• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนไม่พอ...ระวังเป็นอัมพาต

นอนไม่พอ...ระวังเป็นอัมพาต


การนอนไม่เพียงพอสามารถบั่นทอนสุขภาพนั้นเป็นที่กล่าวขวัญกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนมีคำพังเพยของชาวจีนแต้จิ๋วว่า การบั่นทอนสุขภาพ อันดับแรก คือ การมีกามกิจมากเกินควร อันดับสอง คือ การเล่นพนันตลอดคืน อันดับสาม คือ การเฝ้าดูงิ้วข้ามคืน

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 อันดับ ล้วนเกี่ยวข้องกับการนอนไม่เพียงพอในเวลากลางคืน ขณะที่กลางวันคาดว่าคงไม่ได้พักผ่อนเช่นเดียวกัน ผลตามมาที่พบบ่อยในวัยสูงอายุ คือ การเป็นอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก ความจริงในตำราแพทย์ไทย ลมอัมพาตและลมอัมพฤกษ์เป็นคนละโรคกัน แต่ในปัจจุบันเรามักเรียกการไม่มีกำลังของแขนขาอย่างสิ้นเชิงว่าเป็นอัมพาต และเรียกการอ่อนแรงอ่อนกำลังของแขนที่ว่าเป็นอัมพฤกษ์ การเป็นอัมพฤกษ์จึงดูเหมือนรุนแรงน้อยกว่าการเป็นอัมพาต

การเป็นอัมพาตครึ่งซีกนั้นไม่เพียงแต่เป็นเฉพาะแขนขาอย่างที่เข้าใจทั่วไป แต่อาจเป็นที่ใบหน้าข้างเดียวกันกับแขนขาที่อ่อนแรงและรวมทั้งกล้ามเนื้อของลำตัวข้างเดียวกัน ในกรณีที่เป็นอัมพาตซีกขวายังอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด หรือเป็นใบ้ด้วย การเป็นอัมพาตครึ่งซีกมีสาเหตุมาจากสมองใหญ่ซีกตรงข้ามกับแขนขาข้างที่อ่อนแรง ไม่ทำงานหรือบกพร่องในหน้าที่ กล่าวคือ ถ้าสมองซีกซ้ายผิดปกติจะทำให้เกิดอัมพาตซีกขวา ถ้าสมองซีกขวาผิดปกติทำให้เป็นอัมพาตซีกซ้าย

ความเชื่อที่ว่า หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวานั้น ยังไม่ปรากฏจริงเสมอไป สาเหตุอาจเกิดจากเนื้องอกไปกดทับสมอง สมองฝ่อ และสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ หลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน หลอดเลือดในสมองของผู้สูงอายุค่อนข้างเปราะไม่ยืดหยุ่น การมีไขมันภายในหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง และการมีลิ่มเลือดหรือสิ่งแปลกปลอมวิ่งผ่านขึ้นมาทางหลอดเลือดสมองในภาวะที่เกิดความผิดปกติที่ปอดหรือหัวใจทำให้หลอดเลือดนั้นแคบอุดตัน เลือดไปเลี้ยงสมองบางส่วนไม่ได้

เซลล์ของสมองเมื่อขาดเลือดซึ่งมีหน้าที่นำออกซิเจนและอาหารไปให้ เซลล์ของสมองจะตายในระยะเวลาไม่กี่นาที จึงทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนขาและร่างกายซีกตรงข้ามชะงัก ทั้งๆ ที่กล้ามเนื้อของแขนขาข้างนั้นไม่ได้เสียไป อัมพาตครึ่งซีกจึงมีลักษณะอ่อนปวกเปียกในช่วงแรก และเกิดอาการเกร็งหรือไวต่อสิ่งเร้าในช่วงหลัง

การเป็นอัมพาตสัมพันธ์กับการนอนไม่เพียงพอได้อย่างไร

ผู้สูงอายุรายหนึ่งมีประวัติเป็นความดันเลือดสูง จัดงานวิวาห์ใหญ่โตให้ลูกสาวด้วยความรักและห่วงใย จึงไม่ได้หลับไม่ได้นอนก่อนวันงานหลายคืนและหลังวันงานเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวเพราะสามีไม่ยอมช่วยออกเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างบ้านให้ลูกเขย จึงนอนไม่หลับทั้งคืน วันรุ่งขึ้นตื่นแต่เช้าเพื่อไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ พอกลับถึงบ้านเริ่มเกิดอาการอ่อนแรงของแขนขาข้างขวา พูดไม่ได้ ถูกนำส่งโรงพยาบาล ถ่ายภาพรังสีคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่า เลือดออกในสมองซีกซ้าย จะเห็นได้ว่าสาเหตุหนึ่งการเป็นอัมพาตครึ่งซีก คือ ความดันเลือดสูง โดยถือว่าในวัยสูงอายุถ้าความดันเลือดขณะหัวใจคลายตัวมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท (ความดันตัวล่าง) โดยที่ความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวอาจสูงกว่าหรือต่ำกว่า 160 มิลลิเมตรปรอทก็ได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความดันเลือดสูงมีหลายอย่าง ปัจจัยภายใน คือ หลอดเลือดแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น ปัจจัยภายนอก คือ ความเครียด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ตื่นเต้น ทำให้มีการหลั่งสารเคมีมากระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น หรือทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวทำให้มีขนาดเล็กลง ผลที่ตามมา คือ ผนังหลอดเลือดบริเวณที่ไม่แข็งแรงอาจแตกออกทำให้เลือดพุ่งออกมากดเนื้อสมอง หรือการไหลเวียนของเลือดลดลงทำให้สมองขาดเลือด เมื่อสมองตายไปจึงเกิดเป็นอัมพาตขึ้น ดังนั้นการนอนไม่เพียงพออาจทำให้เครียด หงุดหงิด ความดันเลือดจึงสูงขึ้นทันที ทำให้หลอดเลือดแตกได้

ความดันเลือดเกิดจากแรงบีบตัวของหัวใจและความต้านทานในหลอดเลือดแดง เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการ การที่ความดันต่ำไปจะทำให้ส่วนต่างๆ ขาดเลือด เนื่องจากเลือดไปไม่ถึงโดยเฉพาะในกรณีลุกขึ้นจากท่านั่ง ท่านอนอย่างกะทันหัน ทำให้เป็นลมหน้ามืดได้ ขณะเดียวกันถ้าความดันเลือดสูงเกินไป หลอดเลือดเต้นแรงเกินไปจนทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
การเกิดความสมดุลในความดันเลือด จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการเกิดภาวะสมดุลในการทำงานของร่างกาย อาการอัมพาตจึงมิใช่เกิดจากความดันเลือดสูงเท่านั้น การไปหาซื้อยามากินเองทำให้ความดันลดลงทันที ทำให้สมองขาดเลือดอย่างกะทันหัน ย่อมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดอัมพาตครึ่งซีกได้เช่นเดียวกัน

ข้อมูลสื่อ

168-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 168
เมษายน 2536
อื่น ๆ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข