• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำปัสสาวะมาจากไหน

น้ำปัสสาวะมาจากไหน


ช่วงนี้เป็นหน้าฝน อากาศโดยทั่วไปค่อนข้างจะเย็นฉ่ำ ร่างกายจึงไม่ค่อยเสียน้ำไปทางเหงื่อเท่าใดนัก ยิ่งถ้าใครทำงานอยู่ในห้องแอร์ด้วยแล้ว จะรู้สึกได้เลยว่าตนเองเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายปัสสาวะมากกว่าในช่วงหน้าร้อน ทั้งที่คุณเองก็ดื่มน้ำน้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำไป แต่ไม่ว่าคุณจะดื่มน้ำมากน้อยเพียงใด ร่างกายจะต้องพยายามรักษาระดับน้ำภายในให้อยู่ในระดับที่สมดุลอยู่เสมอ และอวัยวะที่รับหน้าที่นี้ก็คือ ไต นั่นเอง

ไตทำหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะหน้าที่ในการผลิตน้ำปัสสาวะ (urine) ซึ่งเป็นของเหลว (เสีย) ปริมาณมากที่สุดที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย แต่ก่อนอื่นคงต้องมาดูโครงสร้างทางสรีระของไตกันก่อนว่าเป็นอย่างไร

ในคนแต่ละคนนั้น ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับไตคนละ 2 ข้าง ลักษณะโดยทั่วไปของไต คือ มีสีน้ำตาลแกมแดง รูปร่างคล้ายเม็ดถั่ว ขนาดเท่ากำปั้น ติดอยู่ทางด้านซ้ายและขวาของกระดูกสันหลังส่วนล่างข้างละอันในบริเวณด้านหลังช่องท้อง โดยมีกระดูกซี่โครงทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังอยู่ ในไตแต่ละข้างจะมีหน่วยกรองขนาดจิ๋วเป็นจำนวนกว่าล้านหน่วย ที่เรียกกันว่า “หน่วยไต” (nephron) ซึ่งถ้าใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงๆ ส่องดูแล้ว ก็จะพบว่าพวกหน่วยไตเหล่านี้มีรูปร่างคล้ายกับหนอนหัวโต และมีหางที่เรียกว่า “หลอดไต” (tubule) บิดเป็นเกลียว ผู้รู้เขาบอกว่า หากลองคลายเกลียวหลอดไตเหล่านี้ออกมาต่อกันทั้งหมดแล้ว ก็จะได้ความยาวถึง 112.6 กิโลเมตร ประมาณว่าเป็นระยะทางเท่ากับที่คุณเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดสุพรรณบุรีนั่นทีเดียว

สำหรับการทำหน้าที่ผลิตน้ำปัสสาวะนั้น ไตจะผลิตน้ำปัสสาวะออกมาอย่างไม่ขาดสาย โดยแต่ละวันไตจะผลิตน้ำปัสสาวะได้ประมาณวันละหนึ่งลิตรครึ่ง เริ่มจากหยดเล็กๆ ของของเหลวซึ่งมีของเสียรวมอยู่ ซึ่งของเสียที่มีปริมาณมากที่สุด คือ พวกยูเรีย (urea-ผลผลิตขั้นสุดท้ายของการย่อยอาหารพวกโปรตีน) ให้ออกจากหลอดไตจำนวนหลายล้านตัว และไหลเข้าสู่แอ่งเก็บขนาดเล็กในใจกลางไต แอ่งเก็บน้ำปัสสาวะนี้จะมีท่อต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นก็มีท่อต่อออกสู่ภายนอกร่างกาย ระหว่างที่มีการผลิตปัสสาวะ ร่างกายจะเกิดกิริยาอาการคล้ายระลอกคลื่นของกล้ามเนื้อทุกๆ 10-30 วินาที และจะบีบไล่ให้น้ำปัสสาวะไหลออกสู่ทางออก แต่ในตอนกลางคืนการทำงานของไตจะช้าลงเหลือเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของตอนกลางวัน จึงไม่ต้องลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะกันบ่อยๆ ในตอนกลางดึก

เมื่ออ่านจากตอนต้นคุณอาจจะยังไม่หายสงสัยว่า อากาศเย็นแล้วไปเกี่ยวอะไรกับการที่ต้องปัสสาวะบ่อยๆ ด้วยล่ะ คำตอบก็คือว่า ในช่วงที่อากาศเย็นเลือดที่ไหลไปเลี้ยงผิวหนังจะลดลง ทั้งนี้ก็เพื่อถนอมความร้อนภายในร่างกายเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันเลือดกลับไหลผ่านอวัยวะภายในต่างๆ รวมทั้งไตมากขึ้น ซึ่งไตเองก็มีหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือดอยู่แล้ว จึงได้รับของเสียจากเลือดมากขึ้น ทำให้ต้องผลิตน้ำปัสสาวะมากขึ้นตามไปด้วย

อ้อ! แล้วเขายังบอกอีกนะคะว่า อารมณ์โกรธและกังวลก็จะทำให้มีการผลิตปัสสาวะมากขึ้นด้วย เพราะขณะที่โกรธและกังวล ความดันเลือดในร่างกายจะสูงขึ้น ทำให้เลือดผ่านมาที่ไตมากขึ้น ของเสียที่ออกจากเลือดจึงไปรวมเป็นปัสสาวะมากขึ้นเช่นกัน วันไหนที่รู้สึกว่าอารมณ์บูดหรือกังวลเป็นพิเศษ ก็ไม่ต้องสงสัยนะคะว่าวันนี้ทำไมคุณจึงเดินเข้าออกห้องน้ำบ่อยจัง

ข้อมูลสื่อ

159-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 159
กรกฎาคม 2535
สุกาญจน์ เลิศบุศย์