• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มุมมองส่องหลักประกัน

มุมมองส่องหลักประกัน

ศาสตราจารย์ Anne Mills รองผู้อำนวยการ London School of Hygiene & Tropical Medicine แห่งประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาวิจัยระบบเศรษฐศาสตร์สุขภาพ และระบบสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  ได้รับการเชื้อเชิญให้มาประชุมในประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้  ท่านได้ติดตามและมีส่วนช่วยเหลือการพัฒนาระบบการเงินการคลังของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย  ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับโครงการนี้ ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ดังนี้ 
ประเด็น :  คุณมีมุมมองต่อโครงการนี้อย่างไรในช่วงที่ผ่านมา และอนาคตของโครงการ
ข้อคิดเห็น : เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ริเริ่มโครงการนี้ในปี ๒๕๔๕ เพราะทำให้คนไทยเข้าถึง  บริการสุขภาพได้

ดิฉันคิดว่า ผู้ออกแบบโครงการนี้มีความชาญฉลาดในการพัฒนาระบบ  โดยเฉพาะการจ่ายเงินรายหัว (Capitation Payment) เพราะทำให้โครงการนี้มีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอ (Affordable) สำหรับประเทศไทยทั้งประเทศ  แต่วันเวลาที่ผ่านไป  เราพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะแพงขึ้นเรื่อยๆซึ่งเป็นภาระที่กดดันรัฐบาลพอควรทีเดียวปัญหาที่ตามมาด้วยเสมอคือ เมื่อคุณให้โอกาสคนเข้าถึงบริการมากsขึ้นโรงพยาบาลมักจะแน่นแออัดมากขึ้นด้วย  ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคคลากรโดยเฉพาะแพทย์พยาบาลที่พอเพียงต่อการให้บริการ  เราต้องดูแลด้านนี้ควบคู่กันไป
ประเด็น :  คุณคิดว่าประเทศไทยจะพัฒนาปรับปรุงเรื่องนี้อย่างไร
ข้อคิดเห็น : เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องใส่ใจต่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ  ในประเทศไทยที่ผ่านมา  ยังมีการพัฒนาด้านนี้ไม่ค่อยดีนัก  คนมักนิยมไปโรงพยาบาล

ในประเทศอังกฤษ  เมื่อคนเจ็บป่วยต้องไปพบแพทย์ที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ก่อนที่จะไปโรงพยาบาล  โดยเฉพาะโรคเรื้อรังและโรคพื้นฐานทั่วไปซึ่งให้การดูแลที่ระดับปฐมภูมิ (คลินิก   ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ) ได้

ประเทศไทยขณะนี้กำลังพยายามพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิอยู่  ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าระบบนี้จะเข้มแข็ง
ประเด็น :  คุณคิดอย่างไรต่อการที่ประเทศไทยมี ๓ กองทุนใหญ่(ข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ) ในขณะนี้
ข้อคิดเห็น : มันน่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่สามารถจัดการให้มีกองทุนเดียว (Single Scheme) ได้ตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการ  จริงๆแล้วควรจะมีการควบรวมเข้าด้วยกัน

กองทุนข้าราชการมีความใหญ่โตมาก เพราะข้าราชการจะเสียงดัง และส่งผลโน้มน้าวได้  ส่วนประกันสังคมเองก็อยากบริหารระบบแยกเป็นของตัวเอง  ที่ผ่านมาทั้งสามกองทุนมีการสนับสนุนด้านการเงินที่แตกต่างกัน และเงินมักจะถูกดูดไปที่ข้าราชการแยะ  นี่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย  ซึ่งฉันคิดว่าท้ายที่สุดก็ต้องมีการควบรวม  เพียงแค่อาจต้องใช้เวลาบ้าง
ประเด็น :  ประเทศอังกฤษ มีปัญหาการจัดบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ  คุณคิดว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาเดียวกันหรือไม่
ข้อคิดเห็น :  แน่นอนเช่นเดียวกัน  คนแก่มากขึ้นทุกวันนี้ (ประเทศไทย ๑๒% ในปี พ.ศ.๒๕๕๖) มันเป็นประเด็นปัญหาระยะยาว ที่ถ้าไม่วางแผนการจัดการที่ดี  ประเทศจะมีปัญหามากทีเดียว  โดยเฉพาะในโรงพยาบาล
 

ในเชิงเหตุผล  คนเราพอแก่ตัวลง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเจ็บป่วยถี่ขึ้น บ่อยขึ้น ปัญหาคือ คนสูงอายุมักจะดูแลตัวเองได้น้อยลงเมื่อแก่ตัว  ก็เลยเป็นโน่นเป็นนี่มากขึ้น
คนสูงอายุที่เข้าโรงพยาบาล  ไม่ใช่เพียงเหตุผลด้านสุขภาพอย่างเดียว  แต่เราพบว่าเป็นเหตุผลด้านสังคมที่ต้องการคนมาดูแลใส่ใจด้วยต่างหาก
ประเทศไทยต้องใส่ใจด้านสวัสดิการสังคมด้วย  มิใช่แต่เรื่องค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยเท่านั้น
ประเด็น :  ในเชิงระบบบริการสุขภาพ  มุมมองที่มีต่อระบบบริการของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เป็นอย่างไรบ้าง
ข้อคิดเห็น :  คุณต้องวางน้ำหนัก และสร้างความสมดุลย์ระหว่างสองส่วนนี้ให้ดี  จริงๆแล้ว  หลายประเทศในโลกนี้มีทรัพยากรและศักยภาพการให้บริการอยู่ในภาคเอกชนแยะ  ฉันคิดว่าสมเหตุสมผลแล้วสำหรับประเทศไทยที่ให้คนในสิทธิ์ประกันสังคมสามารถเลือกลงทะเบียนในหน่วยบริการเอกชนได้

รัฐบาลต้องสามารถ และรู้จักใช้ประโยชน์จากภาคเอกชน  แต่ต้องใส่ใจ และสามารถที่จะควบคุมราคา และคุณภาพบริการที่ภาคเอกชนดูแลอยู่ด้วย
 

 

ข้อมูลสื่อ

418-080
นิตยสารหมอชาวบ้าน 418
กุมภาพันธ์ 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ