• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง ไข้ (ตอนที่ 3)

เรื่อง “ไข้”  (ตอนที่ 3)

อาการร่วมหลายอย่างที่จะทำให้เรารู้สาแหตุของโรคได้เช่น

1. อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ถ้าเกิดร่วมกับอาการไข้ตัวร้อนหรือรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวๆร้อนๆ หรือสะบัดร้อนสะบัดหนาวจะทำให้นึกถึง “โรคไข้หวัด” (common cold or coryza) ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยมาก และอาจทำให้มีอาการเจ็บคอ ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะสีขาวๆหรือไม่มีสี และอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดมึนศีรษะ เบื่ออาหาร และอื่นๆ ซึ่งเป็นอาการร่วมทั่วไปของอาการไข้ได้ด้วย

การรักษา  คือ ทำร่างกายให้อบอุ่นโดยการใส่เสื้อผ้าหนาๆ กินอาหารและน้ำร้อนๆ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกร้อนจนเหงื่อแตก หรือเหงื่อซึมตลอดวันตลอดคืน(ยกเว้นในเด็กที่เคยชักต้องระวังอย่าให้เด็กตัวร้อน อาจทำให้ชักได้ ดูตัวอย่างคนไข้รายที่ 1) ถ้าทำให้ร่างกายร้อนจนเหงื่อซึมได้ตลอดวันตลอดคืนสัก 2-3 วัน โรคไข้หวัดก็มักจะหายเองตามธรรมชาติ

ผู้ที่ชอบอยู่ในห้องแอร์หรือเปิดพัดลม กินไอศกรีม น้ำเย็น หรือชอบอาบน้ำสระผมขณะเหงื่อออก(โดยเฉพาะอาบน้ำเย็น) หักโหมงาน ออกกำลังเกินควร หรือพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอนอกจากจะทำให้โรคไข้หวัดยืดเยื้อออกไปเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ แล้วยังอาจจะทำให้เกิดโรคแทรก เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม ทำให้เกิดอันตรายและต้องเจ็บป่วยยืดเยื้อออกไปอีก

ยาที่ใช้รักษาไข้หวัด เป็นยารักษาอาการเท่านั้น เพราะยังไม่มียาที่จะสามารถฆ่าเชื้อหวัด(เชื้อไวรัสหลายชนิดที่ทำให้เกิดอาการไข้หวัด)ในร่างกายของมนุษย์ได้ ดังนั้น ที่เห็นโฆษณากันอย่างครึกโครมว่าเป็น “ยาแก้ไข้หวัด” ที่จริงแล้วเป็นเพียงยาแก้อาการเท่านั้น เช่น อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลบ้าง แก้อาการปวดเมื่อย ปวดหัวบ้าง แก้อาการไอบ้าง ไม่ใช่ยารักษาไข้หวัดโดยตรงทั้งนั้น

ในท้องตลาด ยาเกือบทั้งหมดที่โฆษณาว่าเป็นยาแก้หวัด เขาจะเอายาหลายๆชนิดมาผสมรวมกันไว้ในเม็ดเดียว เช่น เอายาแก้คัดจมูกน้ำมูก 2-3 ชนิด มารวมกับยาแก้ปวด 1-2 ชนิด บ้างก็ผสมยาแก้ไอเข้าไปด้วย

ยาผสมเหล่านี้ทำให้คนไข้ต้องกินยาที่ไม่จำเป็นเข้าไปด้วย ทำให้เสียค่ายาแพงขึ้นและอาจแพ้ยาได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น เพราะถ้าเรามีอาการอะไร และต้องการบรรเทาอาการนั้น ก็ควรกินยาแก้อาการนั้นเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ไปกินยาผสมที่มียาแก้อาการอย่างอื่น(ที่เราไม่ได้เป็น)ร่วมเข้าไปด้วย เช่น
ถ้าต้องการแก้อาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ให้กินยาคลอร์เฟรินามีน(chlorpheniramine) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง (ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้) ก็เพียงพอแล้ว ราคาก็ถูกเม็ดละ 20 สตางค์ (ควรซื้อติดบ้านไว้เป็นยาประจำบ้านสัก 50-100 เม็ด กินได้ตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่)

ถ้าต้องการแก้อาการปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตามตัว ให้กินยาพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด (ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ไม่ควรกินเกินวันละ 6-8 เม็ด) ก็เพียงพอแล้ว ราคาก็ถูกเม็ดละ 20 สตางค์ (ควรซื้อติดบ้านไว้เป็นยาประจำบ้าน สัก 50-100 เม็ด กินได้ตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ ยกเว้นคนที่เป็นโรคตับรุนแรง )

ถ้าต้องการแก้อาการเจ็บคอ (ที่ส่องกระจกดูคอตนเอง แล้วไม่เห็นว่ามันแดงผิดปกติหรือผิดไปจากเดิม) ให้จิบน้ำอุ่นบ่อยๆ หรือน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวอุ่นๆ บ่อยๆ หรืออมลูกอมรสซ่าก็ได้

ถ้าต้องการแก้อาการไอก็เช่นกัน ให้จิบน้ำอุ่นๆบ่อยๆ หรืออมลูกอมรสซ่าก็ได้

ถ้าต้องการแก้อาการไอก็เช่นกัน ให้จิบน้ำอุ่นๆ บ่อยๆ หรือน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวอุ่นๆ บ่อยๆ หรืออมลูกอมรสซ่า หรือจะซื้อยาน้ำหรือยาอมแก้ไอก็ได้

ใบไม้และผลไม้หลายชนิดก็ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ คันคอ และอาการไอได้ เช่น ใบอนุมานประสานกาย (นำใบสดมาเคี้ยวและอมไว้ในปาก) ใบชา(ใบแห้งๆ มาเคี้ยวและผมไว้ในปาก) ผลมะขามป้อม(ผลสด กัดกินทีละนิดๆ) ส้ม แอปเปิ้ล สาลี่ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจำไว้คือยาแก้อาการไม่ใช่ยารักษาสาเหตุ ดังนั้น ไข้หวัดจะหายหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาการการกินยามากหรือน้อยหรือกินยากี่อย่าง แต่ขึ้นกับการรักษาร่างกายของคนที่เป็นไข้หวัดดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว

การกินยาแก้อาการมากๆอาจทำให้แพ้ยา(เกิดพิษจากยา) เช่น ยาแก้คัดจมูกน้ำมูกไหล มักทำให้ง่วง เสมหะแห้งและเหนียวไอออกลำบาก และตัวยาบางชนิดที่มีอยู่ในยาผสมแก้หวัดอาจทำให้ใจสั่นมือสั่นได้

ยาแก้อาการปวดอาการไข้จะทำให้ร่างกายเย็นลง ทำให้เชื้อหวัดในร่างกายถูกทำลายน้อยลงหรือช้าลง อาจทำให้ไข้หวัดยืดเยื้อออกไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ได้

ส่วนยาแก้ไออาจทำให้ง่วงหรือไปกดอาการไอ ทำให้ไม่ไอขับเสมหะออกมา เสมหะที่คั่งอยู่ในหลอดลมจะทำให้หายใจลำบากเกิดอาการหอบเหนื่อย หรือเกิดการอักเสบในหลอดลม และในปอดรุนแรงมากขึ้นได้

เมื่ออาการไข้หวัดยืดเยื้อออกไปหลายวัน เชื้อโรคอื่นโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียมักจะเข้าแทรก ทำให้ไข้สูงขึ้น เจ็บคอมากขึ้น ไอมากขึ้น อาจมีน้ำมูกกับเสมหะเปลี่ยนจากสีขาวหรือไม่มีสีเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือเป็นหนอง

ถ้าการอักเสบลุกลามไปสู่ที่อื่น เช่น

เข้าสู่ไซนัสก็ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ (ปวดที่หน้าผาก หว่างคิ้ว โหนกแก้ม หรือปวดลึกๆในศีรษะ เวลาก้มหน้าหรือเงยหน้าอาจมีหนองไหลออกมาทางจมูกหรือหลังคอจนต้องขากออก) เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงได้

เข้าสู่หลอดลมส่วนล่างหรือปอดก็ทำให้เกิดหลอดลมเล็กๆ อักเสบ และตีบตัว ปอดอักเสบหรือปอดบวมทำให้มีอาการหอบเหนื่อยรุนแรงได้

ถ้ามีอาการรุนแรง ก็จำเป็นต้องไปหาหมอเพื่อตรวจรักษาให้ถูกต้องโดยเร็ว
ถ้าอาการไม่รุนแรงเพียงแต่คอเจ็บมาก(ส่องกระจกแล้วเห็นว่าคอแดงมาก ต่อมทอนซิลโตแดงหรือมีจุดหนองเป็นสีขาว เหลืองหรือเขียว) หรือน้ำมูกและเสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว หรือเป็นหนอง ก็ควรจะกินยาปฏิชีวนะด้วย เช่น

1. ยาอะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) เม็ดละ 500 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 4 บาท กินครั้งละ 1 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง กินติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน (ถ้ากินแล้วอาการดีขึ้นทันทีและหายภายใน 1 วันให้กินต่ออีก 4 วัน แต่ถ้ากินแล้วอาการดีขึ้นหลัง 3-4 วัน ควรกินยาต่อให้ครบ 10 วัน) เพราะฉะนั้น ควรซื้อยาครั้งแรก 15-20 เม็ด เป็นอย่างน้อย
ถ้าเคยแพ้ยาพวกเพนนิซิลลิน ห้ามใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน

2. ยาโคไตรม็อกซาโซล (Cotrimoxazole) เม็ดเล็กเม็ดละ 1 บาท กินครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น เม็ดใหญ่เม็ดละ 2 บาท กินครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น ถ้ากินยานี้ควรดื่มน้ำมากๆ (อย่างน้อยวันละ 2,000 มิลลิลิตร หรือ 3 ขวด)
ถ้าเคยแพ้ยาพวกซัลฟา ห้ามใช้ยาไตรม็อกซาโซล

3. ยาอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) เม็ดละ 3 บาท กินครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน วันละ 8 เม็ด ยานี้อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหารมากๆได้
ควรเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเพียงตัวเดียว และถ้ากินติดต่อกัน 5 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรเปลี่ยนไปใช้ยาอีกตัวหนึ่ง

การกินยาหรือใช้ยาอะไรก็ตาม ถ้าเกิดอาการผิดปกติขึ้นหลังใช้ยานั้น ให้หยุดยานั้นไว้ก่อนแล้วไปพบแพทย์

ถ้าไปพบแพทย์ไม่ได้ ให้หยุดยานั้นไปเลย หรือถ้าไม่แน่ใจควรลองใช้ยานั้นดูใหม่เมื่อไม่มีอาการแพ้แล้ว ถ้าใช้ยาอีกครั้งแล้วเกิดอาการแพ้เหมือนเดิมอีก น่าจะถือได้ว่าแพ้ยาตัวนั้นจริงๆ ควรจำชื่อยานั้นไว้ เวลาไปหาหมอหรือไปซื้อยาอะไรจะได้บอกหมอหรือเภสัชกรว่า เคยแพ้ยาอะไรบ้าง หมอหรือเภสัชกรจะได้ไม่จ่ายยานั้นให้

ถ้ามีอาการแพ้ยารุนแรง ควรไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม อาการไข้หวัดหรือคล้ายไข้หวัดอาจจะเป็นอาการนำ (prodromalsymptoms) ของโรคอื่นๆได้ เช่น โรคหัด อีสุกอีใส ไข้ผื่น(ส่าไข้) ตับอักเสบ หัวใจอักเสบ หรือโรคสมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมาหลังจากมีอาการไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอแล้ว อย่างน้อย 2-3 วัน

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

212-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 212
ธันวาคม 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์