• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หน้าร้อนกับอาการตกหมอน

หน้าร้อนกับอาการตกหมอน


ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี โดยเฉพาะปี 2536 นี้ อากาศร้อนอบอ้าวทั้งกลางวันและกลางคืน ในกลางวันอุณหภูมิของพื้นที่บางแห่งสูงมากถึงกว่า 40 องศาเซลเซียส มากกว่าอุณหภูมิร่างกายซึ่งมีค่าประมาณ  37 องศา บางคนถึงกับบ้าคลั่งจนกระโดดตึกตาย หรือเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว เอาปืนไล่ยิงผู้อื่น ปรากฎเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายคดี

หลายๆ คนมักบ่นว่าปวดคอ ปวดศีรษะ โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนต้นคอแข็งเกร็ง แทบจะขยับไม่ได้ หันคอไม่ได้ และบางครั้งศีรษะเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง และอาจมีอาการปวดร้าวลงที่แขนหรือสะบักด้วย อาการปวดคอจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะตื่นนอนเรียกว่า การตกหมอน เพราะมักพบว่า ศีรษะไม่ได้หนุนอยู่บนหมอน ตอนตื่นนอน กลางคืนในช่วงหน้าร้อน ความชื้นสูง และแทบไม่มีลมพัดโบกเลยถึงแม้จะนอนที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเหงื่อก็ยังคงออกจนเหนียวตัว ทำให้นอนหลับไม่สนิท จึงนอนพลิกตัวไปมาทั้งคืน ทั้งนอนหงาย นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา แม้กระทั่งนอนคว่ำ กว่าจะได้นอนหลับสนิทจริงๆ คงใกล้ฟ้าสาง ตี 4 ตี 5 ซึ่งนอนยังไม่ทันเต็มอิ่ม ก็ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเร่งรีบไปทำงาน

การนอนไม่หลับเป็นปัจจัยสำคัญของอาการตกหมอน โดยเฉพาะการนอนหลับไม่สนิท นักวิทยาศาสตร์พบว่า ตลอดคืนที่เรานอนหลับ เราจะผ่านระยะนอนหลับไม่สนิทซึ่งไม่ได้ฝัน ระยะที่นอนหลับสนิทเป็นระยะที่ร่างกายได้พักผ่อนจริงๆ กล้ามเนื้อจะคลายตึง หลอดเลือดคลายตัวและสมองมีโอกาสได้จัดความคิดและสิ่งที่เรียนรู้ในตอนกลางวันให้เป็นระบบ ถ้าผู้ใดนอนหลับไม่สนิท หรือเมื่อเข้าสู่ภาวะฝันถูกปลุกให้ตื่นหลายๆ คืนติดต่อกัน ผู้นั้นอาจจะเกิดอาการคลุ้งคลั่งได้ ดังนั้น การนอนหลับไม่สนิทจะเกิดอาการเครียดอย่างหนัก และกล้ามเนื้อมีความตึงมาก ทำให้ปวดคอได้

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การเป่าพัดลมไปยังบริเวณศีรษะและต้นคอ ถึงแม้ลมที่เกิดขึ้นจะทำให้บริเวณคอเย็นได้บ้าง แต่ขณะนอนหลับ การปรับตัวของร่างกายต่อการกระตุ้นจากภายนอก ขาดความสมดุล หลอดเลือดในบริเวณผิวหนัง และกล้ามเนื้อที่ลมเป่าจะหดตัวเพราะเย็นลง แต่หลอดเลือดที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายขยายตัว เพื่อคลายความร้อนออกจากร่างกาย จึงทำให้เราอาจเกิดอาการขนลุก กล้ามเนื้อคอเกิดการหดตัวอย่างกะทันหัน ทำให้ต้นคอแข็งเกร็ง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตกหมอน คือ ลักษณะของหมอนที่เราใช้หนุน การนอนตะแคงนั้น หมอนควรมีลักษณะค่อนข้างสูงเท่าความกว้างของบ่าและแน่นไม่ยุบง่าย การนอนหงายควรใช้หมอนต่ำหรือหนุนที่บริเวณด้านหลังต้นคอเพื่อรักษาส่วนเว้าของกระดูกไว้ การนอนคว่ำควรใช้หมอนใหญ่สอดลงมาถึงทรวงอก เพื่อไม่ให้ศีรษะแหงนไปข้างหลังมากเกินไป จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนท่านอนบ่อยๆ จากหมอนที่สูงในท่านอนตะแคงมาเป็นท่านอนหงาย อาจทำให้เกิดการกระตุกอย่างกะทันหัน

ทำนองเดียวกัน การนั่งสัปหงก กล้ามเนื้อด้านตรงข้ามจะหดตัวทันทีเพื่อกระตุกศีรษะให้ตั้งตรง ซึ่งเป็นปฎิกิริยาตอบสนองแบบฉับพลันในภาวะที่ยังนอนหลับไม่สนิทกล้ามเนื้อคอจึงมีโอกาสฉีกขาดและเกิดการเกร็งตัวขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอีก อาการตกหมอนที่เป็นผลจากการหดตัวของกล้ามเนื้อต้นคอ นอกจากทำให้หันคอไปมาไม่สะดวก เกิดอันตรายในการขับรถ หรือเกิดอาการปวดมากขึ้น เมื่อต้องขืนคออยู่ตลอด ภาวะการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อที่หดตัวไม่คล่องทำให้มีอาการปวดล้ามากขึ้น เพราะขาดออกซิเจนและอาหาร อาการตกหมอนอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่ค่อนข้างรุนแรง คือ กระดูกคอเรียงตัวไม่ดีหมอนรองกระดูกถูกบีบให้แคบลง เป็นผลให้รากประสาทที่ออกจากบริเวณหมอนรองกระดูกถูกกดทับในข้างนั้น หรือถูกกระชากให้ยืดในด้านตรงกันข้ามจึงเกิดอาการชา หรือปวดร้าวลงที่สะบักหรือต้นแขน

ถ้าความสมดุลของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ด้านของต้นคอเสียไป การเรียงตัวของกระดูกคอไม่อยู่ในลักษณะตรง หรือส่วนเว้าด้านหลังคอเสียไป การไหลเวียนของเลือดไม่ปกติ อาการปวดคอหรือตกหมอน ย่อมคงอยู่ หรือเป็นๆ หายๆ ดังนั้น วิธีการรักษาอาการตกหมอนจึงจำเป็นต้องปรับสภาพของร่างกายให้เข้าสู่ภาวะสมดุล โดยเริ่มจากการนอนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงพัดลม หรือลมของเครื่องปรับอากาศเป่าโดยตรงมาที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย นอนหงายโดยเอาผ้าขนหนูม้วนเป็นแท่งยาวสอดที่ด้านหลังต้นไว้ หมุนคอไปมาในท่านอนหงาย เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายออก หรืออาจต้องสวมใส่ปลอกคอในขณะทำงาน เพื่อให้กล้ามเนื้อมีโอกาสพักและซ่อมแซมตัวเอง

หลีกเลี่ยงการกินยาคลายกล้ามเนื้อ ควรมีโอกาสนอนพักอยู่ที่บ้าน และไม่ควรขืนศีรษะให้กลับเข้าตำแหน่งเดิม โดยผู้หวังดีที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจทำให้อาการตกหมอนเป็นมากขึ้น และกระทบกระเทือนถูกรากประสาทได้

ข้อมูลสื่อ

169-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 169
พฤษภาคม 2536
อื่น ๆ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข