ ทำให้มีจุดเลือดออกพรายย้ำหรือจ้ำเลือดเกิดขึ้นใต้ผิวหนังหลายๆ แห่ง โดยไม่รู้สึกว่าบริเวณนั้นถูกกระทบกระแทกหรือถูกของมีคมแต่อย่างใด

นอกจากนั้นถ้ามีบาดแผลแม้แต่บาดแผลเล็กๆ เลือดจะออกอยู่นาน และออกมาก และถ้าสังเกตดูเลือดที่ไหลออกมา จะพบว่ามันไม่แข็งตัวเป็นวุ้นภายในเวลา 5-10 นาทีเหมือนคนปกติ ถ้าพบลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ ให้สงสัยว่า ผู้ป่วยน่าจะมีภาวะหรือโรคที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวตามปกติ และควรจะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวตามปกติ และจะได้รักษาสาเหตุนั้นต่อไป เลือดจะได้ไม่ออกง่ายและไม่ออกซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่หยุดหย่อน

ข้อมูลสื่อ

166-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 166
กุมภาพันธ์ 2536
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์