• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “ไข้” (ตอนที่ 5)

เรื่อง “ไข้” (ตอนที่ 5)

โรคต่างๆที่อาจตามมาหลังจากมีอาการดังกล่าว (ตอนที่ 4)

4. อาการปวดศีรษะมาก อาการปวดศีรษะอาจเกิดร่วมกับอาการไข้ต่างๆ โดยเฉพาะถ้าไข้สูง หรือไข้ขึ้นมากๆ ถ้าไข้ลงแล้ว(ตัวไม่ร้อนแล้ว)ยังปวดศีรษะมาก ต้องตรวจดูว่าบริเวณที่ปวดนั้นกดเจ็บไหมหรือเคาะเจ็บไหม เช่น

  • ถ้ากดเจ็บหรือเคาะ(ด้วยปลายนิ้วมือ)แล้วเจ็บที่บริเวณหว่างคิ้วหรือโหนกแก้ม และมีอาการคัดจมูกและน้ำมูกเป็นหนองด้วย มักแสดงว่าเป็นโรคไซนัสอักเสบ(sinusitis) ควรกินยาคลอร์เฟนิรามีนเพื่อลดอาการคัดจมูก เพื่อเปิดทางให้น้ำมูกหรือหนองในไซนัสไหลออกได้สะดวกขึ้นและกินยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรไปโรงพยาบาลเพื่อเจาะเอาหนองออก
  • ถ้ากดเจ็บหรือเคาะเจ็บบริเวณหลังหู โดยเฉพาะในเด็กหรือคนที่เป็นโรคหูน้ำหนวก(otitis media)อยู่ มักแสดงว่ามีการอักเสบของปุ่มกระดูกหลังหู(mastoiditis)ควรไปโรงพยาบาล
  • ถ้าพบตุ่มหรือก้อนกดเจ็บที่ศีรษะ ตุ่มหรือก้อนนั้นอาจจะเป็นฝีก็ได้ ควรไปโรงพยาบาล
  • ถ้าปวดร้าวไปหมดทั้งศีรษะและคอแข็ง นั่นคือก้มคอไม่ได้แต่เอี้ยวคอไปทางขวาทางซ้ายได้ และเงยคอได้ (ดูวิธีการตรวจคอ ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 85-87) แสดงว่า คนไข้อาจเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาให้ถูกต้องทันที

5. อาการปวดท้อง อาการไข้(ตัวร้อน)โดยทั่วไปจะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย ดังนั้นถ้าคนที่มีไข้มีอาการปวดท้องด้วย มักแสดงว่าสาเหตุของไข้อยู่ในท้อง เช่น

5.1 ไข้ร่วมกับปวดท้องและหน้าท้องกดเจ็บมาก จนหน้าท้องแข็งเป็นดานหรือปล่อยเจ็บ (กดหน้าท้องลงไปเบาๆอย่าให้คนไข้เจ็บ แล้วค่อยๆกดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช้าๆ โดยไม่ให้คนไข้เจ็บ แล้วปล่อยมือที่กดอยู่)ขึ้นทันที ถ้าคนไข้สะดุ้ง แสดงว่ามีการปล่อยเจ็บ (rebound tenderness) ซึ่งบ่งบอกว่าน่าจะมีการอักเสบในช่องท้องรุนแรงจนเยื่อบุช่องท้องอักเสบทั่วไป(generalized peritonitis)ต้องรีบส่งโรงพยาบาล (ดูวิธีตรวจท้อง ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 49-50)
5.2 ไข้ร่วมกับปวดท้องและท้องเสีย แสดงว่ากระเพาะลำไส้อักเสบจากอาหารเป็นพิษ สารพิษ ไข้รากสาดน้อย(ไทฟอยด์)หรืออื่นๆ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซีซิลลิน ยาโคไตรม็อกซาโซล หรืออื่นๆ โดยเฉพาะถ้าอุจจาระเป็นมูกเลือด หรือถ้าจะให้ดีควรนำอุจจาระไปตรวจด้วยเพราะอาการไข้ ปวดท้อง และมีอุจจาระเป็นมูกเลือด อาจเกิดจากเชื้อบิดมีตัว (Ameba histolytica) ยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่อาการอุจจาระเป็นมูกเลือดมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียมากกว่าเชื้อพยาธิ

(ดูรายละเอียดของโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 92-97 หรือ 204-206 )  

6. อาการปัสสาวะผิดปกติ ถ้าอาการไข้เกิดพร้อมหรือตามหลังอาการปัสสาวะแสบ ขัด ขุ่น มีกรวดทรายปนหรือปัสสาวะลำบาก อาการไข้นั้นน่าจะเกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ถ้ามีอาการไข้หนาวสั่นหรือปวดท้อง/ปวดบั้นเอวมาก ควรไปโรงพยาบาล

ถ้าไม่มีอาการมาก อาจลองกินยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซีซิลลิน หรือยาโคไตรม็อกซาโซลตามขนาดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หรือจะกินยานอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin) ขนาดเม็ดละ 4oo มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 10 บาท กิน 1 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วันติดต่อกัน ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาล

คนที่มีอาการทางปัสสาวะดังกล่าวข้างต้นไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่มีไข้ควรดื่มน้ำมากๆ (อย่างน้อยวันละ 3,ooo มิลลิลิตร หรือ 4 ขวด) จะได้ชะล้างสิ่งสกปรกรวมทั้งเชื้อโรคและกรวดทรายออกจากทางเดินปัสสาวะได้

7. อาการประจำเดือนหรือตกขาวผิดปกติ ถ้าอาการไข้เกิดพร้อมกับระดู(ประจำเดือน)ชาวบ้านมักเรียกว่า “ไข้ทับระดู” ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสตรีที่มีอาการอักเสบเรื้อรังของปีกมดลูกและ/หรือมดลูก พอเวลาระดู(ประจำเดือน)มา  ภูมิต้านทานโรคในบริเวณปีกมดลูกและมดลูกจะลดลงทำให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด เกิดอาการไข้หนาวสั่น พร้อมกับมีประจำเดือนที่เป็นหนองหรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
ถ้ามีอาการรุนแรง ควรไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจภายในและเอาประจำเดือนที่ผิดปกติไปตรวจและเพาะเชื้อ ก่อนให้ยาปฏิชีวนะ

ถ้าอาการไม่รุนแรง อาจลองกินยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซีซิลลิน ยาโคไตรม็อกซาโซล หรือยานอร์ฟล็อกซาซิน ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว

8. อาการปวดหลัง อาการปวดหลังอาจเกิดร่วมกับอาการปวดเมื่อยทั้งตัวเมื่อไข้ขึ้นสูง เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถ้าปวดมากก็อาจกินยาพาราเซตามอลช่วยแก้อาการปวดได้
แต่อาการปวดหลังที่ร่วมกับอาการปัสสาวะอักเสบ ขัด ขุ่น หรือมีกรวดทราย และมีไข้หนาวสั่น มักเกิดจากโรคกรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ(urolithiasis หรือ urinary tract stone) ซึ่งอาจตรวจอย่างง่ายๆ โดยทุบเบาๆบริเวณกระเบนเหน็บ(ตรงบริเวณชายโครงด้านหลังที่เหน็บชายกระเบน)คนไข้สะดุ้งเพราะเจ็บ และถ้าเอาปัสสาวะมาตรวจจะพบว่าปัสสาวะขุ่น หรือเป็นหนอง หรือมีกรวดทรายปนอยู่

  • ถ้ามีอาการรุนแรง ควรไปโรงพยาบาล
  • ถ้ามีอาการไม่รุนแรง อาจลองใช้ยาเช่นเดียวกับเรื่องปัสสาวะผิดปกติในข้อ 6
  • แต่ถ้าอาการปวดหลัง ร่วมด้วยอาการไข้สูง หลังแข็ง และขาอ่อนแรง หรือยกขาไม่ขึ้น หรือยืนไม่ได้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีเพราะอาจเป็นฝีที่บริเวณสันหลังแล้วไปกดไขสันหลัง ทิ้งไว้นานจะเป็นอัมพาตถาวรได้

(ดูรายละเอียดเรื่องปวดหลังใน  “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 98-100)

9. อาการปวดข้อ อาการปวดข้อที่ร่วมกับอาการไข้จะต้องตรวจด้วยว่า ข้อนั้นบวม แดง ร้อน และกดเจ็บกว่าข้ออื่นไหม ถ้าใช่ แสดงว่าข้อนั้นอักเสบจริง และน่าจะเป็นสาเหตุของอาการไข้ได้ และถ้าไม่เคยเป็นมาก่อน ควรจะไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้แน่นอนว่าข้ออักเสบจากการติดเชื้อ จากโรคเกาต์ จากการเสื่อมสภาพ จากภูมิแพ้ หรืออื่นๆ เพราะการรักษาจะแตกต่างกัน

แต่ถ้าอาการปวดข้อนั้นไม่มีอาการบวม แดง ร้อน และกดเจ็บที่ข้อ แสดงว่าข้อนั้นไม่ได้มีการอักเสบจริง อาจเป็นเพียงอาการปวดเมื่อยที่ข้อพอขยับ(เคลื่อนไหว)ข้อนั้นสักพัก อาการปวดข้อก็หายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ควรเคลื่อนไหว(บริหาร)ข้อนั้นบ่อยๆจะได้ไม่ปวดข้อ และอาการไข้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุในข้อนั้น
(ดูรายละเอียดเรื่องปวดข้อใน  “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 101-106)

1o. อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดหู เจ็บอก เป็นฝี เป็นแผลหรืออื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการไข้ ให้รักษาที่สาเหตุเหล่านั้น แล้วอาการไข้จะลดลงและหายไป

อาการไข้แบบต่างๆ เช่น ไข้หนาวสั่น ไข้ลอย ไข้แกว่ง ไข้เป็นๆหายๆ หรืออื่นๆ ให้ดูรายละเอียดเรื่องไข้ตัวร้อนใน  “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 104

ตัวอย่างคนไข้และข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไข้ และสาเหตุของไข้ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น คงจะพอทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจในเรื่องไข้ได้พอสมควร และคงจะสามารถช่วยตนเองและญาติพี่น้องได้ตามควรแก่กรณี

                                                                                                                  (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

214-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 214
กุมภาพันธ์ 2540
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์