• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ


ผู้ใดที่เคยนอนไม่หลับในเวลากลางคืนจะรู้ซึ้งดีถึงความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะรู้สึกครั่นเนื้อครั่งตัว นอนท่าไหนก็ไม่สบายทั้งๆ ที่ไม่มีไข้ ความรู้สึกนอนไม่หลับช่างก่อความรำคาญทำให้จิตใจหงุดหงิดได้ไม่น้อย ในกรณีที่มีเรื่องทุกข์ร้อนอยู่มักจะนำมาคิดให้เกิดความวิตกกังวล จนบางครั้งคิดว่าประสาทหลอนเนื่องจากได้ยินเสียง แปลกประหลาด หรือเสียงนินทาดังแว่วอยู่ในหู ทำให้ต้องคอยลุกลี้ลุกลนตามหาแหล่งของเสียงที่เกิดขึ้นจนไม่เป็นอันจะนอนเลยตลอดทั้งคืน

การนอนไม่หลับเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน ทำให้เกิดความเครียดมากจนอาจคลั่งหรือเสียสติไปได้ มีคนนอนไม่หลับจำนวนไม่น้อยที่ต้องพึ่งยานอนหลับเป็นประจำ ข้อเสียของยานอนหลับ คือ ทำให้ติดยา ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น และรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการแก้ไขการนอนไม่หลับโดยการกินยาจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้าไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง

การนอนหลับและการตื่นเป็นระบบการทำงานของร่างกายที่ต้องการความสมดุลในการดำรงชีวิต พฤติกรรมการนอนหลับและการตื่นนอน เกิดจากคำสั่งของสมองและควบคุมโดยระบบประสาทอัตบาล ในสมองส่วนที่เรียกว่า “ก้อนสมอง” มีศูนย์กลางการนอนหลับและศูนย์กลางการตื่น ศูนย์กลางการตื่นจะกระตุ้นสมองเพื่อสามารถรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ที่มาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายใน เพื่อสั่งให้ร่างกายตอบสนองได้ทันต่อเหตุการณ์และถูกกาลเทศะ แต่เมื่อเข้าสู่ภาวะนอนหลับ ศูนย์กลางความตื่นจะถูกห้ามไม่ให้ทำงาน ดังนั้นเวลาที่นอนหลับเรามักจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา

การทำงานของร่างกายจะถูกควบคุมโดยระบบอัตบาลเพื่อให้หัวใจเต้นอยู่ แต่เต้นช้าลง การหายใจช้า ไม่เกิดการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายอย่างแน่นอน บางคนถึงแม้จะลืมตาขณะหลับ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมองเห็นในขณะหลับอยู่ คนเรามักไม่รู้ว่าตนเองเข้าสู่ภาวะการนอนหลับเมื่อไร บางคนสามารถนอนหลับได้ทันทีเมื่อหัวถึงหมอน แต่บางคนต้องใช้เวลาอ่านหนังสือ ฟังเพลง สวดมนต์ หรือกำหนดลมหายใจอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ละคนจึงแตกต่างกัน

ความจริงไม่มีใครสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องนอนหลับแต่ทว่าระยะเวลาของการหลับในแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันมาก ดังนั้น ตั้งแต่ 5-6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ไปถึง 12 ชั่วโมงหรือมากกว่า นั่นหมายความว่า ถ้าเรารู้สึกง่วงนอนและนอนหลับไป และตื่นขึ้นมาสดชื่นเหมือนดอกไม้ในยามเช้า ย่อมเป็นสิ่งที่ปกติวิสัย ไม่จำเป็นต้องห่วงว่าตนเองผิดแผกจากคนอื่น จนเข้าใจว่าตนเอาเป็นโรค วัยหรืออายุเป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ช่วงเวลาของการนอนหลับเปลี่ยนไป ทารกนอนหลับมากกว่า 12 ชั่วโมง เด็กต้องการเวลานอนหลับอย่างน้อย 10 ชั่วโมง เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อาจนอน 8 ชั่วโมง และเมื่ออายุสูงขึ้น อาจนอนเพียง 5 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว

เนื่องจากเด็กต้องการการนอนหลับเพื่อสร้างสารต่างๆ ให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้น เด็กที่กินเก่งและนอนเก่งจึงโตวันโตคืนกว่าเด็กที่ไม่ยอมนอนหรือกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันพบว่า เด็กที่นอนไม่หลับมีสาเหตุมาจากการขาดสารบางตัวในสมอง เมื่อโตเต็มที่แล้วร่างกายต้องการการนอนหลับเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือสร้างสารต่างๆ ที่ใช้หมดไปในเวลากลางวัน คนนอนเก่งจึงมักจะอ้วนกว่าคนนอนไม่เก่ง จนเกิดคำพังเพยว่า “ขี้เกียจหลังยาว” คงเห็นแต่หลังที่นอนตะแคง ไม่เห็นแขนขาที่งอไว้ ในผู้สูงอายุร่างกายเริ่มจะเสื่อมถอย การนอนหลับจึงใช้เวลาสั้นลงและถี่ขึ้น คือ อาจนอนหลับครั้งละ 3-4 ชั่วโมง ตื่นนอนตอนตี 3 แล้วหลับอีกทีตอนฟ้าสางตอนตี 5 หรืออาจจะนอนอีกครั้งหนึ่งในตอนสายหรือช่วงบ่ายอีก 1/2-1 ชั่วโมง ถือว่าซึ่งเป็นเรื่องปกติ

สาเหตุที่นอนไม่หลับมีมากมาย แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ เกิดจากความเครียด มีเรื่องที่กังวลใจ หรือไม่ค่อยมีกิจกรรมในช่วงเวลากลางวัน กล่าวกันว่า คนในชนบทมักนอนหลับได้ดี เนื่องจากปราศจากมลภาวะ อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและใช้แรงงานหรือมีโอกาสออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา คนในเมืองโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ อากาศไม่ดี อยู่แต่ในห้องปรับอากาศ รถติด ภาวะเศรษฐกิจรัดตัว เพราะค่าครองชีพสูง และขาดการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ไปไหนมาไหนต้องนั่งรถ ไม่ยอมเดิน ขึ้นแต่ลิฟต์ไม่ขึ้นบันได นั่งแต่โต๊ะทำงาน เก้าอี้ต้องมีล้อ รับแต่โทรศัพท์ ความจริงกิจกรรมดังกล่าวมานี้ไม่ต้องใช้พลังงานมาก ไม่ต้องซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วงเวลานอนหลับจึงสั้นลง ประกอบกับสภาพแวดล้อมในเวลากลางคืนมีแต่สิ่งกระตุ้น เช่น แสงสี เสียงดนตรีกระหึ่ม เสียงรถยนต์ เสียงเครื่องปรับอากาศที่ดังตลอดเวลา จนบางครั้งเมื่อเกิดความเงียบจึงกลับกลายเป็นสิ่งผิดปกติ เกิดความกลัวหรือความประหม่า เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึกทำให้คิดฟุ้งซ่านและกังวลจนนอนไม่หลับอีก

จะเห็นได้ว่าวิธีแก้ไขการนอนไม่หลับที่ดีที่สุด คือ ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสิ่งกระตุ้น อากาศถ่ายเทและบริสุทธิ์ ไม่คิดมากหรือกังวลมากเกินไป หมั่นออกกำลังกาย ถ้านอนไม่หลับให้ลุกขึ้นมาทำงาน หรืออ่านหนังสือสักระยะหนึ่ง เมื่อง่วงแล้วจึงเข้านอนต่อ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฝึกตนเองให้เข้านอนเป็นเวลา ตื่นนอนเป็นเวลาโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก อย่าลืมว่าเมื่อไรที่ตื่นนอนได้เองย่อมแสดงว่า ร่างกายได้พักผ่อนเพียงพอ จึงพร้อมที่จะตื่นขึ้นมา การพยายามให้เกิดความสมดุลระหว่างการนอนหลับและการตื่นนอนย่อมทำให้มีสุขภาพที่ดี และมีชีวิตยืนยาวได้

ข้อมูลสื่อ

172-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 172
สิงหาคม 2536
อื่น ๆ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข