• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 12)

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 12)


ในยามที่คนเรานอนหลับ ดูเหมือนว่ากำลังเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นไปในความฝันนั้นบ้างก็ดี บ้างก็ร้าย บางครั้งใครหลายคนก็ถือเอาความฝันนั้นเป็นจริงเป็นจัง โดยการนำมาวิเคราะห์เพื่อทำนายอนาคตล่วงหน้าก็มี ความฝันที่ทำให้ผู้ฝันหวาดกลัว ตกใจ หรือที่เรียกว่า ฝันร้ายนั้น อาจเป็นเหตุให้คุณเกิดอาการฝันผวาก็ได้ คุณเองคงไม่อยากเกิดอาการเช่นนี้ แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ


5. ฝันผวา (sleep terrors, night terrors ):
มีลักษณะคล้ายฝันร้าย (nightmares) แต่ร่วมด้วยพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาที่รุนแรงโดยไม่รู้ตัว และจำความฝันหรือพฤติกรรมของตนเองไม่ได้ หรือจำได้อย่างเลือนราง เพราะฝันผวานี้เกิดในขณะหลับสนิท (ระยะที่ 3-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก) ฝันผวาจึงต่างกับฝันร้าย เพราะเกิดในช่วงการหลับที่ต่างกัน (ฝันร้ายเกิดในช่วงการหลับแบบตากระตุก หรือในระยะที่ 1 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก) มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความฝันต่างกัน (ฝันร้ายมักไม่แสดงพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาที่รุนแรง อาจมีเพียงการตกใจตื่น ใจเต้น หรือหวาดกลัวเท่านั้น) และจำความฝันได้ต่างกัน (ฝันร้ายมักจำความฝันได้ดี) เป็นต้น

เช่นเดียวกับการเดินละเมอ ฝันผวาจะพบในเด็กจนถึงวัยรุ่นมากกว่าในผู้ใหญ่ เกิดในระยะหลับสนิท (ระยะที่ 3-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก) เกิดเป็นครั้งคราว (ไม่แน่นอน นานๆ ครั้ง หรือไม่สม่ำเสมอ) มีพฤติกรรม (ปฏิกิริยา) ต่างๆ กัน เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (ไม่รู้ตัว) ไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือจำได้อย่างเลือนราง ผู้ที่ฝันผวาจะตื่นขึ้นอย่างกะทันหัน ร้องไห้สะอึกสะอื้น แม้พ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดจะถามว่าเรื่องอะไรหรือปลอบโยนให้หยุดร้องไห้ ก็ดูเสมือนว่าเขาไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้น และยังร้องไห้สะอึกสะอื้นเหมือนเดิมต่อไปอีกสักพัก (ประมาณ 5-10 นาที แต่อาจนานถึง 20 นาที) แล้วก็จะหลับไปเองใหม่

ในบางครั้งผู้ที่ฝันผวาอาจจะส่งเสียงตะโกน หรือกรีดร้อง แสดงอาการตกใจกลัวอย่างมาก อาจกระโดดลงจากเตียง หรือวิ่งผลุนผลันออกจากห้อง อาจกระโดดลงบันได หรือกระโดดข้ามหน้าต่าง หรือวิ่งทะลุประตูกระจกออกไป ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าใครไปเหนี่ยวรั้งหรือยึดตัวไว้ เขาอาจจะต่อสู้และทำร้ายคนที่พยายามช่วยเขาได้ ถ้าเขาเป็นเด็กเล็กๆ พฤติกรรมหรือปฏิกิริยารุนแรงจะมีน้อย เมื่อโตขึ้นความรุนแรงมักมากขึ้นตามกำลังวังชาที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ฝันผวา มักมีอาการหายใจเร็ว หรือหอบ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก และแสดงอาการสับสน (หลงหรือเลอะเลือน) ยิ่งมีอาการอยู่นาน ยิ่งสังเกตเห็นอาการสับสนได้ชัดขึ้น หลังอาการฝันผวา มักจะหลับต่อไป ถ้าไม่มีอันตราย (อุบัติเหตุ) ร้ายแรงเกิดขึ้น และเมื่อตื่นขึ้นจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ฝันผวาไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็ก หรืออาจจำเหตุการณ์ได้น้อย อาจจำได้เฉพาะสิ่งที่ทำให้ตกใจกลัวอย่างมากเท่านั้น

อาการฝันผวา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ ยกเว้นถ้ามันเกิดขึ้นบ่อย หรือทำให้เกิดอันตรายแก่ตนเองหรือคนรอบข้าง บางครั้งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ปัญหาทางจิตใจ โดยเฉพาะการเก็บกดความไม่พอใจไว้ หรืออื่นๆ

การรักษา : ไม่จำเป็นต้องรักษา ถ้านานๆ จะเป็นสักครั้ง และไม่เกิดอันตรายอะไรขึ้น ถ้าเป็นบ่อยหรือเกิดอันตรายอาจให้การรักษาโดย

1. หาสาเหตุ ถ้าเกิดจากกรรมพันธุ์ ก็ควรรักษาด้วยยา ถ้าเกิดจากปัญหาทางจิตใจ เช่น เด็กขาดความอบอุ่นในครอบครัว เด็กถูกรังแกข่มเหง เด็กเกิดความอิจฉาริษยาพี่หรือน้อง หรืออื่นๆ จะต้องพยายามแก้ไขสาเหตุและให้การรักษาในด้านจิตใจ (จิตบำบัด) ด้วย

2. การรักษาด้วยยา ใช้ในรายที่เป็นมาก หรือเป็นบ่อย โดยให้ยาไดอะซีแพม (diazepam ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) กิน 1-2 เม็ด ก่อนนอน จะช่วยลดอาการฝันผวาได้ ถ้ายังไม่ได้ผล หรือมีปัญหาทางจิตใจ มีการเก็บกด อาจต้องใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าช่วยด้วย เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (amitriptyline ขนาด 10 หรือ 25 มิลลิกรัม) กิน 1 เม็ดก่อนนอน หรือยาอิมิพรามีน (imipramine ขนาด 25 มิลลิกรัม) กิน 1-2 เม็ดก่อนนอน เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ติดต่อกัน อาจช่วยให้อาการดีขึ้น (ดูรายละเอียดเรื่องยาคลายกังวล ยาแก้อาการซึมเศร้า และยานอนหลับ คอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-153)


6. ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขณะหลับ (nocturnal bruxism, sleep toothgrinding)
คือ อาการกัดฟันหรือขบฟันดังกรอดๆ หรือกระแทกฟันเข้าหากันจนเกิดเสียงดัง และเกิดขึ้นในขณะหลับโดยไม่รู้ตัว
อาการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขณะหลับพบได้ค่อนข้างบ่อย ประมาณร้อยละ 10-20 ของประชาชนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในเด็กโตและหนุ่มสาวจะพบบ่อยกว่าในวัยกลางคนและวัยชรา คนในครอบครัวที่มีคนเป็นเช่นนี้จะมีโอกาสเป็นเช่นนี้มากกว่าคนในครอบครัวอื่น

อาการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันมักเกิดขึ้นเป็นจังหวะๆละประมาณ 1 วินาที เพียง 5-10 วินาทีในแต่ละครั้ง แต่ในคืนหนึ่งๆ อาจเกิดได้หลายครั้ง หรือหลายสิบครั้ง การขบเขี้ยวเคี้ยวฟันมักไม่กระทบกระเทือนคนทำ แต่เสียงที่เกิดจากการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันมักจะปลุกคนที่นอนอยู่ข้างๆหรือนอนอยู่ใกล้ๆในระยะ 4-5 เมตรให้ตกใจตื่นขึ้นได้ เพราะเสียงนั้นอาจฟังแล้วน่ากลัว คล้ายเสียงคนหรือสัตว์ที่กำลังกัดแทะกระดูกได้ การขบเขี้ยวเคี้ยวฟันเกิดในช่วงหรือระยะไหนของการหลับก็ได้ และมักพบในช่วงการหลับแบบตากระตุก หรือระยะที่ 2 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก

อาการขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน อาจเป็นผลจากกรรมพันธุ์ โรคสมองอักเสบ หรือสมองพิการบางอย่าง รวมทั้งภาวะปัญญาอ่อน ภาวะขากรรไกรบนหรือล่างผิดปกติ และปัญหาทางจิตใจ โดยเฉพาะความเครียดจากการเปลี่ยนงาน การหย่าร้าง หรือการเก็บกด และอาจพบร่วมกับโรคหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea syndrome) และโรคกระตุกขณะหลับ (nocturnal myoclonus) ได้

การวินิจฉัย : โดยอาศัยประวัติจากคนที่นอนด้วย หรือนอนอยู่ในห้องเดียวกัน และจากการตรวจฟันพบว่า หน้าฟัน (ส่วนที่ฟันสบกัน) สึกกร่อนไปจากการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันนี้

การรักษา : เนื่องจากอาการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขณะหลับส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจเป็นผลจากกรรมพันธุ์ การรักษาจึงช่วยได้เฉพาะการลดความสึกกร่อนของฟัน โดยให้สวมฟันยาง (toothguard, mouthguard) ก่อนเข้านอน

ถ้ามีสาเหตุทางจิตใจ ก็ต้องช่วยแก้ไข และอาจใช้ยาช่วยลดความเครียดลง คนที่ดื่มเหล้า ยาม้า (แอมเฟตามีน) หรือเสพโคเคน (cocaine) ก็ต้องหยุดสิ่งเสพติดเหล่านี้ อาการอาจหายได้ ถ้ามีสาเหตุจากขากรรไกรผิดปกติ (พบน้อยมาก) อาจจะต้องผ่าตัดแก้ไขให้เป็นปกติ เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

159-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 159
กรกฎาคม 2535
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์