• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 15)

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 15)


นอกจากการปัสสาวะรดที่นอนซึ่งมักเกิดขึ้นในเด็กขณะหลับแล้ว อาการโขกศีรษะ กลิ้งศีรษะ และการโยกตัว ก็เป็นอาการที่อาจจะพบได้ในเด็กเช่นเดียวกัน ซึ่งอาการเหล่านี้บ่อยครั้งทีเดียวได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่พ่อแม่ด้วยเหตุที่คิดว่าเป็นความผิดปกติของลูก แต่แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุอะไร จะแก้ไขได้อย่างไร เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนคงอยากรู้
 

9. โขกศีรษะขณะหลับ (headbanging in sleep, jactatio capitis nocturna) และกลิ้งศีรษะขณะหลับ (headrolling in sleep) คือ การโขกศีรษะไปข้างหน้าหรือข้างหลัง และการหันศีรษะไปทางซ้ายทางขวา (กลิ้งไปมา) ในขณะหลับ ครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือตื่นแต่นอนเล่นอยู่ อาการที่คล้ายคลึงกันแต่เกิดในขณะตื่น คือ การโยกตัวไปมา (body rocking) ซึ่งพบบ่อยกว่าการกลิ้งศีรษะและการโขกศีรษะตามลำดับ (ประมาณร้อยละ 20.6 และ 3 ของเด็กปกติ) โดยทั่วไปจะพบอาการทั้ง 3 นี้ในทารกและเด็กเล็ก (อายุ 6 เดือนถึง 4 ปี) แต่อาจจะเป็นต่อมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ เด็กคนเดียวกันอาจจะมีอาการทั้ง 3 อย่างได้ แต่มักไม่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน เช่น อาจเริ่มด้วยการโยกตัวก่อนเมื่อตอนเริ่มมีอาการ ต่อมาอีก 3-4 เดือน เปลี่ยนเป็นการโขกศีรษะ และต่อมาอีก 1-2 ปี เปลี่ยนเป็นการกลิ้งศีรษะ เป็นต้น

การโขกศีรษะ มักจะเกิดขึ้นในขณะที่เด็กนอนหงายหรือนอนคว่ำอยู่ โดยจะโขกศีรษะไปข้างหน้าหรือไปข้างหลังกระแทกกับหมอนที่นอนอยู่ หรือบางครั้งอาจโขกกับข้างเตียง (เตียงนอนเด็ก) พื้นบ้าน หรือผนังห้องในบริเวณที่นอนอยู่ได้ ทำให้เกิดเสียงดังเป็นที่น่าตกใจสำหรับพ่อแม่และผู้ที่พบเห็นมากกว่าการกลิ้งศีรษะและการโยกตัวไปมา การโขกศีรษะมักจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มหลับในเวลากลางคืนมากกว่าเวลากลางวัน หรือในขณะที่ง่วงมากและกำลังจะหลับ แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกระยะและทุกช่วงของการหลับ รวมทั้งขณะตื่น การโขกศีรษะมักเป็นอยู่ประมาณ 5-15 นาทีต่อครั้ง และวันหนึ่งๆ อาจจะเป็นได้หลายๆ ครั้ง เมื่อเด็กหลับแล้ว การนอนหลับจะเหมือนกับเด็กอื่น

การโขกศีรษะจะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงประมาณ 3 เท่า อาจพบในลูกคนโต และลูกคนสุดท้องมากกว่าคนอื่น และในเด็กปัญญาอ่อนมากกว่าเด็กปกติ (ในคนที่ปัญญาอ่อนอาการนี้มักจะติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่) และจะเป็นมากขึ้นเวลาเครียด เด็กที่โขกศีรษะจะดูดนิ้ว (ร้อยละ 9) น้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป (ร้อยละ 45) แต่อาจจะปัสสาวะรดที่นอนนานกว่าเด็กปกติ และอาจจะเกิดอาการหัวโนบริเวณที่โขกถูกของแข็ง หรืออื่นๆ โดยเฉพาะในเด็กปัญญาอ่อน แต่เด็กมักจะรู้สึกสนุกและไม่ร้องไห้ แม้บางครั้งจะโขกศีรษะอย่างแรงจนผู้ใหญ่รู้สึกเจ็บแทน

การกลิ้งศีรษะ มักจะเกิดขึ้นในขณะที่เด็กนอนหงาย โดยเด็กจะหันศีรษะไปทางซ้ายทีทางขวาทีสลับกันไปมา แต่ละครั้งมักไม่เกิน 15 นาที และมักเกิดขึ้นเมื่อเด็กตื่นและอยู่ในเตียงเพียงคนเดียว แต่ในเด็กโตและในผู้ใหญ่มักเกิดในช่วงการหลับแบบตากระตุก การกลิ้งศีรษะในเด็กชายหญิงพอๆ กัน

การโยกตัว มักจะเกิดในท่าหมอบ โดยโยกตัวไปข้างหน้า (หัวทิ่มลงไปบนหมอน) และไปข้างหลัง แต่ก็อาจพบในท่านั่ง ท่านอนคว่ำ และ/หรือท่านอนหงายได้ตามลำดับ การโยกตัวมักเกิดขึ้นครั้งละไม่เกิน 15 นาทีเช่นเดียวกัน และมักเกิดในขณะที่มีเสียงเพลง หรืออ่อนเพลีย หรือถึงเวลานอนของเขาแล้ว แต่ยังไม่ได้นอน มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและในขณะตื่นอยู่

อันที่จริงการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะมือ เท้า หรือแขนขา เป็นจังหวะในขณะตื่น เช่น การเคาะนิ้ว ตบเท้า สั่นขานั้น พบได้แม้ในหนุ่มสาว และวัยชรา โดยเฉพาะในขณะที่ฟังเพลง หรือร้องเพลง หรือนั่งปล่อยอารมณ์อยู่ตามลำพัง หรือในขณะเครียด ดังนั้นการโขกศีรษะ กลิ้งศีรษะ โยกตัวในเด็กจึงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องวิตกกังวลและคิดว่าเด็กผิดปกติ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายเองเมื่ออายุ 4 ปี มีส่วนน้อยที่อาจเป็นต่อจนถึงอายุ 10-12 ปี ที่ติดมาจนถึงวัยหนุ่มสาวมีน้อยมาก นอกจากในกลุ่มที่เป็นโรคปัญญาอ่อน (mental retardation)

การรักษา : เกือบทั้งหมดไม่ต้องรักษา เพราะจะหายเอง ยกเว้นแต่ในกรณีที่เด็กเหงาหรือเครียด (ขาดความอบอุ่น) การกอดรัดอุ้มชูเด็กบ่อยๆ อาจช่วยให้อาการเหล่านี้ลดลง ในกรณีที่เด็กโขกศีรษะแรงมาก หรือโยกตัวแรงมากจนหัวโน หรือได้รับอันตรายอื่นๆ ควรจะหุ้มหรือบุส่วนที่แข็งต่างๆ เช่น พื้นเตียง ขอบเตียง ข้างเตียง ด้วยผ้านวม หรือหมอนบางๆ ในกรณีที่เป็นมาก และรบกวนผู้อื่นมากจากเสียงที่เกิดขึ้น การใช้ยาไดอะซีแพม อิมิพรามีน หรือยานอนหลับ อาจจะช่วยลดอาการเหล่านี้ลงได้ (ดูเรื่องยาเหล่านี้ในคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 153) 

อย่างไรก็ตาม ต้องอธิบายให้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กเข้าใจว่าอาการเหล่านี้เป็นของปกติ ไม่ต้องวิตกกังวลหรือคิดว่าสมองของเด็กผิดปกติ หมอบางคนยังพบว่า เด็กที่โยกตัวมักจะพัฒนาเร็วกว่าเด็กที่ไม่โยกตัวเสียอีก และแม้แต่ในผู้ใหญ่ก็มีการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะได้ เช่น การเคาะนิ้ว กระดิกนิ้ว ตบเท้า สั่นขา เป็นครั้งคราวได้เช่นเดียวกัน โดยไม่มีความผิดปกติใดๆ นอกจากว่าอาจรบกวนผู้ที่อยู่ใกล้ๆ และทำให้เสียบุคลิกเท่านั้น
 

10. ผีอำ (sleep paralysis) คือ อาการหมดแรงอย่างสมบูรณ์หรือเพียงบางส่วน ทำให้มีลักษณะเหมือนคนเป็นอัมพาตทั้งตัว หรือขยับแขนขาไม่ได้ ลืมตาไม่ได้ พูดไม่ได้ หรือหายใจลึกๆ ไม่ได้ในขณะที่รู้สึกว่าตนเองตื่นอยู่ มักจะเกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะหลับหรือกำลังจะตื่น มักจะมีการเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงหลอน หรือฝันร้ายร่วมด้วย ทำให้ตกใจกลัวมากขึ้น คนที่เกิดผีอำมักจะรู้สึกถึงสภาพหมดแรงที่เกิดขึ้นได้ดี (ทั้งที่อยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น เพราะกำลังจะหลับหรือกำลังจะตื่น) และมักจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีเมื่อตื่นขึ้น ผู้ที่เกิดผีอำครั้งแรกมักจะตกใจกลัวมาก จนรู้สึกเสมือนว่า ตนเองกำลังจะตาย โดยเฉพาะถ้าเห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงหลอนที่คุกคามชีวิตของตนด้วย เมื่อตกใจตื่นขึ้นในอีกไม่กี่นาทีต่อมา จึงอาจร้องเอะอะโวยวาย ร้องไห้ หอบเหนื่อย หน้าซีด ตัวสั่น หรือแสดงอาการตกใจกลัวอื่นๆ

ผู้ที่เกิดผีอำมาแล้วหลายๆ ครั้งจะไม่ค่อยตกใจกลัว เพราะรู้ว่าอาการดังกล่าวไม่มีอันตรายอะไร และมักเป็นอยู่ชั่วครู่เดียว (ไม่เกิน 10 นาที) อาการผีอำที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะหลับ มักจะเกิดจากโรคลมหลับ (narcolepsy) และโรคผีอำตามกรรมพันธุ์ (familial sleep paralysis) (ดูเรื่องโรคลมหลับ ในคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ฉบับที่ 155)

ส่วนอาการผีอำที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะตื่น อาจจะเกิดจากโรคลมหลับ หรืออาจจะเกิดในคนที่อดนอนหรือนอนไม่พอมาหลายวัน หรือเข้านอนผิดเวลาได้ อาการผีอำมักเกิดทันทีเมื่อหมดช่วงการหลับแบบตากระตุก จะเป็นอยู่ไม่กี่นาที แล้วค่อยๆ หายหรือหายทันทีเมื่อถูกเรียกหรือถูกสัมผัส (ถูกปลุก) โดยใครก็ได้ ผู้ที่เป็นผีอำจะรู้สึกว่าตนนั้นตื่นอยู่ แต่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ทั้งที่ตนได้พยายามขยับเขยื้อนแล้ว พยายามตะโกนเรียกให้คนช่วยแล้ว (แต่ไม่มีคนได้ยิน เพราะไม่มีเสียงออกมา) และเมื่อตื่นขึ้นจะจำเหตุการณ์และเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้

การรักษา : ถ้านานๆ เป็นครั้ง หรือเกิดจากการอดนอน นอนไม่พอ หรือนอนผิดเวลา ไม่ต้องรักษา นอกจากนอนพักผ่อนให้พอ และอย่านอนผิดเวลาเท่านั้น ถ้าเป็นบ่อยหรือเป็นมาก กลัวมาก หรือไม่สามารถหลับให้พอได้เอง การใช้ยาที่ลดการหลับแบบตากระตุก เช่น ยาอิมิพรามีน (imipramine เม็ดละ 25 มิลลิกรัม) 1-2 เม็ดก่อนนอน จะช่วยให้หลับแบบตาไม่กระตุกเพิ่มขึ้น ทำให้อาการผีอำและอาการหลอน (ซึ่งเกิดในการหลับแบบตากระตุก) ลดลง และทำให้อาการผีอำดีขึ้น หรือหายไปได้)

ข้อมูลสื่อ

162-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 162
ตุลาคม 2535
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์