• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

ระบบป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
การจะดูแลรักษาไม่ให้เกิดความทุกข์ทรมาน ความพิการ และความตาย จากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างสมบูรณ์และดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น โดย

1. ป้องกันอุบัติเหตุ (อ่านรายละเอียด ฉบับมกราคม)
2. ป้องกันโรค
3. ป้องกันโรคกำเริบ

ระบบป้องกันโรค
การเจ็บป่วยฉุกเฉิน นอกจากจะเกิดจากอุบัติเหตุแล้ว ยังเกิดจากโรคนานาชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะป้องกันได้ เช่น
1. โรคกรรมพันธุ์ ป้องกันได้โดยการสร้างวัฒนธรรมให้ชายหญิงที่มีพ่อแม่เป็นโรคกรรมพันธุ์แบบเดียวกัน ไม่แต่งงานกัน (ดังเช่นที่ไม่ให้พี่น้องแต่งงานกัน) ถ้าจะแต่งงานกัน ก็ควรคุมกำเนิดและไม่มีบุตร

2. โรคติดเชื้อ
ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค การหลีกห่างจากผู้ติดเชื้อ การรู้จักป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ การะวังรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นต้น

3. โรคจากการเสื่อมสภาพ
เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 หรือ 2 ของคนไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ก็ป้องกันได้โดยการดูแลรักษาสุขภาพโดยทั่วไป เป็นต้น

4. โรคมะเร็ง จำนวนมากก็ป้องกันได้ เช่น โรคมะเร็งตับป้องกันได้โดยการป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัส โรคมะเร็งปอดป้องกันได้โดยการไม่สูบบุหรี่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงสารกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น

ป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ง่าย ถ้า...

นอกจากการป้องกันโดยเฉพาะสำหรับแต่ละโรคดังตัวอย่างข้างต้นแล้ว การป้องกันไม่ให้เกิดโรคยังกระทำได้โดยง่าย ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพโดยทั่วไป เช่น
• อาหารและน้ำ ต้องสะอาด กินอาหารให้ครบทุกหมู่ อย่ากินมากไป (จนอ้วน) หรือน้อยไป (จนผอม) อย่ากินรสจัดจนเกินไป กินให้เป็นเวลา เป็นต้น
• ที่อยู่อาศัย ควรหาที่สะอาด สงบ ปลอดโปร่ง ลมพัดถ่ายเทสะดวก แสงแดดเข้าถึงได้ สิ่งแวดล้อมดีไม่มีมลพิษทางอากาศ น้ำ เสียง และอื่น ๆ เป็นต้น
• ที่ทำงานและการทำงาน ควรหางานที่ไม่มีมลพิษหรือเกิดอุบัติเหตุง่าย ถ้าจำเป็น ต้องหาวิธีป้องกันตนเองจากมลพิษ และอุบัติเหตุ อย่าทำงานจนเหนื่อยหรือเพลียเกินไป อย่าเครียดกับงานมากจนเกินไป มีงานอดิเรกทำ เป็นต้น
• การพักผ่อน รู้จักผ่อนคลายความเครียด นอนหลับสนิท พักผ่อน หย่อนใจได้ตามโอกาส เป็นต้น
• การบริหารกาย ถ้างานที่ทำเป็นงานที่ไม่ต้องใช้กำลังกายก็ควรออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายที่ถูกต้องจะเป็นการบริหารกายและใจไปพร้อมกันด้วย
• การบริหารใจ ด้วยการทำสมาธิ ฝึกลมปราณหรือฝึกการหายใจ ปล่อยวางความทุกข์และความสุข แผ่เมตตาและอื่น ๆ
• การหลีกเลี่ยงสิ่งเป็นภัย เช่น สิ่งเสพติด รวมทั้งบุหรี่ สุรา ชา กาแฟ การพนัน และอื่น ๆ การสำส่อน การเที่ยวกลางคืน เพื่อนที่ชักนำไปสู่ทางเสื่อม ผู้ติดเชื้อ สิ่งเป็นพิษ เป็นต้น
• การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่พบบ่อยใช้เครื่องนุ่งห่มให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ มีญาติมิตรที่อบอุ่น ดูแลตนเองให้ กิน - นอน - ถ่าย-ทำ ได้ตามปกติ เป็นต้น

การป้องกันโรค ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาช้านาน แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควรเพราะรัฐและบุคลากรสาธารณสุขยังเน้นที่การรักษามากกว่าการป้องกันและเป็นการรักษาโรคมากกว่าการรักษาคนด้วย

นอกจากนั้น ระบบทุนนิยมเสรีที่ทำให้เกิด “วัตถุนิยม” (นิยมบูชาวัตุรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ) และ “บริโภคนิยม” (นิยมบริโภคบริการทางแพทย์รวมทั้งการชอบตรวจมากๆ รักษามากๆ ไม่ว่าด้วยยาหรือการผ่าตัด) ทำให้ประชาชนทุกมอมเมาให้คิดแต่จะพึ่งบริการทางแพทย์มากกว่าจะคิดพึ่งตนเองและดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ดีด้วย

คู่มือหมอชาวบ้าน
คอลัมน์นี้เป็นคู่มือแนะนำให้ท่านรู้วิธีดูแลรักษาตนเอง เมื่อประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหันได้
ข้อเคล็ด ข้อแพลง หรือสงสัย เพราะข้อพลิก หรือเจ็บเวลาเคลื่อนไหว
1. ให้ข้อนั้นอยู่นิ่ง (ขยับเขยื้อนให้น้อยที่สุด) และยกสูงไว้
2. ในกรณีที่เพิ่งเป็นหรือยังไม่เกิน 48 ชั่วโมง ข้อยังไม่ทันบวมหรือบวมน้อย ให้ประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็งนาน 15-30 นาที วันละ 2 ครั้ง
3. ในระยะหลัง (หลัง 48 ชั่วโมง) เมื่อข้อบวมเต็มที่แล้ว ให้ประคบด้วยน้ำร้อน หรือนวดด้วยน้ำมัน หรือครีมแก้ช้ำ หรือใช้เหง้าไพล 1 เหง้า ตำและคั้นเอาน้ำ ทาถูนวด บริเวณที่เคล็ด ขัด ยอก
4. ถ้าเป็นมากจนเคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้เลย ให้รีบปรึกษาหมอ

ของเข้าจมูก
บีบรูจมูกที่ไม่มีของอยู่ แล้วสั่งข้างที่มีของอยู่แรงๆ ไม่ควรแคะเพราะจะดันลึกเข้าไปอีก ถ้าไม่ออกควรรีบไปหาหมอ

ของเข้าหู
1. ตะแคงศรีษะ หันหูข้างที่สิ่งแปลกปลอมเข้าลง ตบศรีษะด้านบนเบาๆ ให้ของหล่นออกมา
2. ถ้าไม่ออก หยอดน้ำมันพืช 3-4 หยด เข้าในหูข้างนั้น แล้วทำข้อ 1 ซ้ำ
3. ถ้าไม่ออก ห้ามแคะ เพราะของจะยิ่งเข้าลึก ควรรีบไปหาหมอ
 

ข้อมูลสื่อ

274-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 274
กุมภาพันธ์ 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์