• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารหน้าโรงเรียน

อาหารหน้าโรงเรียน


หลังเลิกเรียนเป็นเวลาที่เด็กๆ มักจะหิวกันมาก เพราะตั้งแต่เช้าจรดเย็นพวกเขาต้องใช้ทั้งสมอง และพลังงานในการเรียน และการทำกิจกรรม พอเลิกเรียนก็ต้องเดินทางกลับบ้าน ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลานาน เด็กมักหิ้วท้องรอจนหว่าจะถึงบ้านไม่ไหว เด็กมักต้องหาอาหาร แถวหน้าโรงเรียนกินเพื่อระงับความหิวไปพลางก่อน ดังนั้น ไม่ว่าพ่อค้าแม่ขายจะเสนออะไรให้ลองชิมและมีรสชาติเป็นอย่างไร ก็ล้วนได้รับการอุดหนุนอย่างดี โดยที่เด็กๆ อาจจะไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความสะอาด และคุณค่าทางอาหารและโภชนาการเท่าใดนัก

หน้าโรงเรียนมีอะไรขาย

หากท่านผู้ปกครองลองเดินสำรวจดูแถวหน้าโรงเรียน จะเห็นว่ามีอาหารขายอยู่มากมายหลายชนิด ถ้าจะให้แยะประเภทก็อาจจะแยกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทแรกจะเป็นพวกลูกอม น้ำหวาน น้ำอัดลม ไอศกรีม ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ส่วนอีกประเภท เป็นอาหารที่ดูมีเนื้อหนังขึ้นมาหน่อย คือ พวกไส้กรอก ข้าวเหนียว เนื้อทอด ขนมครก ขนมไข่ ผลไม้ดอง ลูกชิ้นปิ้ง กล้วยทอด ฯลฯ ถ้าให้เลือกระหว่างอาหาร 2 ประเภทนี้ ผู้ปกครองหลายท่านคงเลือกอย่างหลังให้ลูก เพราะรู้สึกว่ามีคุณค่าทางอาหารและทำให้อิ่มมากกว่าประเภทแรก แต่ถ้าเด็กๆ เป็นผู้เลือกเองล่ะ คงน่าเป็นห่วงว่าเขาจะเลือกอาหารประเภทแรกมากกว่าเสียล่ะกระมัง

ควรรู้อะไรก่อนกิน

อาหารที่เราเห็นทุกวันตามหน้าโรงเรียนนั้น อาจจะมีสิ่งที่เราไม่ต้องการเจือปนอยู่ ซึ่งอาจจะเกิดความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้ผลิตก็ได้ แต่สิ่งนั้นย่อมก่อผลให้กับผู้บริโภคได้ในเวลาต่อมา สิ่งเจือปนดังกล่าว ได้แก่

  • ผงกรอบหรือผงบอแรกช์

อาหารที่พบว่า มีผงกรอบผสมอยู่ เช่น ลูกชิ้นเด้ง ทับทิมกรอบ แป้งที่ใช้ซุปกุ้งทอด แป้งที่ใช้ซุปกล้วยทอด รวมทั้งผลไม้ดองบางชนิด ซึ่งจะทำให้อาหารกรุบกรอบอยู่ได้นาน กินแล้วรู้สึกเหมือนได้กินอาหารที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ซึ่งยังกรอบอยู่ สารนี้มีอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย คือ ถ้าสะสมอยู่ในจำนวนมากจะทำให้เกิดการระคายเคียง หรือเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง เพราะสารนี้เป็นพิษต่อเซลล์ของร่างกาย และสามารถดูดซึมสะสมอยู่ในร่างกายได้ ที่สำคัญคือ มักสะสมอยู่ที่ไต ทำให้ไตอักเสบหรือไตพิการได้

  • โลหะหนัก

อาหารหรือขนมหวานสีสวยๆ เช่น ลูกชุบ น้ำหวาน ไอศครีมแท่ง หรือแม้แต่ผลไม้ดอง (อีกแล้ว) มักจะมีการใส่สีเพื่อให้อาหารดูน่ากินขึ้น พ่อค้าแม่ขายมักจะลดต้นทุนการผลิตด้วย การใช้สีย้อมผ้าแทน เพราะมีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย ซึ่งสีย้อมผ้าเหล่านี้มีโลหะนำประเภทตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ปนอยู่ด้วยเพื่อให้สีที่ย้อมติดทนนาน เมื่อนำมาผสมอาหาร โลหะหนักเหล่านี้แทนที่จะอยู่บนเสื้อผ้ากลับไปอยู่ในกระเพาะของเรา จึงนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ที่ต้องระมัดระวังการปนเปื้อนจากโลหะหนักอีกทางหนึ่ง คือ วัสดุที่ใช้ใส่อาหาร เช่น ถุงกระดาษที่มีตัวหนังสือพิมพ์อยู่หรือถุงพลาสติก เมื่อนำมาใส่อาหารที่ร้อนๆ หรือมันๆ โลหะหนักก็จะละลายปนเปื้อนลงในอาหารนั้นได้ เมื่อได้รับโลหะหนักสะสมในปริมาณหนึ่งจะมีอาการแสดงออกมาทางร่างกาย คือ ทำให้มีอาการซีด เลือดจาง อาจทำลายปลายประสาท ส่วนอาการเฉียบพลัน คือ อาเจียน ซึม เพ้อ ถ้ารุนแรงทำให้ชัก หมดสติ และอาจตายได้

ทีนี้หันมาดูอาหารพวกปิ๊งย่างบ้าง อาหารที่ปิ๊ง ย่าง หรือทอดจนไหม้เกียม ดูโดยผิวเผินแล้วอาจเข้าใจผิดคิดว่าทำให้ร่างกายได้สารอาหารสำคัญครบถ้วน เพราะอาหารเหล่านี้มักเป็นอาหารพวกเนื้อสัตว์ แต่ความจริงแล้วความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารนั้นได้ทำลายสารย่อยโปรตีนเหล่านี้มีความยากมากขึ้น ดังนั้นร่างกายอาจเกิดการขาดสารอาหารจำเป็นได้ ที่สำคัญการปิ๊ง ย่าง หรือทอดจนเกรียมยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ด้วย

นอกจากจะได้รับสารปนเปื้อนอันไม่พึงประสงค์เหล่านี้แล้ว พวกน้ำหวานที่ผสมในขวดโหลต่างๆ มักจะไม่ค่อยสะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเสมอๆ อาจทำให้เด็กท้องเสียรุนแรงได้ และขนมหวานหรืออาหารที่มีรสหวานก็ยังทำให้เด็กฟันผุอีกด้วย

เลือกอาหารให้ลูกก่อนกลับบ้าน

วัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต พวกเขาจึงต้องการสารอาหารโปรตีนและสารอาหารอื่นเพื่อมาเสริมสร้างร่างกายในปริมาณที่มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณผู้เป็นพ่อแม่จึงควรใส่ใจดูแล แนะนำการเลือกอาหารให้ลูก ดีกว่าจะให้เขาเลือกตามความชอบใจในสีสัน โดยมองผ่านเรื่องคุณค่าของอาหารไปเสีย การดูแลเรื่องอาหารการกินให้ลูกด้วยตนเอง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กซื้ออาหารหน้าโรงเรียนกินหรือให้ซื้อน้อยที่สุก นั่นคือ ผู้ปกครองต้องเตรียมอาหารไว้ให้เขา ซึ่งจะมั่นใจได้มากกว่าอาหารนั้นค่อนข้างจะสะอาดปลอดภัย

อาหารว่างที่เตรียมได้ง่ายๆ เช่น ผลไม้สด ซึ่งหาซื้อได้ง่าย และมีวิตามินสูง (แต่อย่าลืมล้างให้สะอาดก่อนล่ะ) นม อาจจะเป็นนมกล่อง (ควรเป็นชนิด UHT เพราะสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องแช่เย็น) หารือนมที่ชงจากนมผง ซึ่งมีแคลเซียมที่ร่างกายเด็กต้องการในปริมาณสูง ถ้าอยากได้คุณค่าทางอาหารหลายๆ ชนิด ก็อาจจะทำแซนด์วิชแบบไทยๆ (ขอยืมอาหารฝรั่งมาใช้หน่อย) ซึ่งทำเองได้ไม่ยากนัก ได้ทั้งโปรตีนจากหมู (หรือเนื้อชนิดอื่นๆ) คาร์โบไฮเดรตจากขนมปังและวิตามินจากผัก แต่ไม่ควรให้กินมากนัก เพราะถึงแม้จะมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่างแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เด็กจึงต้องกินอาหารค่ำด้วย และหากไม่อยากทำเองก็ควรเลือกซื้ออาหารที่ทำเสร็จใหม่ๆ ร้อนๆ เช่น ชนมจีบ ซาลาเปา กะหรี่ปั๊บ เกี๊ยวทอด ฯลฯ ก็ดูจะปลอดภัย

อีกวิธีหนึ่ง คือ ถ้าเขาบ่นหิวก็ให้กินอาหารเย็นเร็วขึ้นอีกสัก 1-2 ชั่วโมง (กรณีนี้บ้านต้องอยู่ใกล้โรงเรียน) หากกลัวว่าเขาจะหิวในตอนกลางคืนก็ให้อาหารว่างในช่วง 1 หรือ 2 ทุ่มอีกครั้ง โดยให้เป็นผลไม้หรือนมแทนอาหารหนักๆ บางครั้งเรื่องของอาหารการกิน เด็กอาจจะไม่มีความละเอียดรอบคอบในการที่จะเลือกซื้อเลือกกิน ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรจะช่วยแนะนำ เพื่อให้เขาได้ในสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ

ข้อมูลสื่อ

174-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 174
ตุลาคม 2536
รู้ก่อนกิน