• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้ให้จริงกับอุปกรณ์ออกกำลังกาย

รู้ให้จริงกับอุปกรณ์ออกกำลังกาย


ในกระแสการโฆษณาจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ออกกำลังกายในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโหมโฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบโฆษณาแจกตามร้านสรรพสินค้า และจดหมายเชิญชวนส่งตรงไปถึงบ้าน ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ การขายโดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ดี วัน ๆ ทำงานแต่ในห้องปรับอากาศ และไม่ค่อยมีโอกาสไปออกกำลังกายที่กลางแจ้ง

ผู้บริโภคมักตัดสินใจลำบากว่าควรซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายชนิดใด เพราะไม่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ว่าต้องการออกกำลังกายแบบไหน หรือเชื่อตามคำโฆษณาว่า อุปกรณ์ออกกำลังกายที่จะซื้อ สามารถออกกำลังกายแทนได้ โดยผู้ซื้อไม่ต้องำอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อซื้อมาแล้วจึงไม่เกิดผลประโยชน์ตามที่คาดหวังไว้ ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเงินทอง และเวลาที่สูญเสียไปกับอุปกรณ์ชิ้นนั้น

เครื่องออกกำลังกายที่มีอยู่ในท้องตลาดมีหลากหลายมากมายเป็นร้อยเป็นพันชนิด ล้วนโฆษณาสรรพคุณของเครื่องมือไว้หรูหรา แต่แท้จริงแล้วแบ่งได้เพียง 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. “เครื่องทำให้”
2. “เราทำเอง”

เครื่องทำให้
หมายถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการเดินเครื่องมอเตอร์ แล้วทำให้เครื่องมือนั้นเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น เครื่องนวดแบบสั่นสะเทือน เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้าที่ปั่นได้เองโดยคนนั่งไม่ต้องถีบ เครื่องเป่าลมแรงให้ผิวหนังกระเพื่อมเป็นคลื่น เป็นลอน
อุปกรณ์แบบเครื่องทำให้ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อการออกกำลังกายเลย จึงไม่ควรเรียกว่าเครื่องมืออุปกรณ์การออกกำลังกาย และส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังเกิดข้อเสียมากมาย ซึ่งจะกล่าวถึงในฉบับหน้า

เราทำเอง
เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่เราจะต้องออกแรงโดยใช้เครื่องมือเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ถูกมากถึงแพงมาก ถ้ามีระบบคอมพิวเตอร์ช่วย เช่น ถุงทราย ถุงพลาสติกบรรจุน้ำ ลูกตุ้มน้ำหนัก หรือเครื่องยกน้ำหนัก ขนาดเล็ก (ดัมเบลล์) ขนาดใหญ่ (บาร์เบลล์) จักรยานอยู่กับที่ สายพานสำหรับวิ่ง ทั้งแบบขับเคลื่อนด้วยคนวิ่ง หรือด้วยไฟฟ้า เส้นยางยืด แผ่นยางยืดหรือลวดสปริงที่มีแรงดึงขนาดต่างกัน ทั้งนี้จะไม่รวมเอาเครื่องมืออุปกรณ์กีฬาเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นประเภทเราทำเองด้วย

เครื่องมืออุปกรณ์ประเภทนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ถ้ารู้จักวิธีใช้ และรู้เป้าหมายของการออกกำลังกายที่เราต้องการ ทั้งยังขึ้นอยู่กับอายุ เพศ ของผู้ใช้ด้วย
 

เราต้องตั้งเป้าหมายการออกกำลังกายว่าเราจะออกกำลังกายเพื่ออะไร
บางท่านต้องการเพิ่มกำลังหรือขนาดของกล้ามเนื้อบางมัดให้ใหญ่โตดูเป็นชายงามหญิงหล่อ การออกกำลังกายย่อมต้องใช้น้ำหนักหรือแรงดึงสูงที่สุด และทำได้น้อยครั้งที่สุด กล่าวคือถ้าทำเพียงครั้งเดียวหรือได้น้อยกว่า 10 ครั้ง แล้วทำต่อไปไม่ได้อีก ขนาดกล้ามเนื้อจึงจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คือการเล่นกล้ามนั่นเอง อุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ ลูกตุ้มขนาดต่าง ๆ ซึ่งสามารถเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เหมาะสำหรับวัยหนุ่มสาวทั้งสองเพศที่ต้องการให้สัดส่วนของตัวเองดีขึ้น แต่ไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือวัยกลางคนขึ้นไป เพราะทำให้ร่างกายบาดเจ็บได้ง่าย และมีปัญหาของกระดูกข้อต่อ โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง
ถ้าต้องการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทาน หรือเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายควรออกกำลังกายแบบทำหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ ท่า อย่างสม่ำเสมอ เช่น ท่าละ 100 ครั้ง สัปดาห์ละ 3 เวลา การออกกำลังกายชนิดนี้ บ้างใช้คำว่า “แอโรบิก” หรือแบบใช้ออกซิเจน ซึ่งสร้างความสับสนพอสมควร เนื่องจากการออกกำลังกายทุกชนิด ต้องใช้ออกซิเจนทั้งนั้น เพียงแต่ในแบบเล่นกล้ามจะใช้ออกซิเจนมากหลังออกกำลังกายแล้ว แต่แบบทำหลาย ๆ ครั้ง ใช้ออกซิเจนตลอดเวลา ที่ออกกำลังกาย จึงไม่เหนื่อย ดังนั้น ถ้าเป้าหมายของเราคือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานต้องไม่ใช้แรงดึงหรือน้ำหนักมากเกินไปจนเหนื่อยหอบ อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ ตุ้มน้ำหนัก จักรยานอยู่กับที่ สายพานสำหรับวิ่ง กรรเชียงบก ซึ่งทำได้ทุกเพศทุกวัย

เป้าหมายการออกกำลังกาย อีกชนิดหนึ่งคือ การสร้างการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อหลาย ๆ มัด โดยการควบคุมของระบบประสาท การออกกำลังกายแบบนี้มุ่งสร้างทักษะหรือความชำนาญในการใช้เครื่องมืออื่น ๆ หรือการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การเต้นรำ การเล่นกีฬา การเดิน การวิ่ง กระโดดเชือก การรำวง การฟันดาบ การรำมวยจีน การเล่นห่วงฮูลาฮูต ยิมนาสติกลีลาใหม่ มักไม่ต้องใช้อุปกรณ์การออกกำลังกาย หรือเพียงมีเบาะปูพื้น ห่วง เชือกสำหรับกระโดด ไม้พลอง ลูกบอล กระจกเงา สำหรับตรวจส่องการเคลื่อนไหวของตนเอง

ในปัจจุบันมีเครื่องออกกำลังกายที่ออกกำลังกายได้หลายส่วนของร่างกายในเครื่องเดียวกัน และเครื่องที่มีจอภาพควบคุมโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้เพลิดเพลินกับการออกกำลังกาย เช่น ขณะขี่จักรยาน จอภาพจะปรากฏภาพวิวที่สวยงาม หรือมิเตอร์แสดงระยะทาง ความเร็ว เวลาที่ขี่ รวมทั้งชีพจรการเต้นของหัวใจ ซึ่งทำให้ผู้ขี่ควบคุมปริมาณหรือขนาดของการออกกำลังกายได้ แต่เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้ยังมีราคาแพงมากเป็นหมื่น เป็นแสน จึงมีแต่สโมสรสุขภาพต่าง ๆ ลงทุนซื้อไว้เพื่อดึงดูดให้สมัครเป็นสมาชิก
 

แต่ข้อเท็จจริงย่อมอยู่ที่ว่า เครื่องมือราคาแพงไม่ได้ทำให้สุขภาพเราดีขึ้น เพราะเราเป็นคนออกกำลังกาย มิใช่เครื่องมือ ตราบใดที่เราทำเองได้ ตราบนั้นสุขภาพของเรา ย่อมดีและสมบูรณ์


ข้อมูลสื่อ

202-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 202
กุมภาพันธ์ 2539
อื่น ๆ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข