• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรียนพิเศษ

เรียนพิเศษ


“เรื่องอยุติธรรมเช่นนี้ทุกคนพากันยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย มีแต่คนโวยวายถึงความหนักหนาสาหัสในการฝากเด็กเข้าเรียน แต่ไม่ยักมีคนคิดแก้ไขสักที”

“เราลูกไปเรียนพิเศษด้วยนะ” คือ คำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของกัปตันเครื่องบินพระที่นั่ง “โบอิ้ง 737” ก่อนออกจากบ้านไปประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมเรียนพิเศษของลูกกลายเป็นกิจกรรมประจำซึ่งมีความสำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับบ้านที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเรียน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ วันหยุดสุดสัปดาห์ของเด็กๆ คือ วันเรียนพิเศษ เด็กบางคนยังเรียนเพิ่มในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนวันธรรมดาด้วย

กิจกรรมเรียนพิเศษเพื่อกวดวิชาให้ลูกนี้ เริ่มตั้งแต่วัยอนุบาล หรือวัยก่อนอนุบาลเสียด้วยซ้ำ สำหรับเด็กที่พ่อแม่อยากให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนฝรั่งชื่อดัง ส่วนพวกที่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนสาธิตฯ ก็ให้ลูกไปฝึกเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน

สรุปแล้วถ้าอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงไม่ว่าในระดับประถมหรือมัธยม พ่อแม่ต้องมี “3 ถึง” คือ ใจถึง เส้นถึง และเงินถึง

ใจถึง หมายถึง มีจิตใจกล้าทุ่มเททุกอย่างเพื่อลูก ยอมสละเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกอยู่เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำหน้าที่สารถีขับรถรับส่งลูกไปเรียนพิเศษ และหากิจกรรมพิเศษทำเพื่อฆ่าเวลาระหว่างรอลูกเรียน เพราะรถติดอย่างทุกวันนี้ขืนกลับบ้านก็คงต้องออกมาใหม่ทันทีที่ถึงประตูบ้าน ส่วนพ่อแม่ที่ใช้บริการรถประจำทางนั้น จำต้องรอลูกโดยไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว พ่อแม่บางคนอ่านหนังสือพิมพ์รอ บางคนถือโอกาสนอนพักผ่อนเอาแรงหลังจากทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์ บางคนสอนการบ้านลูกคนเล็กระหว่างรอลูกคนโตเรียน นักบัญชีเอาบัญชีมานั่งทำ ครูเอาการบ้านมาตรวจ พ่อแม่หลายคนนั่งคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับลูกบ้าง โรงเรียนบ้าง บางคนก็ไปจ่ายตลาดซื้อของตามห้างร้านที่อยู่ใกล้โรงเรียนกวดวิชา เหล่านี้คือ กิจกรรมของพ่อแม่ลูกชาวกรุงโดยทั่วไปในวันหยุดสุดสัปดาห์

คุณสมบัติของพ่อแม่อีก 2 ข้อ คือ เส้นถึง และ เงินถึง นั้น ไม่ต้องสาธยายก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เรื่องอยุติธรรมเช่นนี้ทุกคนพากันยอมรับว่า เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย มีแต่คนโวยวายถึงความหนักหนาสาหัสในการฝากเด็กเข้าเรียน แต่ไม่ยักมีคนคิดแก้ไขสักที ความจริงหากทุกอย่างดำเนินไปตามกติกา ปัญหาก็จะไม่เกิดเหมือนการจราจรเวลารถติด รถเข้าคิวรอกันยาวเหยียดอย่างอึดอัด พอมีคนเส้นใหญ่ใจถึงไม่กลัวถูกตำรวจจับ แหกกฎแซงเข้าไปในทางรถสวน คนอื่นก็จะตามเข้าไปเป็นพรวน ผลก็คือจราจรกลายเป็นจลาจลเละตุ้มเป๊ะกันอยู่ทุกวัน

หากสร้างระบบให้ทุกคนต้องเคารพกติกาเหมือนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีใครแหกกฎได้ไม่ว่าจะใช้เส้นหรือเงินก็ตามความวุ่นวายจะไม่เกิด หรือถ้าจะไม่สอบ ก็จับสลากไปเลยทุกคนเสี่ยงดวงเท่ากัน ใครอยากใช้เส้นใช้เงินให้ลูกเข้าโรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐบาลซึ่งสร้างจากเงินภาษีของราษฎร ควรเปิดโอกาสให้แก่เด็กทุกคนในเขตนั้นอย่างเท่าเทียมกัน

เขียนถึงเรื่องเรียนพิเศษก็ต้องพัวพันกับระบบการสอบเข้าเช่นนี้ เพราะการเรียนพิเศษ คือ การเพิ่มความสามารถและความได้เปรียบในการสอบแข่ง ยิ่งการแข่งขันสูงขึ้น การกวดวิชาก็เข้มข้นขึ้น เพื่อนที่มีลูกยังอยู่ในวัยประถมพากันบอกว่าไม่กล้ารอจนถึง ป.6 จึงกวดวิชาเหมือนสมัยลูกดิฉัน แล้วเดี๋ยวนี้เด็กอยู่ ป.4 - ป.5 ก็ต้องเริ่มพาไปกวดวิชาเตรียมตัวสำหรับสอบเข้า ม.1

ดิฉันเตือนว่า กวดวิชามากไปเด็กจะเบื่อไปโรงเรียนนะเพราะโรงเรียนกวดวิชาสอนเข้มข้นและสอนเทคนิคคิดทางลัดมาก ทำให้เด็กรู้สึกว่าเรียนในโรงเรียนธรรมดานั้นอืดอาดไม่ทันใจ ครูไม่เก่ง เพื่อนก็ว่า ถึงยังไงก็ต้องพาลูกไปเรียนพิเศษค่ะ เพราะใครๆ เขาก็ไปกันทั้งนั้น เดี๋ยวลูกจะสู้เด็กอื่นไม่ได้หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาค่อยหาทางแก้ไขเอาภายหลังดีกว่า แต่ปัญหาปัจจุบันของเพื่อน ก็คือ ไม่รู้ว่าจะหาเวลาบรรจุกิจกรรมเรียนพิเศษของลูกลงไปได้อย่างไร ภายในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะทุกวันนี้เวลาก็เต็มปรี่อยู่แล้ว

เช้าวันเสาร์เรียนภาษาอังกฤษ บ่ายเรียนแบดมินตัน เช้าวันอาทิตย์เรียนเปียโน บ่ายเรียนว่ายน้ำ เธอว่าพยายามเน้นกิจกรรมด้านคนตรี และกีฬามากกว่าการกวดวิชาอยู่แล้ว และที่เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก็เพื่อเน้นด้านสนทนาภาษาอังกฤษ ซึ่งทางโรงเรียนไม่มีครูฝรั่งสอนสำเนียงที่ถูกต้อง

ดิฉันเสนอความคิดให้ตัดกิจกรรมที่เด็กไม่ชอบออก เธอก็ว่าลูกชอบทุกอย่างจึงไม่รู้จะตัดอะไรออกดี เรื่องนี้คงต้องให้เด็กเป็นผู้ตัดสินเอง กิจกรรมเรียนพิเศษของเด็กแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ เรียนฝึกทักษะ และ เรียนกวดวิชา

กิจกรรมฝึกทักษะ เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกายในการฝึกเป็นเวลานาน เช่น กิจกรรมจำพวกดนตรี กีฬา และภาษา ซึ่งฝึกในวัยเด็กจะได้ผลดีกว่าและง่ายกว่า ส่วนการเรียนกวดวิชา คือ การเรียนเสริมด้านวิชาการเพิ่มเติม

การเรียนด้านวิชาการนั้น โรงเรียนไทยสอนหนักมากสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมอยู่แล้ว ถ้าเด็กต้องมาเรียนเพิ่มเติมหลังเลิกเรียนอีกก็จะเกิดความเครียด ในวัยประถม ดิฉันไม่สนับสนุนให้ลูกเรียนพิเศษทางวิชาการเพิ่มเติม ไม่ว่าที่โรงเรียนหรือที่อื่น แต่ลูกร้องขอเรียนพิเศษตอนพักกลางวันที่โรงเรียนทุกปี ได้ความจากเพื่อนที่สอนอยู่โรงเรียนประถมของเอกชนว่า รายได้จากการสอนพิเศษมีความสำคัญมากสำหรับครูเพราะเงินเดือนน้อยนิดเดียว ให้ลูกเรียนก็ดีจะได้ไม่มีการบ้าน เพราะส่วนใหญ่เป็นการสอนทำการบ้าน เป็นการแก้ปัญหาให้กับพ่อแม่ซึ่งไม่ประสีประสากับการบ้านของเด็กสมัยเรียนไปด้วย

ความรู้อย่างหนึ่งซึ่งได้จากครูประถม คือ พ่อแม่ของเด็กที่มีฐานะดีมีแนวโน้มที่จะให้ลูกเรียนพิเศษมาก บางคนนอกจากเรียนพิเศษที่โรงเรียนแล้ว วันหยุดก็ไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา แถมยังจ้างครูมาสอนพิเศษที่บ้าน เพื่อกวดวิชาที่เรียนมาจากโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับกิจกรรมด้านฝึกทักษะนั้น ดิฉันขยันพาลูกไปร้อนโน่นร้องนี้ตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการเรียนว่ายน้ำซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมจำเป็นอันดับแรก เพื่อความปลอดภัยของชีวิตเด็กชาวเวนิสตะวันออก เมื่อเด็กว่ายน้ำเป็นและเริ่มเบื่อที่จะเรียนก็เลิกไปโดยปริยาย

ทักษะทางด้านดนตรีเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้ดิฉันมีประสบการณ์ด้วยตนเอง เมื่อไปเรียนที่ญี่ปุ่น ตอนแรกดิฉันเลือกเรียนศึกษาศาสตร์ รุ่นพี่ที่นั้นบอกให้ไปเรียนเปียโนเตรียมไว้ เพราะถ้าเลือกเรียนครูอนุบาลจะต้องเล่นเปียโนเป็น แต่การเริ่มเรียนดนตรีในวัยมหาลัยนั้น ถึงจะเล่นได้ก็แยกเสียงไม่ออก เพราะ “หูแก่เกินไปเสียแล้ว” เมื่อลูกเรียนดนตรีจึงเห็นความมหัศจรรย์ของเด็กเล็กๆ ที่สามารถแยกเสียงออกได้ภายในเวลาไม่นานนัก ในขณะที่แม่เรียนตั้งหลายปียังแยกเสียงไม่ออกจนทุกวันนี้

เรื่องสำเนียงเสียงภาษาก็เช่นเดียวกัน “ลื้นแก่ดัดยาก” เด็กๆ ชอบว่าแม่พูดภาษาญี่ปุ่นเพี้ยน ดิฉันยอมรับว่าหมดปัญญาแก้ไข ขอให้สื่อความหมายได้ก็พอใจแล้ว เวลาพอพูดภาษาไทยก็มีเรื่องให้ลูกหัวเราะก๊ากกันได้บ่อยๆ เช่น “หมาจิ้งจอก” กลายเป็น “หมาจิ้งจก” “ความทุกข์” กลายเป็น “ความตุ๊ก” เป็นต้น เรียกว่าเรียนภาษาเมื่อแก่ ถ้าไม่มีพรสวรรค์จริงๆ ก็เก่งยาก

เมื่อการเรียนการสอนด้านดนตรีและภาษาต่างประเทศในโรงเรียนไม่มีคุณภาพ พ่อแม่ก็ต้องให้ลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม โดยเฉพาะวิชาดนตรีนั้น เด็กบอกว่าที่โรงเรียนเรียนท่องจำเนื้อเพลงเป็นหลัก ขืนเรียนแบบนี้เรียนสักกี่ปีก็ไม่มีดนตรีในหัวใจแน่

ทางด้านกีฬานั้น นอกจากว่ายน้ำแล้ว ดิฉันเคยพาลูกไปเรียนยิมนาสติกที่ศูนย์ฝึกกีฬาในร่มที่หัวหมากอยู่พักหนึ่ง เพราะอยู่ใกล้บ้านและเป็นกีฬาที่ฝึกร่างกายได้ดี แต่ลูกๆ ไม่ค่อยชอบและอิดเอื้อนไม่อยากไป จึงเลิกไปโดยปริยายเหมือนกัน

มาถึงตอนนี้ลูกเห็นนักยิมนาสติกเก่งๆ ก็บ่นว่าแม่ไม่น่าให้เลิกเรียนเลย น่าจะบังคับให้ลูกเรียนต่อมาเรื่อยๆ จึงสารภาพกับลูกไปว่า แม่ตัดสินใจเลิกเด็ดขาดก็เพราะไปทีไร เห็นนักยิมนาสติกเข้าเฝือกเดินขากะเผลกบ้าง แขนเดาะบ้าง แม่ก็เลยพาลูกถอยดีกว่า

พอขึ้นชั้นมัธยมดิฉันปล่อยให้ลูกตัดสินใจเองว่าจะเรียนหรือไม่เรียนอะไร เพราะขึ้นรถเมล์ไปเรียนเองได้แล้ว ยกเว้นบางแห่งที่ขึ้นรถประจำทางไปไม่สะดวกแม่ก็อาสาไปรับส่งให้ นอกจากเรียนพิเศษวันเสาร์ครึ่งวันที่โรงเรียนและเรียนดนตรีแล้ว ลูกขอเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนสนทนาภาษาอังกฤษ เรียนเทนนิส และเรียนกวดวิชา พอดิฉันบ่นว่ามันมากเกินไปแล้ว วันอาทิตย์น่าจะมีเวลาพักผ่อนบ้าง ค่อยๆ เรียนไปเรียนทีละอย่างสองอย่างดีกว่า ลูกก็ว่าเพื่อนๆ เรียนมากกว่านี้อีก ความจริงอยากเรียนพิเศษกับอาจารย์ตอนเย็นวันธรรมดาเหมือนเพื่อนๆ ด้วยซ้ำ แต่กลัวกลับบ้านค่ำ

หลังจากเฝ้าดูกิจกรรมเรียนพิเศษของลูกๆ รวมทั้งลูกเพื่อนและเพื่อนลูกมาเป็นเวลาหลายปี ดิฉันมีความรู้สึกว่าเด็กจะกระตือรือร้นอยากเรียนเฉพาะในสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ และเรียกร้องอยากเรียนเอง สิ่งที่พ่อแม่เสนอให้และลองเรียนไปแล้วเขาไม่ชอบก็จะเกิดอาการกระบิดกระบวนไม่ค่อยอยากไปเรียน และในที่สุดก็ต้องเลิกไปโดยปริยาย ยิ่งถ้าถูกบังคับให้เรียนต่อไป เด็กก็ทู่ซี้เรียนแบบซังกระตาย เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หากเป็นเด็กโตก็ทำท่าไปเรียนแต่หนีไปเที่ยวโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ เพราะไม่ได้ไปเฝ้าอยู่ตลอดเวลา

สิ่งจูงใจที่ทำให้เด็กอยากไปเรียนพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ “เพื่อน” เด็กสมัยนี้วันหยุดอยู่กับบ้านก็ได้แต่ดูโทรทัศน์ อ่านการ์ตูน หรือเล่นเกมอยู่คนเดียว เพื่อนไปเรียนพิเศษกันหมก ไม่มีใครเล่นด้วย ธุรกิจสอนพิเศษจึงเฟื่องฟูฟู่ฟ่าขึ้นทุกปี เพราะพ่อแม่ยินดีจ่ายแบบแพงไม่ว่า เพื่อการศึกษาของลูก วันก่อนลูกสาวคนโตนั่งทำบัญชีค่าใช้จ่ายระหว่างไปเรียนพิเศษ ซึ่งดิฉันกำหนดงบประมาณให้วันละ 100 บาท สำหรับค่ารถ ค่าเรือ และค่าอาหาร จู่ๆ ก็ตะโกนถามว่า “แม่...พวกนี้ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละร้อยกว่าบาทนี่เขาอยู่กันได้ยังไงน่า? นี่ขนาดหนูเสียเฉพาะค่ารถค่าเรือกับค่ากินตามร้านข้างถนนก็จะไม่พออยู่แล้ว ค่าเสื้อค่าเรียนของลูกเขาเอามาจากที่ไหนกันล่ะ ? เขาประท้วงเมื่อไรหนูจะไปร่วมประท้วงด้วย” ผลจากการประท้วง ลูกได้ขึ้นค่าแรงไปเรียนพิเศษเป็น 120 บาทต่อวัน

โอกาสและปัจจัยการเรียนพิเศษของเด็กกรุงเทพฯ เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เหนือกว่าเด็กต่างจังหวัดและลูกชาวบ้าน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องเรียนพิเศษแค่ส่งให้ลูกเรียนต่อในโรงเรียนธรรมดา พ่อแม่ก็เลือดตาแทบกระเด็นแล้ว ช่องว่างที่ห่างขึ้นทุกทีนี้จะแก้ได้อย่างไรดี?

ข้อมูลสื่อ

169-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 169
พฤษภาคม 2536
อื่น ๆ
พรอนงค์ นิยมค้า