• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 9)

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 9)

 เรื่องราวต่าง ๆทางการแพทย์มีมากมาย หลายคนดูว่ายุ่งยากซับซ้อนหรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสน จนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้มาทำให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป


ภาคสรุป

คำว่า “เจ็บหัวใจ” ในที่นี้ หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial ischemia) หรือเรียกสั้น ๆว่า ภาวะหัวใจขาดเลือด (cardiac ischemia) หรือโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) ซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ(coronary atherosclerosis หรือ coro-nary heart disease) ซึ่งกำลังพบมากขึ้น และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในประเทศไทยในระยะ 20 ปีนี้
เนื่องจากคนไทยได้หันไปใช้วิถีการดำรงชีวิตแบบฝรั่งมากขึ้น เช่น กินอาหารไขมันมากขึ้น แข่งขันชิงดีชิงเด่น(เครียด) กันมากขึ้น ออกกำลังน้อยลง สูบบุหรี่มากขึ้น เป็นต้น


แต่เมืองฝรั่งในระยะ 20 ปีนี้ อุบัติการณ์(การเกิด)ของโรคนี้กลับลดลง และฝรั่งเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยลง(แม้ว่าจะยังมากกว่าคนไทยอยู่) เพราะคนฝรั่งเริ่มลดอาหารไขมันลง พักผ่อน(คลายเครียด)มากขึ้น ออกกำลังเพิ่มขึ้น สูบบุหรี่ลดลง เป็นต้น


อาการ : คำว่า “เจ็บหัวใจ” ในที่นี้จึงตรงกับคำว่า angina pectoris หรือเรียกสั้น ๆ ว่า angina

1. ลักษณะ :

1.1 ส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการเจ็บปวด หรือแสบแบบที่เกิดขึ้นทั่วไป แต่มักจะเป็นอาการแน่น อาการบีบรัด อึดอัด หายใจไม่ออก เหนื่อย เมื่อย ปวดลึก ๆ เสียมากกว่า
หากแต่ว่าเราชินกับการใช้คำว่า “เจ็บ” หรือ “ปวด” กับอาการต่าง ๆ เช่น เวลาบีบแขนแรง ๆ นอกจากจะรู้สึกแน่นแล้ว อาจรู้สึกเจ็บได้ อาการเจ็บเกิดจากอาการแน่นมาก ๆ นั่นเอง
หรือเวลาเราโกรธแค้น ผิดหวัง เรารู้สึก “เจ็บใจ” ทั้งที่ไม่มีอาการเจ็บแบบเข็มแทง มีดบาด หรืออื่น ๆ และไม่ได้เป็นที่หัวใจ แต่เป็นอาการผิดหวังที่เกิดขึ้นในจิตใจ(สมอง)เท่านั้น

1.2 อาการมักจะเกิดขึ้นทันที ถึงจุดสูงสุด(จุดที่เจ็บแน่นมากที่สุด) ภายใน 1-2 นาที และคงอยู่อย่างนั้น จนเมื่อได้นั่งพักหรือหยุดพักแล้ว ก็จะหายอย่างรวดเร็ว และมักจะหายหมด หรือเกือบหมด(เกือบไม่รู้สึกว่ามีอาการอะไรอีก)

1.3 อาการมักจะเป็นมาก จนทำให้ต้องหยุดงานที่ทำอยู่ หรือรู้สึกเหมือนว่าจะขาดใจ


2. ตำแหน่ง : อาการนี้อาจเกิดขึ้นในที่ที่เดียวหรือในหลายที่พร้อม ๆ กัน หรือไม่พร้อมกันก็ได้ เช่น เป็นที่หนึ่งที่ใดก่อนแล้วลามไปสู่ที่อื่น (ตำแหน่งอื่น) ก็ได้ และเป็นอาการที่เกิดอยู่ลึกๆ (ข้างใน) ของบริเวณดังต่อไปนี้ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

 

   


2.1   กลางอก หรือตรงกลางหน้าอก (เจ็บ ปวด หรือแน่นลึก ๆ ข้างใน)
2.2   หน้าอกซ้ายใกล้กับส่วนกลางอก (เจ็บ ปวด หรือแน่นลึก ๆ ข้างใน)
2.3   ทรวงอกทั้งหมด (เหมือนถูกบีบรัด หรือนั่งทับ แน่น หรือ เหนื่อย หายใจไม่ออก)
2.4   ยอดอก หรือลิ้นปี่ (เจ็บ ปวด หรือเหมือนลมตีขึ้น)
2.5   คอ (จุกแน่น หรือ เหมือนถูกบีบคอ หายใจไม่ออก)
2.6   ขากรรไกร (เมื่อย ปวด จนบางครั้งคิดว่าปวดฟัน)
2.7   ไหล่ บ่า (ปวดเมื่อย หมดแรง ยกแขนไม่ขึ้น)
2.8    แขนด้านใน (ปวดเมื่อย หมดแรง ใช้แขนไม่ได้)
2.9    ตรงกลางหลัง หรือระหว่างสะบัก (ปวดเมื่อย แน่นลึก ๆ ข้างใน)
2.10  ชายโครงและท้องส่วนบน (ปวด เจ็บลึก ๆ จนบางครั้งคิดว่าเป็นโรคกระเพาะลำไส้หรือถุงน้ำดี ท่อน้ำดี เป็นต้น)


3. สิ่งที่ทำให้เกิด : อาการมักจะเกิดเมื่อมี
3.1 การออกกำลัง โดยเฉพาะการออกกำลังอย่างฉุกละหุก (อย่างเร่งรีบ) เช่น วิ่งขึ้นรถเมล์ รีบวิ่งขึ้นบันได หรือการออกกำลังโดยไม่ได้เตรียมตัว(อุ่นเครื่อง) ก่อน เป็นต้น การออกกำลังที่มากกว่า (หนักกว่า)ที่เคยทำเป็นประจำ เช่น ปกติเคยหิ้วน้ำถังเดียวเป็นประจำ อยู่ดี ๆ ไปหิ้วน้ำ 2 ถังและต้องหิ้วไปไกล ๆ เป็นต้น
นอกจากการออกกำลังแบบที่เข้าใจกันทั่วไปแล้ว การออกกำลังแบบอื่น ๆ ก็ทำให้เกิดอาการได้ เช่น การร่วมเพศ โดยเพาะการร่วมเพศแบบหักโหม(อาจทำให้ “ตายคาอก” ได้ สำหรับคนที่เป็นโรคนี้อยู่) การอาบน้ำ โดยเฉพาะน้ำเย็นจัด หรือขัดถูร่างกายแรงเกินไป เป็นต้น การกินอาหารมากเกินไป (อิ่มมากเกินไป) การออกกำลังหลังกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ (แม้จะไม่ได้กินอิ่มมากและไม่ได้ออกกำลังมากกว่าที่เคยทำเป็นประจำ) เป็นต้น อาการอาจจะเกิดในขณะออกกำลัง หรือหลังออกกำลังสักพักก็ได้

3.2 ความเครียด โดยเฉพาะความเครียดที่รุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น ตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ โกรธ อย่างรุนแรง เป็นต้น อาการเคียดแค้น ผิดหวัง โศกเศร้า อย่างเรื้อรัง เป็นต้น
ถ้าอาการเกิดในขณะที่นั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ และไม่มีความเครียดอะไร โดยที่ไม่มีอาการในขณะออกกำลังเลย ให้ถือว่าไม่น่าจะเป็นอาการเจ็บหัวใจ คนที่เป็นโรคหัวใจชนิดนี้ถ้าถึงขนาด “นั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ” แล้วมีอาการ เวลาขยับตัวทำอะไรยิ่งจะต้องมีอาการมากขึ้น รุนแรงขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้ามีอาการขณะนั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ หรืออยู่ว่าง ๆ แต่ในขณะออกกำลังไม่มีอาการ ไม่น่าจะเป็นโรคหัวใจ และน่าจะเป็นโรคทางจิตใจ หรือโรคประสาท มากกว่า


4. สิ่งที่ทำให้หาย : อาการมักจะหายในเวลาไม่นานถ้า
4.1 หยุดพัก หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ โดยทั่วไปเนื่องจากคนที่เจ็บหัวใจจะรู้สึกว่า อาการมาก ขืนทำต่อไปถ้าจะแย่หรือไม่ก็รู้สึกอ่อนแรงทันที ไม่สามรถทำต่อไปได้ จึงต้องรีบหยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ แล้วนั่งพัก หรือยืนพักพิงกำแพง หรือพิงเสา (ถ้าไม่มีที่นั่ง)
แต่จะไม่นอน เพราะถ้านอนลง จะรู้สึกแน่นและหายใจไม่ออกมากขึ้น

4.2 ล้วงคอ หรือกลั้นหายใจแล้วเบ่ง ในคนที่หยุดพักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น บางคนจะใช้วิธีล้วง
คอ ให้อาเจียน หรือหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นหายใจและเบ่ง(เหมือนตอนเบ่งอุจจาระเวลาท้องผูก) อาการจะหายไปได้

4.3 อมยาใต้ลิ้นหรือพ่นยา ซึ่งเป็นยาในกลุ่มไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) หรือไอโซซอร์-
ไบต์ (isosorbide) แล้วอาการจะหายไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ถ้าอาการไม่หายด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้น และเป็นอาการเจ็บหัวใจจริงก็แสดงว่า อาการเจ็บหัว-ใจนี้ ได้ผ่านจากระยะเจ็บหัวใจคงที่ (stable angina) เป็นระยะไม่คงที่ หรือเจ็บหัวใจไม่คงที่(unstable angina) ซึ่งอาจจะลุกลามไปทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน(acute myocardial infarction)ได้

ดังนั้น ผู้ที่อมยาใต้ลิ้นหรือพ่นยาดังกล่าวข้างต้นติด ๆ กัน 4-5 ครั้ง แล้วอาการยังไม่หาย ควรจะรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจรักษาโดยเร็ว

5. อาการร่วม : อาการร่วมมักจะแสดงถึงความรุนแรงของอาการที่เป็น เช่น
5.1 หมดสติและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว(sudden death) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรงหรือหยุดเต้น

5.2 หมดสติแต่ยังหายใจอยู่ แสดงว่าเป็นมาก จนความดันเลือดตก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จึงหมดสติ หรือเป็นลมหน้ามืด และฟุบลงไป อาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติ

5.3 เหงื่อแตกท่วมตัว แสดงว่าเจ็บมาก เป็นมาก

5.4 หอบเหนื่อย แสดงว่าหัวใจล้ม (หัวใจทำงานไม่ไหว ทำงานไม่เพียงพอ ทำให้เลือดคั่งในปอด)

5.5 ปากเขียว มือเท้าเขียว แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ หรือเลือดคั่งในปอดมาก (หัวใจล้ม) เป็นต้น

คนที่มีอาการร่วมดังกล่าวข้างต้นนี้ส่วนใหญ่โรคจะลุกลามเลยระยะเจ็บหัวใจธรรมดา(angina) กลายเป็นระยะเจ็บหัวใจรุนแรงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้ว
ดังนั้น ถ้ามีอาการร่วมข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น รีบเอายาอมใต้ลิ้นยัดใส่ใต้ลิ้นคนไข้ และใส่ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ทุก 5-10 นาที หลังจากยาละลายหมดไปแล้ว ในขณะที่รีบพาคนไข้ส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
อย่ามัวโทรศัพท์ตามแพทย์ เพราะกว่าแพทย์จะมาถึงอาจจะไม่ทันกาล นอกจากนั้นแพทย์จะไม่มีเครื่องมือติดตัวมาเพียงพอที่จะช่วยคนไข้ได้

ถ้าจะตาม ต้องตามรถพยาบาลฉุกเฉินที่มีแพทย์พยาบาลและเครื่องมือพร้อมสรรพในรถ จึงจะช่วยคนไข้ได้

                                                                                                                          ( อ่านต่อฉบับหน้า )

ข้อมูลสื่อ

193-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 193
พฤษภาคม 2538
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์