• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

การปฏิรูประบบแจ้งเหตุและประสาน อาจดำเนินการเป็นขั้น ๆ ไปดังนี้
1. การรวมกลุ่มผู้ที่สนใจและ / หรือดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ เพื่อร่วมกันรวบรวมระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินหลาย ๆ ระบบให้เป็นระบบเดียว ถ้ายังทำไม่ได้ทันทีในระยะแรก อาจจะลดเป้าหมายลง โดยให้ระบบแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งหมดเป็นระบบเดียวไปก่อน ( ส่วนสาเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ให้ขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าหน่วยงานเหล่านั้นจะเห็นประโยชน์ที่จะรวมกันเป็นระบบเดียว )

ระบบแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เป็นระบบเดียว มีหมายเลขเดียวไม่ว่าจะใช้โทรศัพท์หรือวิทยุสื่อสาร เช่น 121 จึงควรมี “ ศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ” ที่โรงพยาบาลใหญ่ในอำเภอและในจังหวัด และมีการเชื่อมโยงสายโทรศัพท์ หรือวิทยุสื่อสารไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ หรืออยู่ในเขต ( เขต ) ของจุดเกิดเหตุนั้นโดยอัตโนมัติ
ถ้าผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากและโรงพยาบาลนั้นไม่สามารถให้บริการได้หมด ให้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลนั้นในการประสานไปยังโรงพยาบาลอื่นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระได้

2. การจัดตั้งองค์กรเพื่อรับผิดชอบ
ซึ่งอาจจะอยู่ในรูป “ คณะกรรมการการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ” ใน “ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ” เพื่อดำเนินการ
2.1 ออกกฏหมาย กฏระเบียบ หลักเกณฑ์ หรืออื่น ๆ เพื่อส่งเสริมและสนุบสนุนการสร้างหรือการรวมระบบแจ้งเหตุและประสานให้เป็นระบบเดียวกัน อย่างน้อยก็ในกรณีเจ็บป่วยในระยะแรก โดยมีมาตรการ เช่น
(1) การระดมทรัพยากรทั้งบุคคลและวัตถุ โดยเฉพาะงบประมาณจากรัฐและท้องถิ่น รวมทั้งจากกองทุนประกันสุขภาพต่าง ๆ เพื่อการสร้างระบบแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้เป็นเอกภาพและครอบคลุมประชากรให้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพในการรักษาพยาบาลฉุกเฉินจะทำได้ โดยการใช้เครือข่ายการสื่อสารคมนาคมและบุคลากรต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเต็มที่ด้วยการให้ประโยชน์ตอบแทนแก่บุคคลเหล่านั้น และให้ชุมชนและภาคเอคชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
(2) การลงโทษหัวหน้าหน่วยงาน รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลและบุคลากร ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการจัดสร้าง “ ศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ” ซึ่งรวมถึงการปฎิเสธที่จะส่งพยาบาลออกไปรับหรือปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือปฎิเสธที่รับตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาถึงโรงพยาบาลของตน เป็นต้น
(3) การลงโทษบุคคลที่ใช้ระบบแจ้งฉุกเฉินในทางมิชอบ เช่น แจ้งเท็จ ก่อกวน หรืออื่น ๆ
2.2 ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ว่าอะไรคือฉุกเฉิน อะไรคือไม่ฉุกเฉิน และการใช้ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินเป็นและถูกต้อง ( ไม่ใช้ระบบนี้อย่างพร่ำเพรื่อและไม่จำเป็น ) เป็นต้น
2.3 สร้างระบบสารสนเทศ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของการแจ้งเหตุ การตอบสนอง และผลที่กิดขึ้น เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นประจำ
2.4 ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล วิจัย และหาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อปรับปรุงระบบแจ้งเหตุและประสานให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับสภาวการณ์ต่าง ๆ

ระบบการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ
ระบบการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุในปัจจุบัน มีอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่บางแห่ง และมักจะดำเนินการโดยผู้ที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในการรักษาพยาบาล เช่น ประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย เป็นต้น ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ โดย “ คณะกรรมการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ” เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ

1. จัดหาทรัพยากรทั้งบุคคลและวัตถุ ทั้งจากภาครัฐและเอออกชนเพื่อ
1.1 ฝึกอบรม แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ( อปพร. ) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ( อสม. ) และอื่น ๆ สามารถรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุได้
1.2 จัดตั้ง “ หน่วยฉุกเฉินชุมชน ” ซึ่งชุมชนจัดตั้งขึ้นเอง โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐ “ หน่วยฉุกเฉินชุมชน ” ในแต่ละแห่งย่อมแตกต่างกันได้ตามแต่ความพร้อมและวัฒนธรรมในชุมชนนั้น และใช้บุคลากรของชุมชน เช่น อสม. อปพร. ที่ได้รับการฝึกแล้ว เป็นต้น
1.3 จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เช่น จักรยานที่มีบุคลากรที่ฝึกแล้ว 2 คน ( ขับรถได้ทั้งคู่ ) พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตพื้นฐาน วิทยุสื่อสารหรือโทรศัพท์มือถือ มี่สามารถสื่อสารปฏิบัติได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาล
1.4 จัดตั้งหน่วยรถพยาบาลที่มีพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลรวม 3 คน ( ควรเป็นชายมากกว่าหญิง และขับรถได้ ) ถ้าจำเป็นอาจมีแพทย์ฉุกเฉินไป 1 คนร่วมไปด้วย ในชุมชนน้ำที่ไม่มีถนนก็จำเป็นต้องมีเรือพยาบาล และในถิ่นทุรดารที่ไม่มีหนทางทางบกหรือทางน้ำ อาจต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ถ้าจำเป็น ในรถ - เรือ - เครื่องบินพยาบาลดังกล่าว ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตรวมทั้งยา คล้ายกับห้องฉุกเฉินขนาดเล็ก มีระบบสื่อสารติดต่อกับห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ และสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
1.5 ปรับปรุงแก้ไขห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลให้เป็น “ ศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ” ที่สามารถรับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถให้บริการในแบบฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการให้คำแนะนำแก่บุคลากรที่อยู่ในที่เกิดเหตุที่โทรศัพท์ถามได้ตลอด

2. ออกกฎหมายและระเบียบรองรับการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่มีระบบป้องกันภัยและประกันสุขภาพที่ครอบคลุมความเสี่ยงต่าง ๆ จากการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ฉุกละหุกและสภาวการณ์ที่เลวร้ายต่าง ๆ รวมทั้งให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามสมควรแก่สภาพงานและผลงานด้วย

3. สร้างระบบสารสนเทศ เพื่อเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และเผยเพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ

4. สร้างระบบติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล วิจัย และหาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อปรับปรุงระบบและวิธีการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุให้ดีขึ้น และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยน เป็นต้น

ระบบเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย
ในปัจจุบันระบบเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย มักจะอาศัยยานพาหนะส่วนบุคคล และ / หรือยานพาหนะรับจ้าง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการที่มีการรุนแรงหรือเจ็บหนัก และบุคคลที่ทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมักไม่มีความรู้ความสามารถในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อยู่สภาพเช่นนั้น จึงใช้วิธีอุ้มหรือหามกันร่องแร่งขึ้นรถหรือลงเรือ เพื่อนำส่งโรงพยาบาล

ในกรณีอุบัติเหตุจราจร อาจจะมีอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยที่มีความรู้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มากนักและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย มักจะใช้วิธีอุ้มหรือหามร่องแร่งคล้ายคลึงกันด้วยยานพาหนะที่ไม่เหมาะสมเช่นเดียวกัน

ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่บางแห่ง โรงพยาบาลของรัฐและของเอกชนหลายแหล่ง ได้ตั้งหน่วยรถพยาบาลที่มีประสิทธิภาพพอสมควร แต่ผู้ป่วยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะสำหรับบริการของเอกชน และก็มีปัญหาเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่ไม่ยอมรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่รถพยาบาลมาส่ง โดยอ้างว่าไม่มีเตียงผู้ป่วย โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ หรือผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น

การปฏิรูประบบเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย จึงต้องประกอบด้วย
1. ระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ครอบคลุม เสมอภาคและเป็นธรรม เพื่อให้โรงพยาบาลต่าง ๆ เต็มใจที่จะรับผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคน
2. กฏหมายและกฏะเบียบ ที่สามารถให้คุณให้โทษแก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้
3. ระบบติดต่อสื่อสาร เพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าโรงพยาบาลใดพร้อมหรือไม่ ที่จะรับผู้ป่วยฉุกเฉินในสภาพนั้น จะได้ไม่เสียเวลาในการเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย
4. ยานพาหนะและบุคลากร ที่เหมาะสมกับสภาวการณ์นั้น ๆ ในกรณีที่โรงพยาบาลมีหน่วยรักษาพยาบาลเคลื่อนที่เร็ว เช่น จักรยานยนต์และบุรุษพยาบาล หน่วยเช่นนี้จะสามารถแจ้งกลับไปยังโรงพยาบาล ว่าต้องการพยาบาลและบุคลากรประเภทใดได้ดีกว่า เป็นต้น
5. ระบบสารสนเทศ เพื่อเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย
6. ระบบติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล วิจัย และหาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อปรับปรุงระบบและวิธีการให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

 

ข้อมูลสื่อ

271-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 271
พฤศจิกายน 2544
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์