• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

การปฐมพยาบาล หมายถึง การรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความรุนแรงของการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเพื่อป้องกันภาวะแทรกช้อนเป็นสำคัญ และในบางครั้งอาจเป็นการช่วยชีวิตของผู้ป่วยด้วย เช่น
(1) คนที่สำลักอาหารชิ้นโตเจ้าไปติดคอหอย
(2) คนที่อยู่ดีๆ แล้วหมดสติล้มฟุบลงทันที
(3) คนตกจากที่สูงหรือจักรยานยนต์คว่ำ
(อ่านรายละเอียดเล่มที่แล้ว)
(4) คนเป็นลมฟุบลงกับโต๊ะหรือกับพื้น แต่ยังหายใจอยู่และคลำชีพจร ไม่ว่าผู้ป่วยจะหมดสติหรือไม่ ควรีบจับผู้ป่วยนอนหงายราบกับลงกับพื้น (แม้ว่าจะเป็นพื้นถนน) ห้ามประคองศีรษะหรือลำตัวขึ้น เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้สะดวก จะได้ฟื้นเร็วขึ้น ถ้ายกหรือหนุนศีรษะให้สูง หรือประคองศีรษะและลำตัวให้อยู่ในท่านั่ง เลือดจะไปเลี้ยงสมองได้น้อย ทำให้ฟื้นช้า และอาจทำให้หมดสติและซักได้

ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีปฐมพยาบาล “คนเป็นลม” (ซึ่งพบบ่อย) ยังเกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะธรรมเนียมไทยไม่ชอบให้ศีรษะต้องอยู่บนพื้น โดยไม่มีอะไรหนุน ทำให้อาการกลับรุนแรงขึ้น
(5) คนที่ใช้ยาเบาหวานอยู่แล้วหน้ามืดเป็นลมตัวเย็น เหงื่อแตกหรือซึมลง ผู้อยู่ใกล้ควรให้น้ำหวานแก่ผู้ป่วยทันที ถ้าผู้ป่วยดีขึ้น แสดงว่าอาการเป็นลมหรือซึมลงเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าไม่ให้น้ำหวาน แล้วปล่อยให้น้ำตาลในเลือดต่ำมาก ผู้ป่วยอาจหมดสติ ซัก และ/หรือมีอาการแทรกช้อนรุนแรงอื่นๆ ได้
(6) คนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด แล้วเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกแล้วเป็นลมหรือไม่มีแรงหยิบยา ญาติและผู้อยู่ใกล้ต้องรีบหยิบยาอมไว้ใต้ลิ้นของผู้ป่วยทันที อาจหยุดยั้งอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ตัวอย่างที่ 5 และ 6 แสดงว่า การปฐมพยาบาลนั้น มีความหมายรวมถึงความสามารถในการให้อาหาร น้ำ และยาฉุกเฉินที่ใช้ง่าย รวมทั้งยาสมุนไพรและยาพื้นบ้านได้อย่างถูกต้องด้วย

ระบบปฐมพยาบาล จึงเป็นสิ่งสำคัญขั้นต้นที่จะช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดชีวิต รอดจากความพิการ และความทุกข์ทรมานที่จำเป็นได้
การสร้างระบบปฐมพยาบาล อาจจะให้อยู่ในความรับผิดชอบของ “คณะกรรมการการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สภาสุขภาพแห่งชาติ” ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินการ

1. สร้างจิตสำนึกใหม่ ให้ประชาชนทุกคนใฝ่รู้ที่จะช่วยตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติหรือเหตุอื่นใด ผู้ที่ไม่ให้ความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน จะถูกประณามว่าละเลยต่อหน้าที่พลเมืองดีและเป็นบาป การสร้างจิตสำนึกอาจกระทำได้โดย
1.1 ให้การศึกษาและปลูกฝังจิตสำนึกนี้ตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน และในสื่อมวลชนต่างๆ
1.2 ออกกฎหมายลงโทษผู้ที่ละเลยหรือเพิกเฉยต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และยกเว้นโทษให้สำหรับความผิดพลาดที่เกิดจากความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยความบริสุทธิ์ใจ
1.3 ยกย่องชมเชยผู้ที่ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชย และให้รางวัลหรือให้ชมเชยค่าใช้จ่ายที่สืบเนื่องมาจากการช่วยเหลือนั้น เป็นต้น

2. จัดหาทรัพยากร ทั้งบุคคลและวัตถุ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อรณรงค์ในเรื่องนี้ จนสามารถให้การศึกษาและฝึกอบรมการปฐมพยาบาลทั้งในโรงเรียนและนอกห้องโรงเรียน ทั้งแก่นักเรียน นักศึกษาและแก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำรวจและอื่นๆ เป็นประจำ และต่อเนื่อง

3. สร้างระบบสารสนเทศ เพื่อเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล และให้มี “ศูนย์สุขภาพ” ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลด้วย

4. สร้างระบบติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล วิจัย
และหาองค์ความรู้ใหม่ ในการปฐมพยาบาล เพื่อปรับปรุงระบบและวิธีการปฐมพยาบาลให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน
เมื่อการเจ็บป่วยฉุกเฉินมีอาการรุนแรง จนคาดว่าจะไม่สามารถปฐมพยาบาลให้ดีขึ้นได้ ผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ใกล้จะต้องแจ้งขอความช่วยเหลือจากผู้ที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ในทันที ก่อนให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วย

                                          

แต่ในปัจจุบัน ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน (รวมทั้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน) ประกอบด้วยระบบหลายระบบที่ยังไม่ได้ประสานกันให้เป็นเอกภาพ จึงเกิดการขัดแย้งกัน แก่งแย่งกัน เกี่ยงกันหรืออื่นๆ จนไม่เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเท่าที่ควร แล้วยังทำให้ผู้ป่วยและประชาสับสน เสียสุขภาพทั้งทางกายและใจ เสียค่าใช้จ่ายสูง และเกิดปัญหานานาประการ
ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินในประเทศไทยควรจะจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ตามศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่น เช่น

ในชุมชนที่ยากจนและในท้องถิ่นที่ห่างไกล
(ไม่มีโทรศัพท์และวิทยุสื่อสาร) ระบบแจ้งเหตุจะเป็นระบบดั้งเดิมด้วยปากและเท้า (ตะโกนขอความช่วยเหลือ เดิน-วิ่งไปแจ้งเหตุเป็นต้น) หรืออาจใช้วิธีตีเกราะ เคาะไม้ ตีระฆัง หรืออื่นๆ ซึ่งถ้าใช้รหัสการตีเป็นแบบเดียวกัน จนเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ตีแบบนั้นหมายถึงเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตีแบบนี้หมายถึงไฟไหม้ ฯลฯ ประชาชนในชุมชนนั้นจะได้รีบไปยังบ้านที่มีการตีเกราะเคาะไม้หรือระฆังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือ
ในชุมชนที่มีม้าหรือยานพาหนะอื่น ก็อาจจะใช้ยานพาหนะนั้นไปแจ้งเหตุให้ชุมชนอื่นเข้ามาช่วยเหลือได้ด้วย

ในชุมชนหรือท้องถิ่นที่มีวิทยุสื่อสารหรือโทรศัพท์ การแจ้งเหตุจะสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก โดยเฉพาะถ้าสามารถจัดการให้ “ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินทุกประเภท” มีเพียงศูนย์เดียว ที่มีหมายเลขไม่เกิน 3 ตัวเลข เช่น 191 เพียงหมายเลขเดียวทั่วประเทศ ผู้แจ้งเหตุจะจดจำได้ง่าย และไม่ต้องเสียเวลาแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังหลายแห่ง เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรและมีคนเจ็บ ไม่ต้องโทรศัพท์ที่เจ้งตำรวจที่หมายเลขหนึ่ง และแจ้งโรงพยาบาลหรือหน่วยรถพยาบาลเพื่อมาช่วยคนเจ็บอีกหมายเลขหนึ่ง เป็นต้น

“ศูนย์รับแจ้งเหตุฮุกเฉิน”
มีหน้าที่รับทราบเหตุฉุกเฉินทุกประเภทและแจ้งเหตุนั้นไปยังบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการต่อไป ศูนย์ฯ นี้จึงทำหน้าที่ทั้งรับและแจ้งเหตุฉุกเฉิน (หรืออาจเขียนย่อๆ ว่า “ศูนย์ฉุกเฉิน” ก็ได้) เก็บรวบรวมข้อมูลของเหตุฉุกเฉิน ผู้แจ้งเหตุและบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับเรื่องไปดำเนินการ เพื่อสามารถติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลได้

ในชุมชนหรือท้องถิ่น “ศูนย์ฉุกเฉิน” ควรอยู่ที่บ้านของผู้นำชุมชนหรือท้องถิ่น หรือที่วัด ที่โรงเรียน ที่ “หน่วยฉุกเฉินชุมชน” หรือที่อื่น ที่คนในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นเห็นว่าเหมาะสม

ในระดับอำเภอ “ศูนย์ฉุกเฉิน” ควรอยู่ที่สำนักงานอำเภอ หรือสถานีตำรวจ เพราะมีวิทยุสื่อสาร โทรศัพท์ ยานพาหนะ และระบบประสานงานไปยังบุคคลและ/ หรือหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว

ในระดับจังหวัด “ศูนย์ฉุกเฉิน” ควรอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด หรือสถานีตำรวจ เช่นเดียวกับในเมืองใหญ่ หรือในกรุงเทพมหานคร

“ศูนย์ฉุกเฉิน”
ในระดับต่างๆ ควรจะเป็นเครือข่ายที่ประสานกันเป็นระบบเดียว เชื่อมโยงกันได้ทันที และช่วยเหลือกันและกันได้ย่างเป็นเอกภาพ

เมื่อ “ศูนย์ฉุกเฉิน” ได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแล้ว จะต้องตรวจสอบในทันทีว่าเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ ถ้าจริงรีบแจ้งไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็แจ้งไปที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมากที่สุด เพื่อให้โรงพยาบาลนั้นรีบดำเนินการช่วยเหลือโดยส่งหน่วยปฐมพยาบาลเคลื่อนที่เร็วไปยังจุดเกิดเหตุ แล้วอาจตามด้วยหน่วยรักษาพยาบาลและรถพยาบาลเพื่อรับ-ส่งผู้ป่วย เป็นต้น

 


 

ข้อมูลสื่อ

270-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 270
ตุลาคม 2544
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์