• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “บวม” (ตอนที่ 2)

การตรวจรักษาอาการ “บวม” (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงอาการบวมประเภทกดบุ๋มว่ามี 4 สาเหตุ คือ

1.1 หลอดเลือดดำตีบตัน (venous obstruction) พบบ่อยที่ขา

1.2 การแพ้ (allergy หรือ hypersensitivity) จะเป็นที่ส่วนใดของร่างกายก็ได้

1.3 การอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ นอกจากการแพ้ (non-allergic inflammation) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภยันตราย หรืออุบัติภัยและการติดเชื้อ

1.4 การบวมทั่วไปที่เป็นน้อย (subcelinical generalized)

และได้ให้รายละเอียดในหัวข้อ 

1.1 หลอดเลือดดำตีบตัน (venous obstruction) ว่าถ้ามีอาการมากและเกิดร่วมกับอาการอื่น เช่น ปวดมาก ไข้สูง หอบเหนื่อย ทุรนทุราย เป็นต้น ก็ให้การปฐมพยาบาลแบบคนไข้หนัก แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

ครั้งนี้จะพูดต่อในประเภทที่มีไม่มาก ซึ่งอาจจะดูแลรักษาตนเองได้ ดังนี้

ถ้าอาการบวมเป็นน้อย และไม่มีอาการอื่น อาจจะรักษาตนเองดูก่อนได้โดย

1) ยกส่วนที่บวมนั้นให้สูงไว้ เช่น ถ้าขาข้างไหนบวมก็ต้องยกขาข้างนั้น อย่างน้อยให้เท้าอยู่สูงกว่าระดับเข่า ถ้าแขนข้างไหนบวม ก็ต้องยกแขนข้างนั้นอย่างน้อยให้สูงกว่าระดับไหล่ เป็นต้น

2) พยายามให้ส่วนที่บวมอยู่น่าเหยียดตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยรู้สึกสบาย ไม่ให้พับหรือหักงอ และไม่ให้นั่งทับหรือนอนทับ หรือมีสิ่งใดกดทับหรือผูกรัดเหนือบริเวณที่บวมนั้น ที่มักลืมกัน เช่น ในคนที่ขาบวม ไม่ควรใส่กางเกงในหรือถุงน่องที่มียางยืดรัดต้นขาจนแน่น หรือใส่กางเกงยีนหนาๆ และรัดรูปซึ่งเวลานั่งจะทำให้รอยย่นของผ้ารัดบริเวณโคนขา หรือข้อพับต่างๆ ได้ และไม่ควรนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งไขว่ห้าง หรืออื่นๆ ที่ทำให้เกิดการกดทับ หรือหักงอ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก

3) ให้พยายามหมั่นเคลื่อนไหวส่วนที่บวมนั้นอยู่เสมอ เช่น ถ้าขาบวม นอกจากจะยกเท้าให้สูงกว่าระดับเข่าแล้ว ควรกระดกเท้าเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะผลักดันให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และทำให้อาการบวมยุบลงเร็วขึ้น ถ้าแขนบวม นอกจากจะยกแขนให้สูงแล้ว ควรกำมือให้แน่นแล้วแบบมือ กำแล้วแบๆ เป็นระยะๆ จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและทำให้อาการบวมยุบลงเร็วขึ้น

4) ให้ความร้อนประคบ เช่น ใช้ถุงน้ำร้อนห่อด้วยผ้าหนาๆ วางประคบบริเวณที่บวม หรือจะใช้ความร้อนจากกระเป๋าไฟฟ้าหรืออื่นๆ แต่ต้องระวังอย่าให้ร้อนจัด มิฉะนั้นอาจทำให้ผิวหนังพองและอักเสบได้

5) อาจใช้ผ้ายางยืดแบบนิ่มและไม่รัดแน่นนัก พันส่วนที่บวม โดยพันจากส่วนปลายสุดก่อนให้ส่วนปลายรัดแน่นพอสมควร (แต่อย่าให้แน่นมาก ให้พอตึงรูดไปมาได้) แล้วค่อยๆ คลายความแน่นลงเมื่อพันสูงขึ้นๆ จนถึงส่วนต้นขาหรือแขนแน่นน้อยที่สุด

ปัจจุบันมีถุงผ้ายางยืดคล้ายๆ ถุงน่อง แต่หนากว่าและมีความยึดหดสูงกว่า อาจจะใช้ถุงยางยึดสวมบริเวณที่บวมก็ได้ แต่จะสู้พันด้วยผ้ายางยืดไม่ได้ ถ้ารักษาตัวเองดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นหรือยังเป็นๆ หายๆ ควรไปให้หมอตรวจให้ละเอียด เพื่อหาสาเหตุและรักษาสาเหตุที่ทำให้เป็นนาน หรือเป็นบ่อยด้วย ในกรณีที่หลอดเลือดดำอุดตันมากหรือเป็นบ่อย หมออาจจะใช้ยากันเลือดแข็ง (ยาที่ป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวง่าย) เลือดจะได้ไม่แข็งตัวอุดหลอดเลือด

ยากันเลือดแข็ง มีทั้งประเภทฉีดและกิน การใช้มากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย คนที่ใช้ยากันเลือดแข็งอยู่ จึงควรระวังตัวไม่ให้หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุต่างๆ และถ้ามีเลือดออกง่ายทั้งที่ไม่มีสาเหตุพอสมควร เช่น เลือดออกตามไรฟันมากเวลาแปรงฟันเบาๆ หรือตามแขนขาเป็นจ้ำเขียวๆ (พรายย้ำ) ง่าย เมื่อถูกกระทบกระแทกเพียงเบาๆ หรือไม่รู้ตัว ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อหรือถ้าถ่ายเก็บไว้ในขวดโหล (ขวดปากกว้าง) แล้วตั้งทิ้งไว้ จะเห็นตะกอนนอนก้นสีแดงเรื่อๆ แสดงว่ามีเลือดออกน้อยๆ แล้ว ให้รีบหยุดยาทันที และไปพบแพทย์ นอกจากแพทย์จะแนะนำไว้ก่อนแล้วว่าให้ทำอย่างไรถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น (ยากินเลือดแข็งแต่ละชนิดมีฤทธิ์ต่างกัน การแก้ไขจึงขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้)

1.2 การแพ้ (allergy หรือ hypersensitivity) จะเป็นที่ส่วนใดของร่างกายก็ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นในบริเวณที่สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ เช่น มือ แขน ขา เท้า หรือส่วนของร่างกายที่สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ แต่ถ้าสิ่งที่แพ้นั้นเป็นอาหารหรือสิ่งที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย อาการบวมอาจเป็นที่หน้าตา หน้า กล่องเสียง (รู้ได้เพราะเสียงแหบและหายใจลำบาก) หรือเป็นทั่วตัว ในลักษณะของลมพิษ หรือผื่นบวม เป็นต้น

การบวมที่เกิดจากการแพ้ มักจะมีอาการคัน หรือเจ็บๆ คันๆ ร่วมด้วย เช่น ถ้าซักผ้า แล้วแพ้ผงซักฟอกนิ้วมือและมือจะบวม มีผื่นแดงและคัน หรือเจ็บๆ คันๆ ถ้ากินอาหารที่แพ้ เช่น อาหารทะเล ของหมักดองแล้วเกิดเป็นลมพิษ หรือหน้าตาบวม มักมีอาการคันร่วมด้วย เป็นต้น

การรักษา : ถ้ามีอาการมาก เช่น หอบเหนื่อย หายใจไม่ออก ต้องรีบฉีดอะตรีนาลิน (Adrenaline) ขนาด 1:1,000 ประมาณ 1/2 มิลลิลิตร (ซี.ซี) เข้ากล้ามทันทีและรีบส่งโรงพยาบาล (คนที่มีอาการแพ้รุนแรง จะต้องพกเข็มฉีดยาและยาอะครีนาลินติดตัวไว้เสมอ)

ถ้าอาการไม่มาก เป็นเพียงอาการบวมและคัน ให้ทำดังนี้

ถ้าเกิดจากการสัมผัส และเป็นบริเวณแคบๆ ให้ทายาแก้แพ้ เช่น ขี้ผึ้งหรือครีมเพร็ดนิโซโลน ขี้ผึ้งหรือครีมสตรีรอยด์ อื่นๆ แล้วอาการบวมและคันจะดีขึ้น ถ้าเกิดจาการกินหรือการได้รับสารที่แพ้เข้าไปในร่างกายหรือถ้าเกิดผื่นบวมคันเป็นบริเวณกว้าง ควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วยจะทำให้อาการหายเร็วขึ้น เช่น ยาคลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine เม็ดละ 4 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 20 สตางค์) กิน 1 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง จนอาการดีขึ้นก็หยุดยาได้ ยาไฮอร็อกซีซีน (hydroxyzine เม็ดละ 10 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 1 บาท หรือเม็ดละ 25 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 1.70 บาท) กิน 1 เม็ดทุก 6-8 ชั่วโมง จะระงับอาการคันได้ดีกว่าคลอร์เฟนิรามีน ยาแก้แพ้ 2 ตัวนี้ กินแล้วจะทำให้ง่วงเหงาหาวนอนได้ ถ้ากินยาอะไรก็ตามแล้วง่วง ต้องระวังและไม่ควรขับรถหรือทำอะไรที่ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุ มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายได้ง่าย นอกจากนั้น อาการบวมที่เกิดจากโรคภูมิแพ้บางอย่าง อาจจะมีอาการบวมเฉพาะที่หรือเฉพาะแห่งได้ด้วย เช่น หนังตา ข้อต่างๆ เป็นต้น

1.3 การอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ นอกจากการแพ้ (non-allergic inflammation) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภยันตราย หรืออุบัติภัยและการติดเชื้อ ภยันตรายหรืออุบัติภัย เช่น การหกล้ม หรือการถูกกระทบกระแทกแรงๆ ทำให้ส่วนที่ถูกกระทบบวมปูดขึ้นมา เช่น หัวโน ข้อเท้าเคล็ดหรือปูดขึ้นมา เนื่องจากมีเลือดหรือน้ำ (น้ำเหลือง ฯลฯ) ซึมออกมาอยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากการบวมเกิดขึ้นเร็ว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง และเป็นเลือดหรือน้ำเหลือง มากกว่าน้ำ การกดบุ๋มจึงน้อย และเนื่องจากกดเจ็บด้วย ทำให้คนตรวจไม่กล้ากดแรง จึงเห็นการบุ๋มน้อยลง

ส่วนการติดเชื้อ เช่น จากเชื้อหนอง (แบคทีเรีย) จะทำให้เกิดการอักเสบมาก มีอาการ “ปวด บวม แดง และร้อน” มาก อาการบวมในการติดเชื้อเกิดจากน้ำเหลือง และการบวมของเซลล์ด้วย ทำให้กดไม่ค่อยบุ๋มหรือบุ๋มน้อย และเนื่องจากกดเจ็บมาก ทำให้กดแรงไม่ได้ด้วย การบวมที่เกิดจาการอักเสบจากอุบัติภัยหรือภยันตรายและการติดเชื้อ มักจะวินิจฉัยได้ไม่ยาก เพราะมีประวัติของอุบัติภัยหรือตรวจพบการอักเสบที่ลุกลามหรือเป็นหนองในกรณีของการติดเชื้อ 

การรักษา : ถ้าเกิดจากอุบัติภัยในระยะแรก ให้พักบริเวณที่บวม (ให้บริเวณที่บวมอยู่นิ่ง ๆ) และให้ประคบด้วยของเย็น เช่น ถุงน้ำแข็งห่อด้วยผ้า หรือน้ำเย็นๆ เป็นต้น เมื่ออาการบวมหยุดแล้ว (ไม่บวมขึ้นๆ อีกแล้ว) ซึ่งจะกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ ได้ แล้วจึงประคบด้วยถุงน้ำร้อนห่อผ้าในระยะต่อมา เพื่อให้อาการบวมและการอักเสบลดลง

ถ้าเกิดจากการติดเชื้อที่ลุกลามมาก จนทำให้บวมชัดเจนหรือมีไข้สูง หรือมีอาการเจ็บปวดในบริเวณอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่บวมแดง (เจ็บปวดที่ขาหนีบในกรณีที่เป็นที่ขาหรือเจ็บปวดที่รักแร้ในกรณีที่เป็นที่แขน ซึ่งแสดงว่าต่อมน้ำเหลืองในบริเวณดังกล่าวอักเสบด้วย) หรือ มีโรคเรื้อรังอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือด โรคภูมิคุ้มกันต่ำ ควรรีบไปโรงพยาบาล

ถ้าเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่ลุกลาม และไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น อาจจะลองรักษาดูก่อนได้โดยยกส่วนที่อักเสบบวมให้สูง และให้พัก (อย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ) และใช้ถุงน้ำร้อนห่อผ้าประคบบริเวณที่อักเสบบวมบ่อยๆ

ถ้าพบตุ่มหนองในบริเวณที่อักเสบบวม ให้ล้างบริเวณนั้นให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ ปล่อยให้แห้งแล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ (แอลกอฮอล์เช็ดแผล) หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แล้วใช้ปลายเข็มที่เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีนหรือเผาและปล่อยให้เย็น แล้วสะกิดผิดเหนือตุ่มหนองเพื่อให้หนองออก การอักเสบบวมจะหายเร็วขึ้น

ในกรณีที่มีการอักเสบบวมเป็นวงค่อนข้างกว้าง หรือฝีเม็ดใหญ่ ควรกินยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เช่น
ยาคลอกซาซิลลิน (cloxalillin) ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหารสามเวลาและก่อนนอน นั่นคือ กินวันละ 4 ครั้งๆ ละเม็ดในขณะที่ท้องว่าง (คนที่แพ้ยาเพ็นนิซิลลิน ห้ามกินยานี้)
ยาโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) กินครั้งละ 2 เม็ดหลังอาหารเช้าและเย็น เมื่อกินยานี้ควรดื่มน้ำมากๆ ด้วย (คนที่แพ้ยาซัลฟา ห้ามกินยานี้) ยาปฏิชีวะนะเหล่านี้ควรกินติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน หรือจนกว่าการอักเสบบวมจะหายสนิท

1.4 การบวมทั่วไปที่เป็นน้อย (subelinical generalized) การบวมทั่วไปที่ยังเป็นน้อยๆ อาจไม่พบการบวมในหลายส่วน หรือไม่บวมทั้ง 2 ข้าง แต่จะพบการบวมเล็กน้อยในส่วนที่ต่ำเพียงข้างหนึ่งข้างใด เช่น บวมเท้าข้างเดียวเพียงเล็กน้อย บวมมือข้างเดียวเพียงเล็กน้อย เป็นต้น

การรักษา : ให้ดูในเรื่องอาการบวมทั่วไป 

ข้อมูลสื่อ

180-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 180
พฤษภาคม 2537
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์