• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

ระบบป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
แม้จะสามารถปฏิรูประบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน จนผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีและรวดเร็วเพียงใดก็ตาม ความทุกข์ทรมาน ความพิการ และความตายย่อมเกิดขึ้นไม่มากก็น้อยเสมอ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น การจะดูแลรักษาไม่ให้เกิดความทุกข์ ทรมาน ความพิการ และความตายจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างสมบูรณ์และดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น โดย
1. การป้องกันอุบัติเหตุ ( ป้องกันการบาดเจ็บ )
2. ป้องกันโรค
3. ป้องกันโรคกำเริบ

ระบบป้องกันอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด คือ อุบัติเหตุจราจร โดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจรทางบก รอง ๆ ลงไปคือ อุบัติเหตุจากการทำงาน ( พลัดตกหกล้ม จมน้ำ ถูกพิษ อุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักร เครื่องไฟฟ้า และอื่น ๆ ทั้งในบ้านและโรงงาน ) อุบัติภัย และสาธารณภัย เป็นต้น ขอยกตัวอย่างที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ อุบัติเหตุจราจร

สภาพปัญหา :
แต่ละวันคนไทยเกือบ 50 คน ออกจากบ้านแล้วก็จากไปชั่วนิรันดร์จากอุบัติเหตุ ในแต่ละปีคนไทยประมาณ 270,000 คน ได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นทุพภาพหรือพิการ ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาตามสถานพยาบาลประมาณปีละ 1.5 ล้านครั้ง และ 9 ใน 10 คน ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมด้วย เพราะผู้ที่เสียชีวิตกว่าร้อยละ 85 อยู่ในวัย 15 ถึง 60 ปี และกว่าร้อยละ 70 อยู่ในวัย 15 ถึง 45 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานและสร้างผลผลิตให้สังคม

รายงานจากข้อมูลสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ในช่วงเวลา 15 ปี ( ปี พ.ศ. 2537 ถึงปี 2541 ) อุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า อัตราตายเพิ่มขึ้น 3.2 เท่า และอัตราการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น 4.4 เท่า

                              
สาเหตุที่สำคัญและป้องกันได้ คือ

1. การไม่เคารพกฏจราจร เป็นสาเหตุที่พบบ่อย เช่น ขับรถเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ขับแบบสุ่มเสี่ยง ขับในสภาพไม่สมบูรณ์ เช่น มีนเมา ง่วงเหงา เจ็บป่วย เป็นต้น
2. สภาพถนน เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 30 ของอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด ทางแยกบนทางหลวงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ในประเทศไทยมีอยู่ 1,211 แห่ง หรือร้อยละ 19 ของจำนวนทางแยกทั้งหมด 6,498 แห่ง นอกจากนั้น ทางโค้ง ความลาดเอียงของถนน ผิวถนน ความสว่าง ป้ายบอกทางและเตือนภัย ไฟจราจร ที่พักริมทางและอื่น ๆ ล้วนมีส่วนในการป้องกันอุบัติเหตุจราจรได้
3. ยานพาหนะ ที่เกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดคือจักรยานยนต์ ( บาดเจ็บร้อยละ 82 ของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด เสียชีวิตร้อยละ 78 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด ) รอง ๆ ลงไป คือ รถปิกอัพหรือรถตู้ จักรยานและสามล้อถีบ รถเก๋งส่วนบุคคล รถหกล้อ สามล้อเครื่อง และรถบัสโดยสาร

นอกจากประเภทของยานยนต์แล้ว ความบกพร่องของยานยนต์ เช่น ระบบห้ามล้อ ยาง ไฟ การทรงตัว เป็นต้น ก็เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุจราจรประมาณร้อยละ 10 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
4. ผู้โดยสาร ก็เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุจราจรได้ เช่น แออัดยัดเยียดจนเกินอัตรา ห้อยโหนออกนอกตัวรถ อยู่บนหลังคารถ ส่งเสียงรบกวนคนขับ เล่นกันเกินขอบเขต เป็นต้น
5. คนเดินถนน แม้จำนวนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสาร แต่คนเดินถนนมักได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่สุด เพราะไม่เดินบนทางเท้า ข้ามถนนไม่ระวัง ใส่เครื่องนุ่งห่มที่เห็นได้ยากในที่มืด มึนเมา เป็นเด็ก คนชรา หรือคนพิการ เป็นต้น

แม้ว่าอุบัติเหตุจราจรส่วนใหญ่จะเกิดบนถนน แต่อุบัติเหตุจราจรทางน้ำและทางรถไฟ ก็เพิ่มขึ้น ๆ เช่นกัน และสาเหตุสำคัญ ๆ ก็คล้ายคลึงกันที่กล่าวไว้ข้างต้น

การป้องกัน ควรทำกันเป็นขั้นตอน ๆ ไปดังนี้
1. การรวมกลุ่มผู้ที่สนใจและมีศักยภาพ
ผู้ที่รู้ปัญหาและวิธีแก้ไขคณะกรรมการป้องกันอุบัติเหตุแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย ศูนย์จราจร องค์กรเอกชน เป็นต้น ควรประสานกันและรวมกลุ่ม เพื่อวางแผนแนวทางและรูปแบบในการแก้ไข และผลักดันให้มีการแก้ไขแนวทางและรูปแบบต่าง ๆ สอดคล้องกันและเป็นเอกภาพ

2. การสร้างกระแส
เพื่อรวมพลังผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาและสาเหตุต่าง ๆ โดย
- การสร้างความรู้ความเข้าใจ ในความรุนแรงของปัญหา ความทุกข์ทรมาน ความพิการ และความตายที่เกิดขึ้น เช่น โดยการเผยแพร่ภาพและสถิติอุบัติเหตุทางสื่อมวลชนทุกชนิดเป็นประจำ และนำคำพูดของผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนออกเผยแพร่ด้วย เพื่อกระตุ้นเร้าให้เกิดอารมณ์และความต้องการที่จะแก้ไขปัญหา
- การรณรงค์ ด้วยการติดแผ่นผ้า / โปสเตอร์ตามถนน การนำรถที่เคยชนยับเยินมาวางข้างถนนพร้อมตัวเลขของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต การเดินขบวนรณรงค์กันเป็นครั้งคราว การใช้สื่อวิทยุที่เกี่ยวกับการจราจรและอื่น ๆ รณรงค์ให้มีการใช้หมวกกันน็อก เข็มขัดนิรภัย “ เมาไม่ขับ ” เป็นต้น
- การยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือให้ถอดถอนโยกย้ายผู้ที่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ
- การระดมพลังมวลชน เพื่อบีบคั้นผลักดัน เมื่อมีการยื่นหนังสือเรียกร้องไม่บังเกิดผล
การสร้างกระแสอย่างจริงจังและต่อเนื่องเท่านั้น จึงจะทำให้นักการเมืองและข้าราชการประจำดำเนินตามความต้องการของประชาชนและชุมชนต่าง ๆ ที่มีปัญหาแตกต่างกันได้

3. การสร้างระบบป้องกันอุบัติเหตุ เมื่อกระแสผลักดันประสบผล การสร้างระบบป้องกันอุบัติเหตุ จึงจะเริ่มได้โดยการผลักดัน “ คณะกรรมการป้องกันอุบัติเหตุแห่งชาติ ” ให้สามารถทำงานได้เต็มที่ โดยรวมอยู่ใน “ คณะกรรมการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ” ซึ่งอยู่ใน “ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ” ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินการ
- ระดมทรัพยากรทั้งบุคคลและวัตถุโดยเฉพาะในระยะเริ่ม เพื่อผลักดันให้ระบบที่เฉื่อยชามาเป็นเวลานานที่เริ่มเคลื่อนไหว เช่น ให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม ให้จัดสรรงบประมาณ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ออกกฎหมายและกฏระเบียบ เก็บและเผยแพร่ข้อมูลอย่างมีระบบ เป็นต้น
- วิจัยและประเมินผล เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ออกกฎหมายและกฏระเบียบ ที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป สถาพถนนและยานพาหนะ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ พฤติกรรของคน เพื่อลดอุบัติเหตุลง เป็นต้น
- สร้างจิตสำนึก เพื่อให้มีระเบียบวินัยในการจราจร และ “ ไม่เสี่ยง ” ในการขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะต่าง ๆ หรือแม้แต่ในการเดินถนน โดย

(1) ปลูกฝังความมีระเบียบ และจิตสำนึกแห่งความไม่อยากเสี่ยงอันตราย ตั้งแต่ยังเยาว์วัยทั้งที่บ้าน และโรงเรียน และในสื่อมวลชนทุกประเภทเป็นประจำ
(2) ไม่เผยแพร่ภาพยนตร์ การ์ตูน ละคร และอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงและเสี่ยงอันตรายแล้วได้ชัยชนะ โดยเฉพาะกับผู้เยาว์วัย
(3) บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติและให้เกิดความเป็นธรรมโดยถ้วนหน้า
(4) ให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ในการสร้างจิตสำนึกนี้
- สร้างกลไกผลักดันต่อเนื่องโดยสร้างองค์กรอิสระ ระบบสารสนเทศ ประเมินผล วิจัย และหาองค์ความรู้ใหม่ในการลดอุบัติเหตุจราจรลง

การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานและอื่น ๆ ก็จะทำได้ทำนองเดียวกับแนวทางและวิธีการป้องกันอุบัติเหตุจราจรดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
 

ข้อมูลสื่อ

273-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 273
มกราคม 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์