• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 3)

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 3)


การรักษาอาการเลือดออกนั้นใช่ว่าจะมีเพียงแค่บาดแผลที่ทำให้มีเลือดไหลออกนอกร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาการที่มีเลือดออกภายในร่างกายด้วย ซึ่งจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนั้นและจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

เพื่อให้การตรวจรักษาอาการเลือดออกเป็นไปตามอาการเลือดออกที่พาผู้ป่วยมารักษา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามตำแหน่งที่เลือดออก เช่น

1. เลือดออกจากบาดแผลที่ผิวหนัง

ถ้าเป็นบาดแผลใหญ่และเลือดออกมาก ต้องรีบห้ามเลือด ช่วยชีวิต และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ถ้าเป็นบาดแผลเล็ก หรือเลือดออกน้อย ควรบีบรอบๆ บาดแผลให้เลือดไหลออกเพิ่มขึ้น เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกหรือสารพิษที่ตกค้างอยู่ในบาดแผลให้ไหลออกมาพร้อมกับเลือด แล้วจึงล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่แล้วจึงห้ามเลือด รักษาแผลและรักษาสาเหตุต่อไป ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

2. เลือดออกใต้ผิวหนัง

2.1 จุดเลือดออก (petechial hemorrhage) ซึ่งจะเห็นเป็นจุดสีแดงๆ ขนาดหัวเข็มหมุดที่บริเวณแขนขาหรือลำตัวคล้ายๆ จุดยุงกัด แต่จะต่างจากจุดยุงกัด ที่จุดยุงกัดมักจะมีรอยตรงที่ปากยุงเจาะผ่านผิวหนัง ซึ่งเห็นได้ชัดขึ้นถ้าใช้แว่นขยาย และถ้าใช้ปลายนิ้วหรือแผ่นกระจกใสๆ กดลงบนผิวหนังตรงจุดแดงๆที่เห็นนั้น จุดแดงๆ ที่เห็นนั้นจะหายไป เพราะไม่ใช่จุดเลือดออกใต้ผิวหนัง แต่เป็นการขยายตัวของหลอดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง เพราะการอักเสบที่เกิดจากยุงกัด ดังนั้น เมื่อเลิกกดจุดนั้นจะกลับแดงขึ้นมาใหม่ พอกดก็จะหายไปใหม่ สลับกันไปเรื่อยๆเช่นนี้ เมื่อตรวจซ้ำๆ กัน จุดที่แสดงปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่จุดเลือดออก และไม่เกี่ยวข้องกับภาวะหรือโรคเลือดออกง่าย และโดยทั่วไปไม่ใช่สิ่งที่อันตรายหรือต้องให้การรักษาเป็นพิเศษ

ส่วนจุดเลือดออกที่เห็นเป็นจุดแดงๆ และกดแล้วไม่หายไป แสดงถึงความผิดปกติของหลอดเลือดหรือของผนังหลอดเลือดฝอย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกมากๆ โดยเฉพาะภาวะเลือดออกมากๆภายใน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ที่รู้จักกันมาก คือ จุดเลือดออกที่เกิดขึ้นหลังมีอาการไข้สูงอยู่ 3-4 วัน โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มักจะเกิดพร้อมๆ กันหลายๆ คนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือที่เรียกว่า มีการระบาดของโรค ซึ่งพบมากในเด็กๆ และรู้จักกันดีในชื่อ "โรคไข้เลือดออก“ (acute hemorrhagic fever หรือ Dengue hemorrhagic fever) ซึ่งถ้าเป็นมากอาจทำให้เลือดออกภายใน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คนที่มีจุดเลือดออกเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจึงควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือด และตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวตามปกติ เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง ตรงตามสาเหตุ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกรุนแรงตามมา

2.2 รอยฟกช้ำดำเขียว (bruise หรือ contusion) เกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังได้รับการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดการอักเสบ (รอยฟกช้ำเป็นสีแดง) หรือมีเลือดซึมออกใต้ผิวหนัง (รอยดำเขียว)

ในระยะแรก ควรใช้น้ำเย็นหรือถุงน้ำแข็งประคบบริเวณที่ถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง เพื่อลดการอักเสบบวม ลดการคั่งของเลือดและภาวะเลือดออก

ในระยะหลัง (หลังจากถูกกระทบกระแทกเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมงขึ้นไป) ควรใช้น้ำร้อนประคบบริเวณนั้น เพื่อให้การอักเสบและการบวมยุบลง และเลือดที่ออกถูกสลายตัวไปเร็วขึ้น อาการฟกช้ำดำเขียวจะได้หายเร็วขึ้น

ในคนบางคน โดยเฉพาะในผู้หญิงสูงอายุ รอยฟกช้ำดำเขียวอาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติเพราะหลายครั้งจะจำไม่ได้ว่า บริเวณที่ฟกช้ำดำเขียวอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะบางครั้งการกระทบกระแทกเพียงเบาๆ จนไม่รู้สึก ก็อาจจะทำให้เกิดรอยฟกช้ำดำเขียวได้ รอยฟกช้ำดำเขียวเกือบทั้งหมดจึงเกิดจากเลือดออกเพียงเล็กๆ น้อยใต้ผิวหนัง ซึ่งไม่นำไปสู่ภาวะเลือดออกรุนแรงหรือเป็นอันตราย จึงไม่ควรวิตกกังวลมากนัก และไม่ต้องการการรักษาอะไรนอกจากที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

ยกเว้นในกรณีที่มีรอยฟกช้ำดำเขียวเกิดขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ (ไม่ถูกกระทบกระแทก) บ่อยๆ หรือเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก (หลายแห่งทั่วตัว) จึงควรไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุ และทำการรักษาสาเหตุต่อไป รอยฟกช้ำดำเขียวที่เกิดจากการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง อาจมีลักษณะเป็นก้อนเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือเยื่อเมือกที่เรียกกันว่า ห้อเลือด เช่น เวลาค้อนทุบถูกปลายนิ้ว เวลาเคี้ยวอาหารแล้วกัดถูกลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม เป็นต้น

2.3 จ้ำเลือดหรือพรายย้ำ (ecchymosis หรือ purpura) เป็นลักษณะจ้ำเลือดสีแดงหรือสีดำแดงใต้ผิวหนัง ถ้าเลือดออกน้อย อาจเป็นสีเขียวม่วงคล้ายลักษณะพรายย้ำได้ จ้ำเลือดหรือพรายย้ำที่เกิดในผู้สูงอายุซึ่งผิวหนังบางและเหี่ยวย่นจะเห็นเป็นจ้ำเลือดสีแดงๆ เป็นชั้นบางมากใต้ผิวหนัง เวลาลูบบริเวณจ้ำเลือด จะไม่รู้สึกว่านูนขึ้นหรือมีขอบ จ้ำเลือดหรือพรายย้ำในผู้สูงอายุ (senile purpura) พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะถ้าผิวหนังบางและเหี่ยวย่น เวลาเกาหรือถูผิวหนัง ก็จะเกิดจ้ำเลือดหรือพรายย้ำขึ้นได้ และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ ไม่มีอันตรายอะไร และไม่ต้องรักษา นอกจากจะกินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ ไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร และไม่เกาหรือถูผิวหนังแรงๆ อาการจ้ำเลือดหรือพรายย้ำจะเกิดน้อยลง

จ้ำเลือดหรือพรายย้ำในผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดจากเนื้อเยื่อที่เปราะบาง รวมทั้งผนังหลอดเลือดฝอย ทำให้ฉีกขาดหรือปริรั่วง่าย จึงเกิดเลือดซึมออกมาใต้ผิวหนัง ดูสีแดงน่ากลัว เพราะผิวบางทำให้เห็นได้ชัด แต่ไม่มีอันตรายอะไร จ้ำเลือดหรือพรายย้ำในเด็ก คนหนุ่มสาว และวัยกลางคน อาจจะเกิดจากการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง หรือเกิดจากภาวะที่เลือดไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ ในกรณีที่เกิดจากการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง ให้รักษาแบบเดียวกับการรักษา “รอยฟกช้ำดำเขียว” ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

ส่วนในกรณีที่จ้ำเลือดหรือพรายย้ำเกิดขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ หรือเกิดขึ้นหลายแห่งในร่างกาย ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดและตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เลือดแข็งตัวยากจะได้รักษาสาเหตุ เพราะภาวะเลือดแข็งตัวยากหรือไม่แข็งตัวตามปกติ อาจทำให้เลือดออกรุนแรง หรือเลือดออกภายใน เช่น ในสมอง เป็นอันตรายรุนแรง ทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

ข้อมูลสื่อ

167-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 167
มีนาคม 2536
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์