• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วูบ (ตอนที่ 6)

วูบ (ตอนที่ 6)

เรื่องราวต่าง ๆ ทางการแพทย์มีมากมาย หลายคนดูว่ายุ่งยากซับซ้อน หรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสน จนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้ มาทำให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

คนไข้รายที่ 5 : หญิงวัยรุ่นอายุประมาณ 20 ปี แต่งเครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง เดินเข้ามาหาหมอด้วยใบหน้าแสดงความกังวล

หญิง : “สวัสดีค่ะคุณหมอ หนูรู้สึกหัวใจวูบ ๆ ชอบกลมา 2 วัน คุณหมอช่วยตรวจให้หนูหน่อยนะค่ะ”
หมอ : “ครับ คุณเล่ารายละเอียดของอาการหัวใจวูบ ๆ ให้หมอฟังหน่อย”

หญิง : “2 วันมานี้ เวลาหนูนั่งอยู่เฉย ๆ อยู่ว่าง ๆ รู้สึกว่าหัวใจมันวูบเป็นพัก ๆ เวลารู้สึกอย่างนั้นทำให้ไม่สบายใจค่ะ”
หมอ : “คุณมีอาการอื่นอีกหรือไม่ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หอบ เหนื่อย แน่น หรืออื่น ๆ”

หญิง : “ไม่มีค่ะ แต่ถ้าวูบบ่อย ๆ จะรู้สึกกลัวและแน่น ๆ ในหน้าอกค่ะ”
หมอ : “ตกลงอาการวูบของคุณไม่ได้หมายถึงอาการหน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติ ใช่มั้ยครับ”

หญิง : “ค่ะ แต่เป็นอาการที่หัวใจมันวูบไป หนูก็ไม่รู้จะอธิบายให้หมอฟังว่ามันเป็นอย่างไร ก็คล้ายกับว่าหัวใจมันวูบหรือมันวายไปยังงั้นแหละค่ะ”
หมอ : “แล้วตอนนี้คุณยังมีอาการอยู่มั้ยครับ”

หญิง : “ค่ะ ตอนนี้ยังมีอาการอยู่ค่ะ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น คุณขึ้นนอนบนเตียงให้หมอตรวจหน่อย”

จากการตรวจชีพจรของคนไข้ พบว่าชีพจรที่มาสม่ำเสมอจะขาดหายไปเป็นพัก ๆ แต่เมื่อฟังเสียงหัวใจจะพบว่าช่วงที่ชีพจรขาดหายไปเป็นพัก ๆ นั้นจะมีเสียงหัวใจมาก่อนกำหนดแล้วทิ้งช่วงหายไปดังเขียนให้ดูอย่างง่าย ๆ ได้ดังนี้
ลักษณะเช่นนี้แสดงว่า หัวใจห้องล่างเต้นก่อน(premature ventricular contraction หรือ PVC) ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ทั้งในคนปกติและผิดปกติ
เมื่อตรวจหัวใจ และร่างกายส่วนอื่น แล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ แพทย์จึงบอกให้คนไข้ลองออกกำลัง โดยนอนแล้วลุก ๆ หลาย ๆ ครั้ง จนคนไข้เหนื่อยแล้วจึงตรวจชีพจรและเสียงหัวใจอีกครั้ง
ปรากฏว่าชีพจร และเสียงหัวใจเต้นเร็วขึ้น และไม่มีช่วงที่หายไปอีกเลย
อีกทั้งอาการ “หัวใจวูบ” ของคนไข้ก็หายไปด้วยเช่นเดียวกัน

หมอ : “อาการหัวใจวูบของคุณ หายแล้วใช่มั้ยครับ”
หญิง : “ใช่ค่ะ หัวใจของหนูเป็นอะไรคะ”

หมอ : “หัวใจมันเต้นก่อนกำหนดเป็นพัก ๆ ไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรง ช่วงไหนที่คุณว่างเกินไป เครียดเกินไป ดื่มกาแฟมากเกินไป อดนอนมากเกินไป หรืออื่น ๆ คุณก็จะเกิดอาการอย่างนี้ได้
“แต่ไม่ต้องตกใจ ถ้ามันทำให้คุณรำคาญ คุณก็ออกกำลังกายสักหน่อย หรือหาอะไรทำให้มันวุ่น ๆ สักพัก อาการก็จะหายไปได้”

หญิง : “แล้วหนูต้องกินยามั้ยคะ”
หมอ : “ที่จริง ก็ไม่ต้องกินยา แต่ถ้าคุณกังวลมากกับอาการหัวใจวูบของคุณ หรือมีเรื่องเครียดกังวลอื่น หมอก็จะให้ยาคลายเครียด คลายกังวล ติดตัวไว้ เวลาเครียดจะได้กินสัก ½-1 เม็ด ความเครียดกังวลจะได้ลดลง และอาการหัวใจวูบของคุณจะได้ลดลงด้วย”

หญิง : “แล้วคุณหมอไม่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจหรือคะ”
หมอ : “ถ้าคุณอยากตรวจจริง ๆ หมอก็จะส่งตรวจได้ แต่คุณต้องถอดเสื้อและยกทรงเวลาตรวจด้วย เพราะต้องวางเครื่องมือและขั้วรับไฟฟ้าที่บริเวณหน้าอกของคุณ คุณจะตรวจมั้ยครับ”
หญิง : “ไม่ค่ะ หนูอาย และถ้าหมอเห็นว่าไม่จำเป็น หนูก็ไม่ตรวจค่ะ เพราะหนูไม่อยากเสียเงินด้วย”
 

อาการ “วูบ” ของคนไข้รายนี้ จึงไม่ใช่อาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ (ล้มลง ฟุบลง) หลับไป หรือหลง (เลอะเลือน) ไปชั่วขณะ
แต่เป็นอาการ “หัวใจวูบ” ซึ่งเกิดจากมีช่วงว่างที่หัวใจหยุดเต้นนานกว่าช่วงว่างครั้งก่อน ๆ เพราะหัวใจห้องล่างได้เต้นล่วงหน้า (ก่อนกำหนด) ไปแล้ว
ในบางคนที่มีภาวะนี้ (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นก่อน) แทนที่จะรู้สึกว่า “หัวใจวูบ” กลับจะรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงมากเป็นพัก ๆ ทั้งนี้เพราะช่วงว่างที่หัวใจหยุดเต้นไปนาน ทำให้หัวใจห้องล่างได้พัก และได้รับเลือดไหลกลับเข้าสู่ห้องหัวใจมากขึ้น เวลามันบีบตัว จึงบีบตัวได้แรงกว่าปกติและส่งเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายได้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรง

จากการสำรวจในคนไทยปกติ พบว่าในคนไทยปกติ 1,000 คน เมื่อตรวจร่างกายและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ในระยะเวลาสั้น ๆ (15-20 นาที) จะมี 25 คนที่หัวใจห้องล่างเต้นก่อน แต่ทั้ง 25 คนนี้ไม่มีอาการหรือความรู้สึกอะไรเลย นั่นคือ โดยทั่วไปคนที่ “หัวใจเต้นก่อน” จะไม่รู้สึกอะไร คนที่รู้สึก (คนที่มีอาการ) จึงมักเป็นคนที่มีความรู้สึกไวกว่าปกติ และมักจะรู้สึกเมื่ออยู่ว่าง ๆ หรือเมื่อรู้สึกเหงา ๆถ้าวุ่น ๆ หรือยุ่ง ๆ จะไม่รู้สึกหรือไม่มีอาการอะไร
ในคนที่รู้สึกมาก (มีอาการมาก) ควรให้ยาคลายกังวล เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ขนาดเม็ดละ 2หรือ 5 มิลลิกรัม กินครั้งละ ½-1 เม็ดเวลามีอาการ ก็จะลดความรู้สึกที่ไวเกินกว่าปกติ หรือลดความกังวลเกี่ยวกับอาการของตนเองได้

นอกจากนั้น เวลาที่พบภาวะ “หัวใจเต้นก่อน” โดยที่คนไข้ไม่มีอาการหอบเหนื่อย หรือเจ็บแน่นหน้าอก และสามารถออกกำลังกายได้ ควรให้คนไข้ออกกำลังกายจนเหนื่อยหรือมีอาการอื่น แล้วให้หยุดออกกำลังกายและตรวจชีพจรและเสียงหัวใจทันที
ถ้าชีพจรและเสียงหัวใจกลับเป็นปกติ นั่นคือ เต้นสม่ำเสมอ ไม่มีการเต้นก่อนหรือไม่มีช่วงหายไปอีกหรือมีแต่น้อยลงกว่าตอนแรก ก็แสดงว่าภาวะหัวใจเต้นก่อนในคนไข้คนนั้น เป็นภาวะหัวใจห้องล่างหรือหัวใจล่างเต้นก่อนแบบไม่มีอันตราย (benign premature ventricular contraction) ซึ่งไม่ต้องการยารักษา นอกจากยาคลายกังวลถ้ากังวลมาก

มีผู้อ้างว่า ถ้าเราใช้เครื่องเฝ้าติดตามคลื่นไฟฟ้าของประชาชนทั่วไปตลอด 24 ชั่วโมง จะพบว่าทุกคนหรือเกือบทุกคนจะมีภาวะ “หัวใจล่างเต้นก่อน” เป็นครั้งเป็นคราวในช่วงหนึ่งช่วงใดหรือหลายช่วงของแต่ละวันโดยคน ๆ นั้นไม่รู้ตัวและไม่มีความผิดปกติใด ๆ
ดังนั้นการพบ “หัวใจล่างเต้นก่อน” ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือในการตรวจร่างกาย จึงไม่ควรตกอกตกใจ ถ้าคนไข้ไม่มีอากรอะไร ควรจะให้ออกกำลังกายดู ถ้าออกกำลังกายแล้ว ภาวะหัวใจล่างเต้นก่อนลดลงหรือหายไป ก็ให้วางใจและหายกังวลได้ และไม่ต้องให้ยารักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นก่อน แต่อาจให้ยาคลายกังวลถ้ากังวลมาก ถ้าหลังออกกำลังภาวะหัวใจล่างเต้นก่อนเป็นมากขึ้นหรือถี่ขึ้น เช่น ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ให้รักษาสาเหตุ แล้วภาวะหัวใจล่างเต้นก่อนจะหายไป

ถ้าสาเหตุเกิดจากภาวะหัวใจล้ม(หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย) ซึ่งมีอาการหอบเหนื่อยและบวมร่วมกัน ให้รักษาภาวะหัวใจล้ม เช่น นอนพักหรือนั่งพักในท่าที่รู้สึกว่าสบายที่สุด อยู่ในห้องที่อากาศโปร่งและเย็นสบาย (เพราะคนที่หัวใจล้มจะรู้สึกร้อนง่าย และถ้าอากาศร้อน จะหอบเหนื่อยมากขึ้น) ลดน้ำและของเค็มลง กินยาขับปัสสาวะ เช่น ยาฟูโรชีไมค์(furosemide) เม็ดละ 40 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด เพื่อขับปัสสาวะออก จะได้บรรเทาอาการหอบ เหนื่อยและบวมลง แล้วรีบไปโรงพยาบาล


ถ้าหาสาเหตุไม่ได้ หรือไม่แน่ใจ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่นอน จะได้รักษาสาเหตุ และถามแพทย์ถึงวิธีปฏิบัติรักษาตนเพื่อไม่ให้เกิดอาการอีก

 

ข้อมูลสื่อ

200-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 200
ธันวาคม 2538
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์