• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “ไอ”

เรื่อง “ไอ”

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ คำว่า “ไอ” เป็นคำนาม หมายถึง “สิ่งที่มีลักษณะควัน ลอยออกมาจากที่ถูกความร้อนทำให้ระเหย เช่น ไอน้ำ (ไอจากน้ำที่ระเหย) ไอตัว  (ความร้อนที่ระเหยจากร่างกาย) ไอแดด (ความร้อนจากแดดที่เข้ามาถึงในร่ม) เป็นต้น”

แต่  “ไอ” ที่เป็นคำกริยา หมายถึง อาการที่ลมพุ่งขึ้นมาจากปอดโดยแรง เพื่อขับสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายออกมา ทำให้เกิดเสียงพิเศษดังจากลำคอโดยไม่ตั้งใจ เมื่อได้ยินก็รู้ว่า “ไอ”

อันที่จริง อาการไอที่ทำให้เกิดเสียงพิเศษดังจากลำคอนั้น เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือโดยเจตนาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจเท่านั้น เช่น ไอแก้เขิน ไอแก้ขวย ไอแกล้งเขา เป็นต้น

ในที่นี้จะกล่าวถึง  “ไอ” ที่เป็นคำกริยา หรือเป็นอาการเท่านั้น แต่ก็คงจะต้องกล่าวถึงอาการที่มีลักษณะคล้ายอาการไอ และอาจทำให้คนไข้มาบอกว่าเป็นอาการไอได้ เช่น
อาการ “กระแอม” ซึ่งถ้าเป็นคำกริยา หมายถึง อาการที่ทำเสียงในลำคอคล้ายไอ เพื่อให้โปร่งคอ หรือให้เสียงหายเครือ หรือเพื่อให้เขารู้(เพื่อเตือนหรือดุ) หรืออาจใช้คู่กับไอ เช่น กระแอมกระไอ เป็นต้น
อาการ  “ขาก” หมายถึงอาการที่ทำให้เสมหะหือสิ่งอื่นในลำคอหลุดออก มักมีเสียงดังเช่นนั้น และมักเกิดร่วมกับอาการถุย ที่รวมเรียกว่า  “ขากถุย”
อาการ  “ถุย” หรือ  “ถ่ม” หมายถึงอาการที่ใช้ลมดันของในปาก เช่น เสมหะ ให้หลุดออกมาพร้อมกับเสียงดัง เช่น ถุยน้ำลาย ถ่มเสมหะ เป็นต้น ซึ่งบางคนก็ใช้อาการนี้เพื่อแสดงกิริยาดูถูกดูหมิ่นฝ่ายตรงข้ามได้
อาการ  “บ้วน” หมายถึง อาการที่ปล่อยน้ำหรือของเหลวออกจากปาก ถ้าบ้วนแรงๆก็จะมีลักษณะเหมือน  “ถ่ม” หรือ  “ถุย” ได้
อาการ  “สำลัก” หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำ อาหาร หรือสิ่งอื่นเข้าไปทางหลอดลม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นระหว่างการกลืนน้ำ อาหาร หรือสิ่งอื่น ทำให้เกิดอาการไอรุนแรง หรืออาการไอติดต่อกันหลายครั้ง
อาการ  “สำรอก” หมายถึงอาการขย้อนเอาสิ่งที่กลืนลงไปในกระเพาะแล้วออกมาทางปาก (คล้ายการอาเจียน แต่อ่อนกว่า) อาการสำรอก หรือขย้อน หรืออาเจียนอาหาร และน้ำเหล่านั้น ที่เข้าไปทางหลอดลมทำให้เกิดอาการไอรุนแรงได้
ดังนั้น เมื่อคนไข้มาหาด้วยอาการ  “ไอ” จึงควรซักถามให้ดีว่าเป็นอาการแบบไหนแน่ จึงจะหาสาเหตุและให้การตรวจรักษาที่ถูกทางได้

คนไข้รายที่ ๑ หญิงวัยกลางคนพาลูกสาวอายุ ๑o ปีมาหาหมอ

หญิง : “สวัสดีค่ะคุณหมอ ลูกดิฉันเป็นอะไรก็ไม่ทราบ ชอบไอบ่อยๆค่ะ แม้แต่เวลากินข้าวร่วมกับใครๆที่โต๊ะอาหารก็ไอค่ะ กลัวคนเขาจะว่าและรังเกียจน่ะค่ะ ไอแบบนี้เป็นวัณโรคมั้ยคะ”
หมอ : “สวัสดีครับ ลูกคุณไอมานานหรือยังครับ”
หญิง : “ก็ไอมานานแล้วค่ะ บางครั้งก็ไอมาก บางครั้งก็ไอน้อย ไอจนน่ารำคาญแหละค่ะ”
หมอ : “ลูกคุณไอมานานกี่วันหรือกี่เดือนครับ”
หญิง : “ไอมานานแล้วค่ะ คงจะหลายเดือนแล้ว จำไม่ได้แน่ค่ะ เป็นวัณโรคมั้ยคะ”
หมอ : “ยังไม่ได้ตรวจลูกคุณเลย  จึงยังบอกไม่ได้ว่าลูกคุณเป็นวัณโรคหรือไม่  แต่ทำไมคุณปล่อยให้ลูกคุณไออยู่ตั้งหลายเดือนโดยไม่พาไปหาหมอล่ะครับ”
หญิง : “ก็พาไปหามาหลายหมอแล้วค่ะ เอายามากินก็ไม่เห็นหาย หรือหายไปไม่กี่วันก็เป็นอีก เปลี่ยนมาหลายหมอแล้วก็ไม่หายสักที”
หมอ : “แล้วถามคุณหมอหรือเปล่าว่า ลูกคุณเป็นอะไร ทำไมถึงรักษาไม่หาย”
หญิง : ถามค่ะ บางคนก็บอกว่า หลอดลมอักเสบ บางคนก็บอกว่าทอนซิลอักเสบ บางคนก็บอกว่าแพ้อากาศ แล้วก็ให้ยามา แต่ไม่เห็นหายสักที”

หมอ : “แล้วคุณไม่ถามหมอเรื่องรักษาไม่หายหรือครับ”
หญิง : “ก็ดิฉันเห็นเขารักษาลูกแล้วไม่หาย ก็เลยพาลูกไปหาหมอคนใหม่ ไม่ได้กลับไปหาหมอคนเก่า เลยไม่ได้ถามค่ะ”
หมอ : “อ้าว...ทำไมคุณทำอย่างนั้นล่ะ การเปลี่ยนหมอบ่อยๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนหมอเพียงชั่วรักษากันครั้งเดียวเท่านั้น มีแต่จะทำให้คุณและลูกต้องลำบากและเจ็บป่วยนานออกไป เพราะโรคจำนวนมากไม่ใช่ว่ารักษาครั้งเดียวแล้วจะหาย และโรคจำนวนไม่น้อยในระยะแรกจะมีอาการคล้ายกัน หมอจึงอาจจะวินิจฉันผิดได้

“นอกจากนั้น แม้ว่าจะวินิจฉัยถูก แต่ ‘ลางเนื้อชอบลางยา’ ดังนั้น ถ้าคุณเปลี่ยนหมอแบบนี้ไปเรื่อยๆ หมอคนต่อไปเขาก็ไม่รู้ว่า ลูกคุณใช้ยาอะไรมาบ้างแล้วไม่ได้ผล เขาอาจให้ยาเดิมอีก ลูกคุณก็จะไม่ดีขึ้นอีก แล้วคุณก็เปลี่ยนหมออีก

“หมอคิดว่า คุณควรพาลูกกลับไปหาหมอคนก่อนๆ ที่คุณคิดว่าน่าเชื่อถือที่สุด แล้วรักษากับเขาสักพัก ลูกคุณจะได้ไม่ต้องเริ่มใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

หญิง : “ไม่ล่ะค่ะ ดิฉันมาแล้วก็ต้องให้หมอรักษา หมออย่าปฏิเสธคนไข้สิคะ”
หมอ : “หมอไม่ปฏิเสธคนไข้หรอก นอกจากว่าคนไข้นั้นมีหมอตรวจรักษาอยู่แล้ว หรือหมอเห็นว่าตัวหมอเองไม่มีความสามารถพอที่จะดูแลคนไข้คนนั้นได้ หรือเห็นว่าหมอคนอื่นจะดูแลคนไข้นั้นได้ดีกว่า เป็นต้น

“ในกรณีของลูกคุณหมอเห็นว่าหมอคนก่อนๆน่าจะดูแลรักษาลูกคุณได้ดีกว่า เพราะเคยรักษาลูกคุณมาก่อน ย่อมจะบอกได้ว่า ลูกคุณดีขึ้นหรือเลวลงหรือคงเดิม และยาอะไรที่ใช้ไปแล้วได้ผลและไม่ได้ผล จะได้เลือกใช้ยาได้ถูกต้อง”

หญิง : “หมอคนก่อนๆ เขาก็ได้รักษาลูกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คงไม่ช่วยอะไรได้มาก คุณหมออย่าปฏิเสธเลยนะคะ นึกว่าเห็นแก่เด็กตัวเล็กๆเถิดค่ะ แกมารอหมอตั้งนานนะคะ หมอจะใจดำไม่ดูให้แกเลยหรือคะ”
หมอ : “เออ...คุณนี่เหลือเกินจริงนะ ทั้งข่ม ทั้งขู่ ทั้งอ้อนสารพัด คุณพูดถูกแล้ว หมอเห็นใจลูกคุณที่ต้องมานั่งรอตั้งนาน แล้วยังต้องถูกแม่พาตระเวนเร่หาหมอมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่หมอขอบอกคุณก่อนว่า หมออาจจะรักษาลูกคุณไม่หายก็ได้ ถ้าคุณพาลูกมาให้หมอรักษาเพียงครั้งนี้ครั้งเดียว”
หญิง : “ขอบคุณค่ะ ดิฉันจะไม่พาลูกเร่ไปเรื่อยๆอีกแล้วค่ะ คุณหมอกรุณาด้วยนะคะ”
หมอ : “สวัสดีจ๊ะหนู หมอขอโทษนะที่คุยกับคุณแม่ตั้งนาน หนูเล่าให้หมอฟังบ้างซิจ๊ะว่า หนูไอเวลาไหนบ้าง”
เด็ก : “หนูไอไม่เป็นเวลาค่ะ”
หมอ : “หนูชอบไอตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น หรือตอนกลางคืนจ๊ะ”
เด็ก : “ไม่แน่ค่ะ”
หญิง : “แกไอทุกเวลาค่ะ แต่รู้สึกว่าถ้าโดนแอร์หรือพัดลมแล้วจะไอมาก”
หมอ : “แล้วปกติลูกคุณอยู่ในห้องแอร์ หรือเปิดพัดลมตลอดเวลามั้ย”
หญิง : “ที่บ้านร้อนมากค่ะ ถ้าไม่เปิดแอรก็ต้องใช้พัดลม”
หมอ : “หนูชอบแอร์หรือพัดลมมั้ยจ๊ะ”
เด็ก : “ชอบค่ะ”
หมอ : “แล้วมันทำให้หนูไอมั้ย”
เด็ก : “ไม่ค่ะ”
หมอ : “ไหนหนูลองทำให้หมอดูซิว่า เวลาหนูไอ หนูไออย่างไร”
เด็กน้อยทำจมูกย่นเล็กน้อยแล้วสูดหายใจเข้าสั้นๆ แรงๆ ๒-๓ ครั้ง มีเสียงครืดคราดในลำคอ แล้วต่อมาจึงทำเสียงกึ่งๆ ระหว่างกระแอมกับไอ
หมอ : “หนูไอแบบนี้หรือจ๊ะ”
เด็กพยักหน้า “ค่ะ”
หมอเอามือปิดปากของตนเองแล้วไอให้เด็กดู ๒-๓ ครั้ง แล้วถามเด็กว่า
หมอ : “หนูไอแบบนี้บ้างมั้ย”
เด็กส่ายหน้า “ไม่ค่ะ”
หมอ : “แล้วหนูทำอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะมันคันจมูก คันคอ หรือรู้สึกว่ามันมีอะไร จึงต้องทำอย่างนั้น”
เด็กส่ายหน้า “ไม่มีค่ะ”
หมอหันไปถามแม่เด็ก “เวลาลูกหลับ มีอาการมั้ยครับ”
หญิง : “รู้สึกจะไม่มีค่ะ แกมักจะมีอาการบ่อยเวลาอยู่ร่วมกับคนมากๆ และที่โต๊ะอาหารค่ะ”
หมอ : “แล้วเวลาแกกินขนมหรือกินของเล่นอยู่หน้าทีวี หรือเวลาอยู่คนเดียว แกเป็นมั้ยครับ”
หญิง :เออ...รู้สึกจะไม่เป็นค่ะ จริงสิคะถ้าแกอยู่คนเดียว มักไม่ค่อยไอ แต่เวลาอยู่ร่วมกับคนมากๆ โดยเฉพาะคนแปลกหน้าแกจะไอบ่อยๆ”
หมอ : “แล้วหลายเดือนมานี่ ลูกคุณอ้วนขึ้นหรือผอมลง โตขึ้นบ้างมั้ย หรือมีอาการผิดปกติอะไรอย่างอื่นอีกบ้าง”
หญิง : “ไม่มีค่ะ แกก็กินได้นอนหลับ แล้วโตขึ้นตามปกติ”
หมอ : “ไหนหนู เดินมาหาหมอหน่อยนะ หมอจะตรวจหนูดูสักหน่อย”
หมอตรวจร่างกายของเด็ก ดูจมูก คอ และการหายใจ ฟังเสียงหายใจและอื่นๆ ไม่พบสิ่งผิดปกติ
หมอ : “หนูไม่เป็นอะไรหรอกนะ ไม่ต้องกินยา และไม่ต้องฉีดยาด้วย หนูชอบมั้ย”
เด็กน้อยยิ้ม “ชอบค่ะ”
หญิง : “ลูกไม่เป็นอะไรเลยหรือคะ แล้วทำไมแกต้องไอด้วย”

หมอ : “ที่จริงจะเรียกว่าไอคงจะไม่ถูกต้อง ควรเรียกว่า “กระแอม” มากกว่า เพราะแกไม่ได้ไอเลย แกเพียงหายใจเข้าแรงๆ สั้นๆ ๒-๓ ครั้ง และทำเสียงในลำคอคล้ายคนกระแอมเท่านั้นเอง”
หญิง : “แล้วทำไมแกถึงเป็นอย่างนั้นละคะ”
หมอ : “ที่จริงคุณก็ตอบคำถามของคุณเองแล้ว เมื่อครู่นี้ที่คุณบอกว่า ลูกคุณมีอาการบ่อยเวลาอยู่ร่วมกับคนมากๆ และไม่มีอาการเวลาเล่นอยู่คนเดียว”
หญิง : “หมอหมายความว่าแกเป็นโรคประสาทหรือคะ”
หมอ : “คำว่าโรคประสาท ประชาชนทั่วไปมักจะคิดไปถึงโรคจิตโรคประสาท ที่เพี้ยนหรือบ้าๆบอๆอย่างชัดเจนหรือค่อนข้างชัดเจน

“ในทางการแพทย์ คำว่า ‘โรคจิต’ เท่านั้นที่หมายถึงคนที่มีลักษณะดังกล่าว แต่คำว่า ‘โรคประสาท’ นี้ มีความหมายกว้างมาก ซึ่งอาจกินความไปจนถึงความห่วงกังวลแบบธรรมดาๆ เช่น ห่วงว่าจะไปไม่ทันนัด เพราะรถติด ห่วงว่ากับข้าวมื้อเย็นจะอร่อยหรือไม่อร่อย เป็นต้น

“ดังนั้นถ้าคุณพูดว่าลูกคุณเป็น ‘โรคประสาท’ คุณจะต้องเข้าใจความหมายของ ‘โรคประสาท’ ในทางแพทย์ก่อน มิฉะนั้นตัวคุณเองจะไม่สบายใจ และลูกคุณเองก็จะไม่สบายใจ เพราะอาจจะถูกคนในบ้านหรือเพื่อนฝูงกระเซ้าเย้าแหย่ จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวได้

“หมอขอใช้คำว่า ‘โรคไม่พอใจ’ หรือ ‘โรคห่วงกังวล’ หรือ ‘โรคเครียด’ แทนคำว่า ‘โรคประสาท’

“เพราะลูกคุณเกิดความไม่พอใจ หรือไม่สบายใจ ที่ต้องอยู่กับคนจำนวนมากๆ โดยเฉพาะคนแปลกหน้า หรือเป็นเพราะเมื่ออยู่ในกลุ่มคนเช่นนั้นแล้ว ตัวแกมีความสำคัญน้อยลงไป ผู้ใหญ่อาจจะพูดคุยกันเพลินจนลืมนึกถึงเด็กที่นั่งอยู่ด้วย แกจึงมีปฏิกิริยาเพื่อแสดงให้รู้ว่ามีตัวแกอยู่ในที่นั้นด้วย ซึ่งเด็กคนอื่นอาจจะแสดงออกด้วยการพูดทะลุขึ้นมากลางปล้อง หรือดึงมือแม่ให้กลับบ้าน หรือแกล้งทำช้อนตก ทำแก้วน้ำหก หรืออื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้คุณลำบากใจมากกว่าก็ได้

“คุณจึงควรสังเกตว่าลูกคุณมีอาการผิดปกติเวลาไหน และพูดคุยกับแก เพื่อให้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้แกมีอาการเช่นนั้น และพยายามแก้ที่สาเหตุ มิฉะนั้นลูกคุณก็จะมีอาการเช่นนั้นอยู่ร่ำไป ไม่ว่าจะกินยาหรือฉีดยาเพียงใดก็ตาม”

หญิง :ตกลงคุณหมอว่าดิฉันเป็นโรค ไม่ใช่ลูกเป็นโรค ใช่มั้ยคะ”
หมอ : “คุณคิดเอาเองก็แล้วกัน ลูกของคุณยังเล็กนัก และก็ได้เชื้อพันธุ์มาจากคุณและจากพ่อของแก แล้วก็เติบโตมาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคุณและคนในครอบครัว ดังนั้น แกจึงเป็นกระจกสะท้อนถึงเชื้อพันธุ์และการเลี้ยงดู ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่แกเกิดและเจริญเติบโตมา

“หมอไม่ได้ว่าคุณเป็นโรค และไม่ได้บอกว่าลูกคุณเป็นโรค หมอเพียงชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ลูกคุณมีอาการที่คุณเรียกว่า “ไอ” นั้น ไม่ได้เกิดจากการเป็นโรคปอด โรคหลอดลม หรือโรคในส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเช่นนั้นคุณก็รู้อยู่ แต่ไม่ทันได้คิด และไม่ทันได้นำสิ่งที่คุณพบคุณเห็นมาปะติดปะต่อกัน จนเห็นถึงความสัมพันธ์ของอาการกับสาเหตุ หรือที่ศาสนาพุทธเรียกว่า ‘อิทัปปจยตา’ ก็เท่านั้นเอง”

ตัวอย่างคนไข้รายแรกนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอาการไอกับอาการกระแอม

  • อาการไอ จะเกิดขึ้นได้ มักจะต้องหายใจลึกๆก่อน แล้วออกแรงเบ่งผลักลมในปอดออกมาทางปากอย่างรุนแรง ทำให้เกิดเสียงไอและอาการไอขึ้น ถ้าไม่มีการอัดลมไว้ในปอดก่อนแล้วจึงดันลมออกมาอย่างรุนแรง โดยทั่วไปจะไม่เรียกว่า “ไอ”
  • ส่วนอาการกระแอม ไม่จำเป็นต้องอัดลมเข้าไปในปอดก่อนและการผลักดันลมออกมาในคอก็เป็นไปอย่างไม่รุนแรงจึงเกิดเสียงเพียงเบาๆในลำคอเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งอาการไอและอาการกระแอม เกิดขึ้นได้จากสาเหตุทั้งทางกายและทางใจได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นอาการไอแล้ว แสดงว่าต้องมีสิ่งผิดปกติในลำคอ หลอดลม และ/หรือปอดอย่างแน่นอน เพราะอาจจะไอแก้เขิน ไอแกล้งคนอื่นก็ได้ เป็นต้น

เช่นเดียวกับอาการกระแอม อาจจะกระแอมเพื่อเตือน หรือเพื่อดุเพื่อนหรือคนที่อ่อนกว่า หรืออาจจะกระแอมเพราะเสมหะติดคอ หรือเพราะผนังลำคอมันแห้งติดกัน ก่อนที่จะเริ่มพูดปราศรัย หรือเมื่อพูดไปนานๆแล้วคอแห้ง ก็จำเป็นต้องกระแอมเพื่อให้คอโล่งขึ้น เป็นต้น

ตัวอย่างคนไข้รายแรกนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของอาการไอหรือกระแอมที่มาจากจิตใจ และส่วนใหญ่จะมองข้ามสาเหตุนี้เพราะไม่สังเกตหรือไม่ถามประวัติให้ดี ทำให้ต้องตรวจเอกซเรย์หรือตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดมากขึ้น และทำให้รักษาผิดทางได้
 

                                                                                                     (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

 

 

 

 

 

 

 


 
 

ข้อมูลสื่อ

215-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 215
มีนาคม 2540
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์