• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

ระบบห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาล
ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลบางส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐยังเป็นจุดอ่อนที่แพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่ไม่อยากปฎิบัติงาน เพราะต้องได้ภาระหนัก ฉุกละหุก เครียด เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง และการถูกฟ้องร้อง และยังได้ผลตอบแทนเท่ากับหรือน้อยกว่าบุคลากรในหน่วยงานอื่นที่งานสบายกว่ากันมาก จึงต้องมีการหมุนเวียนแพทย์ไปตรวจรักษาผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน และแพทย์ที่อ่อนอาวุโสและประสบการณ์ โดยเฉพาะแพทย์ที่จบใหม่มักจะถูกบังคับให้รับงานนี้ จึงเกิดความผิดพลาดง่ายและไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ”และ “ ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ” ทำให้ห้องฉุกเฉินเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัวและน่าเบื่อสำหรับบุคลากรและผู้ป่วยด้วย

เนื่องจากห้องฉุกเฉินเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล การจะปฏิรูประบบห้องฉุกเฉินได้ จึงต้องปฎิรูประบบโรงพยาบาลด้วย เช่น
1. การสร้างจิตสำนึก ให้บุคลากรทุกคนโดยเฉพาะผู้บริหารโรงพยาบาล ตระหนักว่า ห้องฉุกเฉินเป็น “ ห้องรับแขก ” ของโรงพยาบาลและบุคลากรทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องทำห้องฉุกเฉินให้เป็น “ ห้องรับแขก ” ที่ทุกคนปรารถนาจะเข้าโดย
- การปรับปรุงสถานที่ให้โปร่งใส สะอาด สดใส และใช้งานได้เต็มที่
- การจัดหาอุปกรณ์การตรวจรักษาต่าง ๆ ให้พอเพียง และอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตลอดเวลา
- การจัดหาบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ที่สนใจและชอบงานผู้ป่วยฉุกเฉิน เข้าประจำห้องฉุกเฉิน (ไม่บังคับและไม่หมุนเวียน) และให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ตามลักษณะงานและผลงาน
- การจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการบำรุงรักษาสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากร เป็นต้น

2. วางหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติ ที่เหมาะสมสำหรับบริการของห้องฉุกเฉินในแต่ละโรงพยาบาล เช่น
- ห้องฉุกเฉินควรจะตรวจเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเจ็บหนักเท่านั้น หรือควรจะตรวจผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินหรือไม่เจ็บหนักด้วย

3. การหมุนเวียนเตียงในหอผู้ป่วย เพื่อให้มีเตียงว่างสำหรับการรับผู้ป่วยฉุกเฉินได้ตลอดเวลา ซึ่งต้องการการเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อจะจำหน่ายผู้ป่วยได้เร็วขึ้น

4. การแบ่งเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาล เพื่อลดภาวะผู้ป่วยที่ชอบตระเวนไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และผู้ป่วยที่ชอบเดินทางไกลโดยไม่จำเป็น หรือไม่มีใบส่งตัวจากแพทย์ การส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่เสียสุขภาพจากการเดินทาง แล้วยังลดจำนวนผู้ป่วยต่างเขตลงได้ เป็นต้น

5. การพัฒนาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพื่อให้การตรวจรักษาในห้องฉุกเฉินเป็นไปได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วทันเหตุการณ์ มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยการจัดตั้ง “ ศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ” ขึ้นในโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาให้ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินในโรงพยาบาลประกอบด้วย
- จุดรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าออกได้สะดวกและอยู่ใกล้ห้องฉุกเฉิน มีบุคลากรพร้อมรถเข็นและเตียงเข็นคอยรับผู้ป่วยจากรถหรือเรือที่นำผู้ป่วยมาส่งได้ทันที และมีสถานที่สำหรับจอดรถหรือเรือที่นำผู้ป่วยมาส่งชั่วคราว
- ระบบจัดทำและ/หรือค้นหาเวชระเบียนได้อย่างเร่งด่วน โดยตัดตอนขั้นตอนที่ทำให้ล่าช้าทั้งหมด โดยเฉพาะขั้นตอนที่จะสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับที่อยู่ ครอบครัว หรือสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล
- ระบบคัดกรอง ที่มีประสิทธิภาพเพื่อจำแนกผู้ป่วยที่เร่งด่วน สำหรับการรักษาพยาบาลตามลำดับความฉุกเฉินและความรุนแรงของอาการ
- ระบบตรวจรักษา โดยแพทย์และพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์
ในการตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ความพร้อมของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์สำหรับการตรวจรักษา และการตรวจทางห้องปฏิบัติที่สะดวกรวดเร็วและตรงเป้าหมาย มีห้องสังเกตอาการที่ผู้ป่วยนอนพัก
- ระบบตรวจรักษาต่อเนื่อง ที่สามารถรองรับการตรวจรักษาเพิ่มเติมให้แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งเสียงในหอผู้ป่วยที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย
- ระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดจากโรงพยาบาลอื่น ในกรณีที่โรงพยาบาลแรกไม่สามารถให้บริการนั้นได้
- ระบบประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ตำรวจ สังคมสงเคราะห์ สถานที่พักฟื้นคนป่วย คนพิการ และอื่น ๆ เป็นต้น
- ระบบบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ และมีระบบงานที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนา “ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ”และ “ ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ” ด้วย
- ระบบช่วยเหลืองานฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เช่น ฝึกอบรมบุคลากรใหม่และการฝึกอบรมต่อเนื่อง สนับสนุนเครื่องมือแพทย์เทคโนโลยี และวิชาการใหม่ ๆ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยฉุกเฉินรักษาพยาบาลฉุกเฉินต่าง ๆ

6. การพัฒนาเวชศาสตร์ทั่วไป เพื่อให้แพทย์และพยาบาล เน้นการป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพ วิธีการดูแลรักษาโรคและป้องกันโรคกำเริบโดยผู้ป่วย การดูแลรักษา “ คน ” มากกว่า “ ไข้ ” “ สาธารณสุขพอเพียง ” มากกว่า “ สาธารณสุขสุดโต่ง ” เป็นต้น

ระบบประกันสุขภาพยามฉุกเฉิน
จากการสำรวจของ “ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ” โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินในกรุงเทพฯร้อยละ 60 และในต่างจังหวัดร้อยละ 40 ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด และผู้ป่วยที่คิดว่าจะเดือดร้อนค่ารักษาพยาบาลมีถึงร้อยละ 76

นอกจากนั้นผู้ป่วยฉุกเฉินกว่าร้อยละ 97 ต้องรับผิดชอบในการเดินทางไปยังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ จึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางเองด้วย

ผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากจึงไม่สามารถไปโรงพยาบาล และหลายรายถูกปฎิเสธการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาล หรือถูกผลักไสไปยังโรงพยาบาลอื่น แม้กฎระเบียบห้ามไม่ให้โรงพยาบาลปฎิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก็ตาม

จึงจำเป็นต้องมี “ ระบบประกันสุขภาพยามฉุกเฉิน” อย่างเร่งด่วน ถ้า “ ระบบประกันสุขภาพ ”โดยรวมยังต้องใช้เวลาพินิจพิจารณาอีกนาน เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง และเป็นสาเหตุแห่งการทุกข์ทรมานอย่างฉับพลันทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

ในประเทศไทย มีผู้ใช้บริการห้องฉุกเฉินประมาณ 6 ล้านครั้ง / ปี ค่ารักษา 2,785 บาท / ครั้งโดยเฉลี่ย หรือประมาณ 16,710 ล้านบาท / ปี ซึ่งน่าจะมีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณก้อนนี้สำหรับภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่ตกประมาณ 2 แสนล้าน /ปี

นอกจากนั้น เงินอีกประมาณ 1,000ล้านบาท / ปี หรือประมาณ 18 บาท / คน / ปี จะสร้างหลักประกันให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการนำส่งโรงพยาบาลในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยประชาชนที่เจ็บป่วยวิกฤติจะได้รับการดูแลรักษาภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุจากรถพยาบาลพร้อมบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อรักษาพยาบาลฉุกเฉินโดยเฉพาะด้วย

ประชาชนจึงต้องร่วมกันผลักดันให้นักการเมืองและข้าราชการเร่งจัดสรรงบประมาณจำนวนนี้ เพื่อลดความตาย ความพิการ และความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 6 ล้านราย / ปีลงให้ได้

สรุป
ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉินในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนอยู่มาก การปฎิรูประบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินจะต้องเริ่มที่การสร้างระบบปฐมพยาบาล โดยผู้พบเห็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ถูกต้องและไม่มีภาวะแทรกซ้อน การรวบรวมระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินให้เป็นเอกภาพ จนผู้พบเห็นเหตุฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้สะดวก และศูนย์รับแจ้งเหตุสามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการได้ทันที มี “ หน่วยฉุกเฉินชุมชน ” มีหน่วยรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ ทั้งแบบเคลื่อนที่เร็วและแบบเพิ่มเติม มีหน่วยเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยที่รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่มีผิดเป้าหมาย มี “ ศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ” ในโรงพยาบาลที่สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพปละประสิทธิผล และมีระบบประกันสุขภาพผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม

 

ข้อมูลสื่อ

272-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 272
ธันวาคม 2544
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์