• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามป่วยฉุกเฉิน

ในบทนี้จะกล่าวถึง “การป่วยฉุกเฉิน” เป็นสำคัญ
“การป่วย” ในที่นี้หมายถึง การรู้สึกไม่สบายเพราะโรค ความไข้ หรือเหตุอื่นใดที่ไม่ใช่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภยันตราย แมลงสัตว์กัดต่อย และการได้รับสารพิษ (รวมทั้งการแพ้ยาและการเป็นพิษจากยาด้วย)

“ฉุกเฉิน”
ในที่นี้หมายถึง เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนและจะต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหรือพิการหรือทุกข์ทรมานอย่างมาก

“การช่วยตนเองและช่วยกันเอง”
ในที่นี้หมายถึง คนที่เกิดอาการป่วยฉุกเฉินรู้จัดวิธีช่วยตนเองเพื่อกำจัดหรือบรรเทาอาการป่วยฉุกเฉินนั้น ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะและกำลังวังชาพอที่จะช่วยตนเองได้ หรือถ้าไม่สามารถช่วยตนเองได้ คนที่อยู่ใกล้ ๆ หรือพบเห็นการป่วยฉุกเฉินนั้นจะรู้จักวิธีช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินตามสมควร เพื่อช่วยชีวิตและ / หรือลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้

ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้ป่วยและญาติมิตรจึงควรศึกษาว่า การป่วยอย่างไรเป็น “การป่วยฉุกเฉิน” และควรจะช่วยตนเองหรือช่วยกันเองอย่างไรในขั้นแรก ก่องจะนำส่งโรงพยาบาล

ถ้าการช่วยตนเองและ / หรือช่วยกันเอง ทำให้อาการดีขึ้นจนพ้นภาวะฉุกเฉิน จะลดอันตรายถึงชีวิตหรือพิการ และความทุกข์ทรมานต่าง ๆ จากการป่วยฉุกเฉินลงได้ เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขณะที่ไม่มีอาการฉุกเฉินจะปลอดภัยกว่าการเคลื่อนย้ายขณะที่มีอาการฉุกเฉินอย่างมากมาย

“การช่วยตนเองและการช่วยกันเอง” ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงระบบหรือโครงสร้างที่จะทำให้ชุมชน สังคม
และประเทศ สามารถให้การช่วยเหลือบุคคลที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ซึ่งได้กล่าวไว้ในบทต้นแล้ว

ระดับความรุนแรง
ของการเจ็บป่วย
การเจ็บป่วยทุกชนิดอาจจะจำแนกเป็นระดับความรุนแรงต่างๆกันได้ ดังนี้
ระดับที่ 1 ผู้ป่วยวิกฤต หรือฉุกเฉินมาก คือ ผู้ป่วยที่มักจะเสียชีวิตหรือพิการถาวรหากไม่ได้รับการรักษาทันทีหรือทันท่วงที เช่น
คนที่หมดสติทันที ไม่หายใจและไม่กระดุกกระดิกเลย
คนที่หายใจไม่ออกทันที หยุดหรือกำลังจะหยุดหายใจ
คนที่ชักตลอดเวลา หรือชักจนเขียว
คนที่เลือดออกรุนแรงตลอดเวลา (เลือดไหลไม่หยุด)

ระดับที่ 2 ผู้ป่วยกึ่งวิกฤต หรือฉุกเฉิน คือ ผู้ป่วยที่ฉุกเฉินน้อยกว่าระดับที่ 1 และมักจะกลายเป็นผู้ป่วยระดับที่ 1 หากได้รับการรักษาช้าเกินไป เช่น
คนที่หมดสติ ซึมมาก สับสน คลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน ชัก หรืออัมพาต อย่างเฉียบพลัน
คนที่หอบเหนื่อยมาก (หายใจมากกว่า 30 ครั้งต่อนาที) หรือมีเสมหะเป็นฟองปนเลือด
คนที่หายใจน้อยกว่า 10 ครั้งต่อนาที หรือหน้าตาหรือมือเท้าเปลี่ยนเป็นสีม่วงน้ำเงิน ("เขียว") ฉับพลัน หรือ "เขียว" มากขึ้นๆ
คนที่ตกเลือดหรือซีดมากทันทีหรือมีหน้าตาแขนขาและมือเท้าเย็นซีดและชื้นด้วยเหงื่อ ร่วมกับชีพจรที่เบามากจนคลำเกือบไม่ได้ หรือคลำไม่ได้
คนที่ชีพจรเร็วมาก (มากกว่า 150 ครั้งต่อนาที) หรือช้ามาก (น้อยกว่า 40 ครั้งต่อนาที) 
คนที่ตัวร้อนจัด (ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือ 102 องศาฟาเรนไฮด์) หรือตัวเย็นจัดและไม่รู้สึกตัว (เช่น อยู่ในที่หนาวเย็นนานๆ เป็นต้น)
คนที่กระสับกระส่าย ทุรนทุราย เจ็บปวดมาก หรือคลอดฉุกเฉิน
คนที่ได้รับอุบัติเหตุ ภยันตรายหรือสารพิษ แพ้ยา หรือบาดเจ็บรุนแรงจากสาเหตุอื่นๆ

ระดับที่ 3 ผู้ป่วยเฉียบพลัน
คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่สบายเฉียบพลัน นั่นคือ เพิ่งจะมีอาการนั้นในเวลาไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน แต่ไม่มีอาการป่วยรุนแรงดังที่กล่าวไว้ในระดับที่ 1 และ 2

ผู้ป่วยระดับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ควรจะรักษาอาการขั้นต้นไปก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น จึงค่อยไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาล เช่น เป็นไข้หวัด ก็อาจใช้ยาลดน้ำมูก ถ้าดูแลรักษาตนเองเป็นอย่างดีสัก 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาล

ระดับที่ 4 ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยอื่นๆ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเรื้อรัง และอาการยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ต่างจากเดิมมากนัก (อาการไม่ได้กำเริบขึ้น) และผู้ป่วยอื่นๆที่ไม่มีอาการป่วย แต่ต้องการขอยา ขอตรวจสุขภาพ ขอใบรับรองแพทย์เพื่อเข้าเรียน-เข้าทำงาน หรืออื่นๆ

ผู้ป่วยระดับนี้ไม่ควรใช้บริการฉุกเฉินเด็ดขาด
เพราะจะเป็น "บาป" ทำให้ผู้ป่วยที่ฉุกเฉินและเจ็บหนัก ไม่สามารถได้รับบริการฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ เมื่อแพทย์ พยาบาล และบริการฉุกเฉินอื่นๆ ต้องมาเสียเวลาให้กับผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องใช้บริการฉุกเฉินเหล่านี้

การช่วยตนเองและช่วยกันเอง
1. ตั้งสติให้ได้ก่อน
เมื่อมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือพบเห็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องตั้งสติทันที อย่าตื่นตกใจเกินควร เพราะจะทำให้อาการกำเริบมากขึ้น และการดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอนต่อๆไป จะผิดพลาดได้ง่าย

2. ประเมินดูว่าเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่
โดยอาศัยลักษณะและอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นในหัวข้อ "ระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วย" เมื่อประเมินแล้วว่าเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจริง ให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

3. ประเมินว่าการช่วยจะเป็นประโยชน์หรือโทษ
เพราะในหลายๆครั้ง การช่วยคนที่กำลังเจ็บป่วยฉุกเฉินอาจจะเป็นโทษได้ เช่น
- การเกิดอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น เช่น เห็นคนจมน้ำ แล้วกระโดดลงไปช่วยทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือว่ายน้ำไม่แข็ง เป็นต้น
- ผู้ป่วยไม่ต้องการให้ช่วย เช่น ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานมามากแล้ว
- การช่วยจะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้น เช่น ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เป็นต้น
แต่ถ้าประเมินว่าการช่วยเหลือจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษต่อผู้ป่วย ให้รีบดำเนินการขั้นต่อไป

4. ประเมินว่าจะช่วยตนเอง
(ในกรณีที่ตนเองป่วย) หรือจะช่วยผู้ป่วย (คนอื่น) ด้วยตนเองได้ไหม ถ้าประเมินว่า "ช่วยได้"  ให้รีบทำการปฐมพยาบาลทันที ถ้าประเมินว่า "ช่วยไม่ได้ หรือ อาจจะช่วยไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว" ให้รีบเรียกคนช่วย และ/หรือโทรศัพท์เรียก "ศูนย์ฉุกเฉิน" หรือหมายเลขโทรศัพท์ 1669 (ในจังหวัดที่เปิดบริการแล้ว) ทันที และรีบทำการปฐมพยาบาลไปก่อนตามความรู้ที่มีอยู่ หรือตามคำแนะนำผ่านทางโทรศัพท์ของ "ศูนย์ฉุกเฉิน" นั้น

5. ทำการปฐมพยาบาลทันที 
ตามลักษณะและอาการที่แสดงไว้ในระดับความรุนแรงต่างๆ เช่น คนที่หมดสติทันทีไม่หายใจและไม่กระดุกกระดิกเลย คนที่หายใจไม่ออกทันทีหรือกำลังจะหยุดหายใจ คนที่ชักตลอดเวลาหรือชักจนเขียว คนที่เลือดออกรุนแรงตลอดเวลา คนที่หมดสติหรือซึมมาก คนที่แขนหรือขาอ่อนแรงเฉียบพลัน คนที่คลุ้มคลั่งสับสน และ/หรือประสาทหลอน คนที่ชัก คนที่หอบเหนื่อย คนที่เจ็บ/แน่นในอก คนที่เวียนศีรษะหน้ามืดเป็นลม คนที่ใจสั่นใจหวิวหรือหัวใจเต้นเร็วหรือแรง และคนที่มีอาการป่วยฉุกเฉินอื่นๆ   

ข้อมูลสื่อ

276-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 276
พฤษภาคม 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์