• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สถาบันครอบครัว-สถาบันชุมชน

สถาบันครอบครัว-สถาบันชุมชน


ทั้งๆ ที่เป็นเมืองพุทธแต่เรามีปัญหาต่างๆ มากมายซึ่งอาจสรุปเรียกว่าเป็นวิกฤติการณ์ทางศีลธรรม และดูเหมือนว่าการเทศน์และการสอนวิชาจริยธรรมต่างๆ จะไม่ให้ความหวังเอาเสียเลยว่าจะแก้ไขวิกฤติการณ์ทางศีลธรรมได้

สิ่งปลูกสร้างหรือสถาปัตยกรรมมีส่วนที่เป็นโครงสร้างกับส่วนตกแต่งฉันใด ระบบศีลธรรมในสังคมก็มีส่วนที่เป็นโครงสร้าง และส่วนตกแต่ง เช่นเดียวกัน ถ้าส่วนที่เป็นโครงสร้างพังเสียแล้วจะทำตรงที่ตกแต่งเท่าไรๆ ก็ฟื้นฟูศีลธรรมไม่ขึ้น หรือเปรียบเทียบกับการถล่มของโรงแรมรอยัลพลาซา โรงแรมรอยัลพลาซาถล่มเพราะข้างบนแต่อ่อนแอที่ฐานราก สังคมก็เช่นเดียวกันถ้าหนักข้างบน แต่อ่อนแอที่ฐานรากก็จะถล่ม แท้ที่จริง วิกฤติการณ์ทางสังคมนั้นคืออาการของ “โรครอยัลพลาซาทางสังคม”

อะไรคือโครงสร้างทางศีลธรรม หรือฐานรากของสังคม

สิ่งนั้น คือ สถาบันครอบครัวกับสถาบันชุมชน

ถ้าสถาบันทั้งสองแตกสลายแล้ว ย่อมไม่มีทางแก้ไขวิกฤติการณ์ทางสังคมได้

เรื่องของชุมชนได้เขียนมาในที่ต่างๆ เป็นอันมาก เข้าใจว่าใน “บนเส้นทางชีวิต” ที่ลงในฉบับนี้ก็มีเรื่องของชุมชน ซึ่งควรทำความเข้าใจกันให้ดี เพราะเป็นกุญแจสำคัญของการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางสังคม หมอชาวบ้านครั้งนี้ได้นำเอาเรื่องครอบครัวมาเป็นเรื่องขึ้นปก เพื่อร่วมงานปีครอบครัวสากลด้วย ขณะนี้ได้มีการพูดถึงครอบครัว และสถาบันครอบครัวกันมากขึ้น ความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว (family cohesion) คือ พลังของสังคม ความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวเกิดขึ้นจาก

  • ครอบครัวมีรายได้เพียงพอ ไม่ถูกบีบคั้นจากความยากจนเกินไป
  • ครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก
  • ครอบครัวมีสุขภาพดี
  • ครอบครัวมีสิ่งแวดล้อมดี
  • ครอบครัวมีการเรียนรู้ที่เหมาะสมซึ่งทำให้พัฒนาสติและปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้จะต้องเพ่งเล็งเรื่องเศรษฐกิจให้ดีว่าเป็นเศรษฐกิจที่ทำให้ครอบครัวแตก หรือครอบครัวเป็นปึกแผ่น เศรษฐกิจทุกวันนี้ไม่เป็นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว ควรจะมีการพัฒนาแนวคิดและการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐศาสตร์มนุษยนิยม โดยคำนึงถึงมนุษย์ ครอบครัว ชุมชน จึงจะทำให้เกิดศีลธรรมในสังคมได้

ข้อมูลสื่อ

180-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 180
เมษายน 2537
ศ.นพ.ประเวศ วะสี