• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ประกอบด้วย
1. ระบบปฐมพยาบาล
2. ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน
3. ระบบรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ
4. ระบบเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย
5. ระบบห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาล
6. ระบบประกันสุขภาพยามฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ความทุกข์ทรมานอย่างฉับพลัน ความพิการทั้งชั่วคราว และถาวร และความตาย ย่อมจะเกิดขึ้นไม่มากก็น้อยเสมอ จึงควรจะป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น

ระบบป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จึงประกอบด้วย
1. ระบบป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและไม่เจ็บป่วย
2. ระบบป้องกันอุบัติภัยและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งประกอบด้วย ระบบป้องกันอุบัติภัย และระบบป้องกันโรคกำเริบและหยุดยั้งการกำเริบ

การจะทำให้เกิด “ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน” และ “ระบบป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน” จะต้องการความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนในการผลักดันให้นักการเมืองและข้าราชการเร่งจัดทำและประกาศใช้ “พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้มี “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” รับผิดชอบดูแลและจัดการปฏิรูประบบสุขภาพทั้งหมด รวมทั้งระบบสุขภาพยามฉุกเฉินด้วย โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักว่าสุขภาพ หรือสุขภาวะ เป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนทุกคน และรัฐจะต้องดำเนินการอย่างจริงใจและจริงจังเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีขึ้นโดยเร็ว หลังจากที่ไม่บรรลุเป้าหมาย “สุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ ปี พ.ศ. 2543” (Health for all by year 2000) ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็นพันธสัญญาไว้ใน “ประกาศแห่งกรุงอัลมาอาตา” (Alma Ata Declaration) เมื่อปี พ.ศ. 2521

สรุป
การปฏิรูประบบสุขภาพยามฉุกเฉินเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปฏิรูประบบสุขภาพ เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชาชนในทุกประเทศ และการปฏิรูประบบสุขภาพยามฉุกเฉินจะเป็นต้นแบบสำหรับการปฏิรูประบบสุขภาพในยามอื่นด้วย

การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องนี้ จะทำให้เกิดแรงผลักดันต่อนักการเมืองและข้าราชการที่จะเร่งออก “พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้มี “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” มารับผิดชอบดูแล และจัดการให้มี “ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน” และ “ระบบป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน” เพื่อให้ประชาชนรอดพ้นจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้มากที่สุด และเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ให้รอดพ้นจากความตาย ความพิการ และความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด และเร็วที่สุดด้วย
 
              
ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
สถานการณ์และสภาพปัญหา
ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินในประเทศไทย ยังเป็นระบบคอย “รับ” ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับระบบรักษาพยาบาลทั่วไป แพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่จึงไม่สนใจที่จะฝึกอบรมประชาชนและบุคลากร เช่น อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้มีความรู้ความสามารถในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันทีและถูกต้อง ณ จุดเกิดเหตุ ทั้งที่ตนก็ไม่สนใจและไม่สามารถไปให้การรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุได้

นอกจากนั้น โรงพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่จำนวนมาก ยังไม่กระตือรือร้นที่จะส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุอีกด้วย เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่โรงพยาบาล และบุคลากรโดยไม่ได้รับการชดเชย โรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่จึงไม่เต็มใจที่จะทำงานนี้

อนึ่ง แม้แต่ระบบ “รับ” ในโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ จุดที่รับผู้ป่วยฉุกเฉินหรือห้องฉุกเฉินก็ยังเป็นจุดอ่อน ที่แพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่ไม่อยากไปทำงาน เพราะต้องรับภาระหนัก ฉุกละหุก และเครียดจากการต้องรองรับอารมณ์ของผู้ป่วยและญาติที่กำลังตื่นเต้นตกใจ และของผู้บังคับบัญชาและสังคมที่ไม่เคยรับรู้ความเหนื่อยยาก แล้วยังคอยซ้ำเติม เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น

ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใหญ่ๆ รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ จึงมีแต่แพทย์จบใหม่ (แพทย์ฝึกหัด แพทย์อ่อนอาวุโส) เป็นกำลังหลักในการตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและเจ็บหนัก ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นเป็นประจำ
นอกจากนั้น ยังไม่มีระบบส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น (ที่สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้ดีกว่าหรือ มีเตียงว่าง) โดยไม่มีความขัดแย้งและมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความล่าช้า เพิ่มความทุกข์ทรมาน ความพิการ และความตายที่ไม่จำเป็นขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ให้เป็นระบบ “รุก” เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน

องค์ประกอบ
ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินจำเป็นต้องปฏิรูปให้ประกอบด้วย ระบบปฐมพยาบาล ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน ระบบรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ ระบบเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย ระบบห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาล และระบบประกันสุขภาพฉุกเฉิน
 
จะขอกล่าวในรายละเอียดตาม แต่ละหัวข้อดังนี้
ระบบปฐมพยาบาล
การ “เจ็บ” หรือ “ป่วย” ฉุกเฉิน มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือไม่คาดฝัน โดยเฉพาะการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และการป่วยฉับพลันจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะทวีความรุนแรงขึ้น ถ้าผู้ป่วยตกใจ ดิ้นรน เครียด กังวล หรือพยายามช่วยตนเองอย่างผิดๆ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น
 
การให้การศึกษาและประสบการณ์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีปฐมพยาบาลในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับง่ายสุด สำหรับเด็กอนุบาล ไปจนถึงระดับยากสุดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข โดยในระดับประถมและมัธยมศึกษา ควรแทรกวิธีปฐมพยาบาลไว้ในวิชาสุขศึกษา พลศึกษา ลูกเสือ และ/หรือเนตรนารี ส่วนในระดับอุดมศึกษา อาจแทรกอยู่ในวิชาที่เกี่ยวกับสุขภาพ และ/หรือสังคม จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างจิตสำนึกแห่ง “การช่วยตนเอง และช่วยเหลือกันและกัน” ในทันทีที่มีการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้น

การปฐมพยาบาล หมายถึง การรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความรุนแรงของการเจ็บป่วยฉุกเฉินและเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเป็นสำคัญ และในบางครั้งอาจเป็นการช่วยชีวิตของผู้ป่วยด้วย เช่น

(1) คนที่สำลักอาหารชิ้นโตเข้าไปติดคอหอย จนหายใจไม่ออก ไอไม่ออก พูดไม่ได้ ใช้มือกุมคอไว้ หน้าตาตื่นตกใจกลัวและดิ้นรน ผู้ที่อยู่ใกล้ต้องรีบ “อัดยอดอก” หรือจับผู้ป่วยพาดเข่า (ให้หน้าท้องผู้ป่วยพาดอยู่บนเข่า ศีรษะห้อยต่ำ) แล้วตบลงกลางหลังแรงๆ จนอาหารชิ้นนั้นหลุดออกจากคอหอย ผู้ป่วยจึงจะหายใจได้ มิฉะนั้น ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที เพราะหายใจไม่ได้

(2) คนที่อยู่ดีๆ แล้วหมดสติล้มฟุบลงทันที ผู้ที่อยู่ใกล้ต้องรีบจับผู้ป่วยนอนหงาย แล้วคลำชีพจรที่คอและ/หรือขาหนีบทันที ถ้าคลำไม่ได้ และผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ใช้กำปั้นทุบลงตรงกลางหน้าอก (เหนือราวนม) แรงๆ 1 ถึง 2 ครั้ง ถ้ายังคลำชีพจร ไม่ได้ และยังไม่หายใจ ต้องรีบเป่าปาก (ช่วยหายใจ) และนวดหัวใจ (ขย่มหน้าอก) ผู้ป่วยอาจจะรอดชีวิตได้
 
ตัวอย่างการเจ็บป่วยฉุกเฉินข้างต้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าผู้ที่อยู่ใกล้ (ญาติมิตรหรือประชาชนทั่วไป) เป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดใน การช่วยชีวิตผู้ป่วย เพราะถ้าผู้ป่วยหายใจไม่ได้เป็นเวลาไม่กี่นาที (5 ถึง 7 นาที) หัวใจก็จะหยุดเต้น (ตัวอย่างที่ 1) หรือผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น (ตัวอย่างที่ 2) ภายในเวลาไม่กี่นาที (3 ถึง 5 นาที) สมองจะขาดเลือด และออกซิเจน จนแม้ว่าจะกู้ชีพ (ฟื้นชีวิต) ได้สำเร็จ ผู้ป่วยก็จะกลายเป็น “เจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา” ไปตลอด

(3) คนตกจากที่สูงหรือจักรยานยนต์คว่ำ ศีรษะโหม่งพื้น นอนแน่นิ่งอยู่ ห้ามประคองศีรษะหรือยก ลำตัวขึ้น เพราะถ้ากระดูกคอของผู้ป่วยหักอยู่ ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจและ/หรือแขนขาทั้ง 4 เป็นอัมพาตทันที เพราะกระดูกคอที่หักจะเลื่อนไปกดไขสันหลังได้ ต้องให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในท่าเดิมก่อน แล้วดูว่าผู้ป่วยยังรู้สติและหายใจได้หรือไม่

ถ้าหมดสติและไม่หายใจ ต้องเป่าปากช่วยหายใจไปก่อน และช่วยฟื้นชีวิต โดยระวังภาวะคอหักด้วย
ถ้ายังรู้สติและหายใจได้เอง ดูว่าผู้ป่วยเอี้ยวคอและเอี้ยวตัวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ห้ามยกศีรษะหรือลำตัว อย่างเด็ดขาด ถ้าจะยก ต้องยกทั้งศีรษะ คอ และลำตัวพร้อมกัน โดยให้ศีรษะ คอ และลำตัวเป็นแท่งตรง และให้อยู่ในท่านอนหงายราบกับพื้น ไม่หนุนศีรษะ และหน้าตรง (ไม่ก้ม ไม่เงย ไม่เอียง เป็นต้น) ซึ่งต้องการ การฝึกหัด จึงจะสามารถช่วยผู้ป่วยที่สงสัยกระดูกคอหักได้อย่างถูกต้อง มิฉะนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือพิการอย่างถาวรได้

ข้อมูลสื่อ

269-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 269
กันยายน 2544
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์