การตรวจรักษาอาการ เลือดออกทางช่องคลอด (9)
การเลือดออกซึ่งมิได้เกิดจากบาดแผลนั้น อาจพบได้หลายลักษณะ อันเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ในครั้งก่อนๆ แล้ว แต่สำหรับ ‘อาการเลือดออกทางช่องคลอด’ ที่นำเสนอในครั้งนี้ เพื่อว่ามีผู้หญิงหลายคนที่เคยมีอาการดังกล่าวคงพากันวิตกกังวล เกรงว่าจะเป็นสัญญาณบอกเหตุ (โรค) ร้ายในภายหน้า แต่คุณคงไม่กังวลมากนัก หากรู้วิธีวิฉัยอาการดังกล่าว ซึ่งทำได้ดังนี้
11. เลือดออกทางช่องคลอด การที่มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดอาจเป็นเรื่องปกติหรือผิดปกติก็ได้ ในหญิงปกติ เลือดจะไหลออกทางช่องคลอดได้ใน 4 กรณี คือ เลือดประจำเดือน เลือดกลางเดือน เลือดหลังคลอดทันที และเลือดออกในเด็กหญิงหลังคลอด
11.1 เลือดประจำเดือน หรือที่เรียนกันว่า ประจำเดือน หรือระดู คือ เลือดที่ไหลออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน หรือทุก 24-32 วัน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ หรือพูดง่ายๆ คือ ในผู้หญิงที่มีอายุอยู่ระหว่าง 10-55 ปี
ประจำเดือนครั้งแรก
ผู้หญิงมักเริ่มมีประจำเดือน (ประจำเดือนครั้งแรก) เมื่ออายุ 10-15 ปี เด็กหญิงในประเทศที่อยู่ในเขตหนาวหรือเขตอบอุ่น มักจะมีประจำเดือนครั้งแรกช้ากว่าเด็กหญิงในประเทศเขตร้อน เด็กหญิงในเขตหนาวหรือเขตอบอุ่น มักจะมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุ 12-15 ปี ส่วนเด็กหญิงในเขตร้อนอาจจะมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุ 9-10 ปีได้
ประจำเดือนครั้งแรกจะมาเมื่ออายุน้อยหรืออายุมาก ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ รวมทั้งเชื้อพันธุ์ (กรรมพันธุ์) ด้วย การที่มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดย่อมเป็นที่ตกอกตกใจของเด็กเป็นอย่างมากโดยเฉพาะครั้งแรก บิดามารดาหรือพ่อแม่ของเด็ก โดยเฉพาะแม่ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ดีกว่า จึงต้องเอาใจใส่ดูแล และอธิบายให้ลูกหายตกใจและเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น จากอายุที่เข้าเกณฑ์ว่าจะมีประจำเดือนครั้งแรกได้ และมีลักษณะของหญิงเข้าวัยสาวแล้ว เช่น มีเต้านมที่โตขึ้นแล้ว มีขนรักแร้และขนที่หัวหน่าวแล้ว เป็นต้น จากลักษณะของประจำเดือนที่มีลักษณะปกติ จากอาการนำและอาการร่วมขณะมีประจำเดือน การไม่มีไข้ (ตัวร้อน) ไม่มีเลือดปนหนอง ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีตกขาวมาก และไม่มีสิ่งผิดปกติอื่นๆ เช่น เนื้อเยื่อสิ่งแปลกปลอมปนออกมา ก็ถือว่าเลือดที่ออกทางช่องคลอดเป็นครั้งแรกในเด็กที่มีอายุเข้าเกณฑ์แล้วเป็น “ประจำเดือนครั้งแรก” ได้
ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ และเกิดความตกอกตกใจไปกับลูกของตนจนต้องพาลูกไปหาหมอ และถ้าหมอบ้าจี้ทำการ “ตรวจภายใน” เด็ก ก็อาจจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่พึงปรารถนากับการมี “ประจำเดือนครั้งแรก” ทำให้เกิดความเกลียดชังการมีประจำเดือนไปตลอดชีวิตได้ แม่ควรจะอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องการมีประจำเดือน ก่อนที่ลูกจะมีอายุเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ความใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูกเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกสังเกตเห็นเองและไต่ถามแม่เองว่า ทำไมแม่ต้องมีพิธีรีตองพิเศษในการเข้าห้องน้ำ หรือการใช้ผ้าอนามัยในบางวันของแต่ละเดือน ซึ่งถ้าแม่คอยอธิบายให้ลูกเข้าใจก็จะเป็นการเตรียมตัวลูกไว้ก่อน และทำให้ลูกไม่ตกอกตกใจมากนักเมื่อมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดในวันหนึ่งข้างหน้า
ประจำเดือนครั้งสุดท้าย
ผู้หญิงปกติมักจะหมดประจำเดือน (มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย) เมื่ออายุ 45-55 ปี แต่ในบางครอบครัว (บางเชื้อพันธุ์) ประจำเดือนอาจหมดในอายุที่น้อยกว่านี้ได้ โดยไม่มีความผิดปกติอะไร (ในบางเชื้อพันธุ์ประจำเดือนอาจหมดตั้งแต่อายุเพียง 35 ปีได้) ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจะมีความรู้สึกผูกพันกับการมีประจำเดือนมาก เช่น เข้าใจว่าถ้าประจำเดือนหมดแล้ว ความสาวของตนจะหมดไปด้วย เป็นต้น การคิดเช่นนี้ทำให้เกิดความกลัวต่อการหมดประจำเดือน ซึ่งทำให้เกิดอาการไม่พึงปรารถนาจากการหมดประจำเดือนเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการใช้ “ยาขับประจำเดือน” โดยไม่จำเป็นและไม่ถูกต้อง เป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของตนเพิ่มขึ้น
การหมดประจำเดือนอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันในหญิงปกติบางคน แต่ในส่วนใหญ่แล้วการหมดประจำเดือนจะเกิดขึ้นช้าๆ โดยประจำเดือนที่เคยมาสม่ำเสมออาจเปลี่ยนเป็นมาบ้างไม่มาบ้าง (นั่นคือ ไม่มาทุกเดือน) บางเดือนมามาก บางเดือนมาน้อยโดยไม่มีสาเหตุ บางครั้งก็หายไปหลายเดือน
ในหญิงจำนวนมาก ขณะที่ประจำเดือนกำลังจะหมด ประจำเดือนมักมามากกว่าผิดปกติ เพราะในหญิงที่มีอายุมาก มดลูกจะมีเนื้องอกในกล้ามเนื้อของมดลูก ทำให้มดลูกหดตัวไม่ได้ดีในขณะมีประจำเดือน จึงมีเลือดออกมา นอกจากนั้นในวัยใกล้หมดประจำเดือน ประจำเดือนที่ออกมามักเกิดขึ้นโดยไม่มีไข่ตก (จากรังไข่) ประจำเดือนที่เกิดขึ้นโรคไม่มีโรคมักจะออกมากกว่าประจำเดือนที่มีไข่ตก
ภาวะเลือดออกมากหรือภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอยในหญิงที่มีอายุเข้าเกณฑ์การหมดประจำเดือน (อายุ 45-55 ปี) อาจเกิดขึ้นเป็นปกติตามธรรมชาติ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เกอดจากความผิดปกติ เช่น เนื้องอก มะเร็ง เป็นต้น และการแยกภาวะเลือดออกปกติ (ประจำเดือน) กับภาวะเลือดออดผิดปกติ จะทำได้ยากนอกจากโดย “การตรวจภายใน” ดังนั้น หญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือนที่ประจำเดือนมามากหรือมากะปริดกะปรอย จึงควรไปให้แพทย์ภายในอย่างน้อย 1 ครั้ง และถ้ารู้สึกผิดปกติหรือผิดสังเกต ควรจะไปตรวจอีก
ลักษณะของเลือดประจำเดือน
ประจำเดือนปกติจะเป็นสีแดงคล้ำ (สีแดงคล้ำ) และเป็นน้ำ (ของเหลว) ข้นเหมือนน้ำเมือก ไม่มีก้อนเลือด (ลิ่มเลือด) ปนอยู่ นอกจากในวันมามาก (วันที่ประจำเดือนมามากๆ) อาจจะมีก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดเล็กๆ ปนอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ ได้ ประจำเดือนปกติจะไม่ช้ำเลือดช้ำหนอง (ไม่เป็นหนอง) และไม่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ประจำเดือนมักจะมามากในวันแรกหรือวันที่สอง แล้วต่อมาจะลดลง ในหญิงส่วนใหญ่ประจำเดือนจะมาประมาณ 3-7 วัน และจะเสียเลือดทั้งหมดทั้งหมด 50-250 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ซึ่งอาจจะดูได้อย่างหยาบๆ จากจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้ (ผ้าอนามัยแต่ละชื้นจะซับเลือดจนโชกได้ประมาณ 30-40 มิลลิลิตร ผ้าอนามัยที่ซับเลือดเพียงเปื้อน จะซับได้เพียง 5-15 มิลลิตร หรือน้อยกว่านั้น)
การถามว่าใช้ผ้าอนามัยกี่ชิ้น เพื่อคาดคะเนจำนวนเลือดที่ออกมาก ซึ่งต้องทราบความชุ่มโชกของผ้าอนามัยที่ใช้ด้วย ในหญิงบางคน ประจำเดือนอาจจะมาเพียง 1-2 วัน หรือในบางคนอาจจะยืดออกไปเป็น 8-9 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและจิตใจ ความเครียดกังวล การมีโรคภัยไข้เจ็บรุนแรงหรืออื่นๆ
ความเครียดกังวล อาจทำให้ประจำเดือนหยุดมาตามกำหนด หรือมาน้อยหรือมากกว่าปกติได้ โรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
อาการนำ ก่อนประจำเดือนจะมา
ผู้หญิงจำนวนมากจะรู้สึกผิดปกติ คือ มีอาการนำมาก่อน อาการเหล่านี้จะปรากฎเป็นเวลา 5-10 วันก่อนมีประจำเดือน อาการมักรุนแรงขึ้นๆ จนถึงวันที่มีประจำเดือน เช่น อาการหงุดหงิดผิดปกติ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึมเซร้า เต้านมตึงหรือเจ็บ ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง น้ำหนักเพิ่ม เท้าบวม (เล็กน้อยทั้ง 2 ข้าง) เมื่อยหลังหรือก้นกบ เป็นต้น ผู้ที่หงุดหงิดง่ายหารือไม่ค่อยอดทน มักจะเกิดอาการเหล่านี้ได้ง่ายกว่าและมากกว่าผู้ที่มีอารมณ์มั่นคงและอดทนต่อสิ่งต่างๆ ได้ดี
อาการขณะมีประจำเดือน
ผู้หญิงเกือบทุกคนจะมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง ปวดศีรษะ ปวดต้นขา และในบางรายถึงกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะถ้าเป็นประจำเดือนที่มีไข่ตก ประจำเดือนที่ไม่มีไข่ตกมักจะไม่มีอาการ
อาการมักจะเป็นมากในวันแรก แล้วจะลดลงหรือหายไปในวันต่อๆ มา ในบางคนอาการจะมากในวันที่ 2-3 ในขณะที่มีลิ่มเลือดเล็กๆ และเยื่อบุมดลูกหลุดออกมาแล้วอาการปวดท้องจะลดลงหรือหายไปก่อนประจำเดือนจะหมด
อาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับความอดทนและความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนด้วย เช่นคนที่เชื่อว่าประจำเดือนเป็นสิ่งไม่ดี หรือเกลียดกลัวประจำเดือน มักจะทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนได้มากกว่าคนที่มีความคิดตรงกันข้าม บางคนจะปวดท้องมาก จนทำการทำงานไม่ได้ อาการปวดประจำเดือนนี้มักจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และมักหายไปหรือดีขึ้นเป็นอย่างมากภายหลังการตั้งครรภ์และคลอดบุตร
คนที่ไม่ค่อยปวดประจำเดือนมาเป็นเวลาหลายๆ ปีแล้วอยู่ดีๆ กลับปวดประจำเดือนอย่างมากๆ ขึ้นมาใหม่ ให้สงสัยว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเนื้องอกในมดลูก มีการอักเสบในมดลูก ปีกมดลูก หรือช่องเชิงกราน จึงควรไป “ตรวจภายใน” ให้รู้แน่ว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่
ลักษณะประจำเดือนที่ผิดปกติ และควรไปตรวจภายในหรือตรวจร่างกาย เช่น
(1) ประจำเดือนที่มาก่อนอายุ 9 ปี หรือกลับมามีอีกหลังหมดประจำเดือนมาแล้วหลายปี หรือประจำเดือนยังไม่มาหลังอายุ 16 ปี
(2) ประจำเดือนที่มามากจะทำให้อ่อนเพลีย หน้ามืดเป็นลม มือเท้าซีด ริมฝีปากซีด หรือใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 10 ชิ้น และแต่ละชิ้นชุ่มเลือด
(3) ประจำเดือนที่มานานกว่า 7 วัน โดยเฉพาะถ้าไม่เคยมานานเช่นนั้นมาก่อน (ในคนที่เคยมานานๆ เป็นประจำโดยไม่ต้อใช้ผ้าอนามัยมากและไม่มีอาการผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจก็ได้)
(4) ประจำเดือนที่มีลักษณะของเลือดประจำเดือนผิดปกติไป เช่น ออกมาเป็นก้อนเลือด (หรือลิ่มเลือดใหญ่ๆ) มีเนื้อเยื่อหรือสิ่งแปลกปลอมปนออกมาด้วย มีกลิ่นเน่าเหม็น มีสีช้ำเลือกช้ำหนอง หรืออื่นๆ
(5) ประจำเดือนที่มีอาการปวดท้องมากผิดปกติ (อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน) หรือมีอาการไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่า “ไข้ทับระดู” หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ (อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน)
(6) ประจำเดือนที่ไม่มาตามกำหนดหรือมาไม่สม่ำเสมอโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (คนที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเป็นประจำ หรือคนที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจก็ได้)
(7) ประจำเดือนที่มาบ่อยกว่า 3 สัปดาห์/ครั้ง หรือมากะปริดกะปรอย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
(8) ประจำเดือนขาด (ไม่มา)
ประจำเดือนหรือระดู จึงเป็นภาวะเลือดออกทางช่องคลอดที่อาจเป็นปกติหรือผิดปกติก็ได้ ควรสังเกตและทำความคุ้นเคยกับลักษณะปกติของประจำเดือน ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น จะได้ทำการตรวจรักษาได้ทันท่วงที
- อ่าน 70,693 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้