• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอน11)

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอน11)


เลือดออกทางช่องคลอด

อาการเลือดออกทางช่องคลอดที่เสนอในครั้งนี้คงเป็นตอนสุดท้าย หลังจากที่ติดตามกันตั้งแต่ต้น ก็เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงพอจะวินิจฉัยและรักษาอาการเลือดออกเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้บ้างแล้ว แต่ยังไง ก็อย่าลืมอ่านตอนจบนี้ด้วยเพื่อจะได้รู้จักอาการเลือดออกทางช่องคลอดได้ครบถ้วนทุกรูปแบบ
 

11.6 เลือดออกทางช่องคลอดในวัยเจริญพันธุ์ หลังจากประจำเดือนแรก จนถึงวัยที่กำลังหมดประจำเดือน เลือดอาจจะออกทางช่องคลอดโดยเป็นเลือด

ก. ประจำเดือน เช่น

(1) ประจำเดือนมามากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากประจำเดือนที่มาโดยไข่ไม่ตก หรือเกิดจากความผิดปกติที่มดลูกหรือเยื่อบุมดลูก ถ้าประจำเดือนมามากจนมีก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดใหญ่ๆ ปนออกมา หรือใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 10 ชิ้น และแต่ละชิ้นชุ่มเลือด ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

(2) ประจำเดือนมานานเกินไป (นานเกินกว่า 7 วัน) หรือกะปริดกะปรอย ซึ่งอาจความผิดปกติที่มดลูก เยื่อบุมดลูก หรืออื่นๆ ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

(3) ประจำเดือนมาบ่อยเกินไป (ช่วงระหว่างประจำเดือนน้อยกว่า 21 วัน) ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติที่รังไข่หรือการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

ข. ไม่ใช่เลือดประจำเดือน เช่น

(1) เลือดจากการแท้งบุตรโดยมีประวัติว่าขาดประจำเดือนไปอย่างน้อย 1 เดือน ต่อมาเกิดมีเลือดออกและเนื้อเยื่อออกมาทางช่องคลอด ถ้าเก็บเนื้อเยื่อนั้นมาตรวจอาจพบเป็นส่วนของทารกในครรภ์ที่แท้งออกมาได้ ถ้าเลือดออกเองแล้วหยุดเอง และไม่มีอาการผิดอย่างอื่น อาจไม่ต้องไปโรงพยาบาล

(2) เลือดกลางเดือน หรือเลือดที่ออกจากช่องคลอดเพราะไข่ตก ซึ่งจะออกมาประมาณกึ่งกลางระหว่างประจำเดือน และออกมาเพียงเล็กน้อยจะหยุดเอง ไม่ต้องทำการรักษาใดๆ

(3) เลือดที่ออกจากความผิดของอวัยวะเพศ เช่น มดลูก คอ ปีกมดลูกอักเสบ เนื้องอก เนื้อที่คลอด คอมดลูก ถุงน้ำที่รังไข่ เป็นต้น ในกรณีที่เลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปที่โรงพยาบาล

(4) เลือดที่ออกจากความผิดปกติ เช่น ความผิดปกติทางฮอร์โมนเพศ (เช่น จากการกินยาไม่สม่ำเสมอ หรือกินยาดอง หรือยาสมุนไพรที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน จะทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้ ถ้าหยุดกินยาดังกล่าวอาการเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติหายไปเอง)

ความผิดปกติของร่างกายในส่วนอื่น เช่น คอพอกเป็นพิษ (ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ) หรือต่อมธัยรอยด์พร่อง (ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยเกินไป) ก็อาจทำให้เลือดประจำเดือนมาผิดกำหนด ทำให้เลือดออกนอกกำหนดประจำเดือนได้ กรณีเลือดออกทางช่องคลอด โดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล


11.7 เลือดออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน เลือดที่กลับมาออกทางช่องคลอดหลังจากหมดประจำเดือนไปหลายเดือนหรือหลายปีแล้วมักจะเกิดจากสาเหตุ เช่น

(1) ประจำเดือนยังไม่หมดดี นั่นคือ ในวัยที่ประจำเดือนใกล้จะหมด ประจำเดือนอาจจะมาบ้างไม่มาบ้าง หรือค่อยๆ ห่างออกไปเรื่อยๆ ได้ บางครั้งอาจจะเว้นไปหลายเดือนแล้วจึงมาใหม่

(2) เนื้องอกหรือมะเร็งของคอมดลูก หรือมดลูก เป็นสาเหตุที่พบบ่อยอย่างหนึ่งของภาวะเลือดออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือนแล้ว

ลักษณะเลือดออกจะไม่ใช่ลักษณะของเลือดประจำเดือน แต่จะเป็นลักษณะเลือดออกกะปริกระปรอย ออกหลังร่วมหลับนอนกับสามี หลังเดินทางไกลที่กระแทกกระเทือนมาก หรืออื่นๆ ในกรณีที่ไม่รู้สาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอด ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

(3) ภาวะฮอร์โมนเพศ (เช่น เอสโตรเจน) ซึ่งอาจเกิดจากการกินยาดังกล่าวเพื่อลดอาการของการหมดประจำเดือน หรือเพื่อป้องกันภาวะกระดูกกร่อน หรืออื่นๆ ทำให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอดจากฮอร์โมนมากขึ้น หรือฮอร์โมนขาดจากการกินยาไม่สม่ำเสมอหรือการขาดยาได้

(4) ช่องคลอดอักเสบบาง ในวัยหมดประจำเดือน ผนังช่องคลอดจะบางและอักเสบง่าย ทำให้มีเลือดออกมาเล็กๆ น้อยๆ ได้ การใช้ยาเหน็บช่องคลอดสำหรับคนชรา (ยาเหน็บช่องคลอดที่มีฮอร์โมน) จะช่วยให้ผนังช่องคลอดหนาขึ้น และลดการอักเสบและภาวะเลือดออกลงได้ แต่ก่อนที่จะใช้ยาเหน็บหรือยาทาช่องคลอดประเภทที่เข้าฮอร์โมนเพศหญิง ควรตรวจภายในให้แน่ใจ ว่าภาวะเลือดช่องคลอดไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น รวมทั้งการติดเชื้อโรค เชื้อรา หรือเชื้อพยาธิอื่นๆ

(5) การบาดเจ็บ ในวัยชรา หารหกล้ม หรืออื่นๆ จะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ ภายนอกได้ง่าย ทำให้เลือดออกทางช่องคลอดได้ ถ้าเลือดออกจากบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ได้ล้างและทำความสะอาดทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะ และทำให้บาดแผลแห้ง บาดแผลก็จะหายเองได้ ถ้าบาดแผลใหญ่หรือเลือดออกมาก ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

(6) สาเหตุอื่นๆ ในกรณีที่เลือดออกทางช่องคลอดและไม่รู้สาเหตุหรือรู้สาเหตุไม่สามารถกำจัดสาเหตุได้ ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดจึงไม่ได้เป็นภาวะปกติและผิดปกติ การหมั่นสังเกตและศึกษาตัวเองทำไห้รู้ว่าภาวะปกติหรือประจำเดือนนั้นเป็นอย่างไร เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะทำให้ผิดสังเกตและรู้ว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติได้ จะได้ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ตามควรแก่อัตภาพต่อไป

ข้อมูลสื่อ

176-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 176
ธันวาคม 2536
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์