• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันกรามร้าว

ฟันกรามร้าว


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 45
ยกตัวอย่างผู้ป่วยอื่นๆ มามาก ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ของตัวเองในฐานะผู้ป่วยบ้าง
เรื่องฟันเป็นธรรมดาของชีวิต เมื่อสูงวัย เหงือกและฟันก็จะถดถอยอ่อนแอลงตามกาลเวลา
เมื่ออายุประมาณ 56 ปี ผู้เขียนรู้สึกเจ็บเสียวฟันเวลาเคี้ยวถูกของแข็งที่เป็นเม็ดเล็กๆ เช่น เม็ดฝรั่งและครั้งหนึ่งรู้สึกเจ็บมาก จนร้าวไปทั้งขากรรไกรบนและล่าง อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง อาการก็ดีขึ้น และสามารถเคี้ยว อาหารอื่นๆ ได้ตามปกติ
เนื่องจากผู้เขียนมีอาการเช่นนี้บ่อยๆ และอาการไม่ดีขึ้นถ้าเผลอไปเคี้ยวถูกอาหารที่เป็นเม็ดแข็งเล็กๆ ผู้เขียนจึงไปหาหมอฟันที่โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่
โดยปกติตั้งแต่เล็กจนแก่ ผู้เขียนไปพบหมอฟันน้อยครั้งมาก (จำได้ว่าตอนเล็กๆ พ่อพาไปหาหมอฟัน เข้าใจว่าจะเป็นหมอฟันเถื่อน เพราะในสมัยนั้น ยังมีหมอฟันปริญญาน้อยมาก พวกผู้ช่วยหมอฟันต่างๆ จึงมักจะเปิดร้านทำฟัน อุดฟัน เป็นสำคัญ และเครื่องไม้เครื่องมือสมัยนั้นก็ทำให้การทำฟันแต่ละครั้งเจ็บปวด มาก เพราะไม่มีการฉีดยาชา เวลากรอฟันที เสียวตั้งแต่ศีรษะจดเท้า ดังนั้น ตอนเด็กๆ จึงไม่ค่อยอยากไปหาหมอฟัน

เวลาถอนฟัน (ฟันน้ำนม) ทุกซี่ที่ถึงอายุขัยของมัน ผู้เขียนและพี่น้องจึงมักจะปล่อยให้มันโยกจนหลุดเอง หรือคุณพ่อจะใช้ด้ายเส้นใหญ่ๆ สอดเข้าไปรัดไว้ที่โคนฟันแล้วกระ
ตุก รู้สึกเจ็บแปล๊บเดียว ฟันก็หลุดออกมา แล้วเราก็กัดเศษผ้าสะอาดไว้สักพัก พอเลือดหยุดก็บ้วนปาก เป็นอันเสร็จพิธี บางทีก็มีการเก็บฟันนั้นไว้เป็นที่ระลึก หรือโยนขึ้นไปบนหลังคา ให้ฟันที่จะขึ้นใหม่ ครั้งหน้ามั่นคงแข็งแรงตามความเชื่อของเด็กๆ)

ผู้เขียนจึงไม่เคยตรวจสุขภาพฟัน ไม่เคยขูดหินปูน ไม่เคยทำอะไรๆ กับฟันโดยหมอฟัน อย่างที่เขาโฆษณากันในปัจจุบัน ให้ไปตรวจสุขภาพฟันบ่อยๆ ขูดหินปูนบ่อยๆ ขัดฟัน เคลือบฟันเป็นประจำ เป็นต้นคงเป็นโชคดีของผู้เขียน (และพี่น้องของผู้เขียนด้วย) ที่ไม่มีปัญหาฟันและเหงือก จนถึงกับต้องพบหมอฟัน (เถื่อน) บ่อยๆ ทั้งที่ไม่เคยตรวจสุขภาพฟันและเหงือกเลย

ตอนเป็นผู้ใหญ่ เมื่ออายุย่าง 28 ปี ขณะที่ฝึกงาน อยู่ต่างประเทศ ผู้เขียนปวดฟันกรามล่างมากจนคางโย้ จึงต้องไปหาหมอฟันเป็นครั้งแรก และพบกรามล่างขวาซี่สุดท้ายงอกขึ้นมาพ้นเหงือกไม่ได้ เพราะไปติดกราม ซี่หน้า (ฟันคุด) หมอฟันต้องผ่าตัดเหงือกและงัดฟันคุดออก ทำให้เจ็บไปหลายวัน หลังจากนั้นก็ไม่เคยไปหาหมอฟันอีกเลย

เวลาปวดฟัน ก็หมั่นอมน้ำเกลือบ้วนปากบ่อยๆ และแปรงฟันบ่อยครั้งขึ้น (แปรงหลังอาหารทุกมื้อ เดิมตอนเด็กๆ แปรงฟันตอนเช้าครั้งเดียว ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ จึงรู้จักแปรงตอนเช้าและก่อนนอน พอหลังอายุ 50 ปี มีปัญหาปวดเหงือก ปวดฟันบ่อย จึงเปลี่ยนเป็นแปรงฟันหลังอาหาร 3 มื้อ) ทำให้อาการปวดเหงือกปวดฟันหายเองภายใน 5-10 วัน โดยไม่ต้องกินยาอะไรแม้แต่ยาแก้ปวด จึงไม่ต้องไปรบกวนหมอฟัน ทั้งที่หมอฟันก็อยู่ในที่ทำงาน (โรงพยาบาล) เดียวกัน แต่เมื่อมันไม่หนักหนาอะไร และก็หายเองได้ จึงไม่อยากไปรบกวนเขา เพราะทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่า โรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมากจนล้นกำลังของ หมอและพยาบาล จึงไม่อยากไปเพิ่มงานให้เขาถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

แต่เมื่ออาการปวดเสียวฟันมันเป็นบ่อยขึ้นๆ และครั้งสุดท้าย มันเจ็บเสียวไปทั้งหน้าและศีรษะ จนเคี้ยวอะไรไม่ได้ประมาณครึ่งชั่วโมง แต่บังเอิญเป็นวันหยุดราชการ จึงไปหาหมอฟันในวันรุ่งขึ้น ตอนที่หายปวดฟันแล้ว และเคี้ยวอาหารได้ตามปกติหมอฟันตรวจอยู่นาน รวมทั้งเอกซเรย์ฟัน แต่ก็ไม่พบว่าฟันซี่ที่ปวดนั้นมีอะไรผิดปกติ นอกจากสึกไปตามอายุของมันเช่นเดียวกับซี่อื่นๆ จึงถือโอกาสขูดหินปูนให้โดยผู้เขียนก็ยินยอม เพราะอยากรู้ว่าขูดหินปูนแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยขูดหินปูนมาก่อนจนอายุ 56  ปีแล้ว

หลังขูดหินปูนรู้สึกว่าเหงือกและฟัน "โล่ง " คล้ายกับว่ามันสะอาดขึ้น แต่เหงือกระบม (เจ็บ) ไป 2 วัน จึงไม่รู้ว่าคุ้มกันหรือเปล่า

ฟันซี่ที่เจ็บต่อมาก็เจ็บอีก เวลาเผลอไปเคี้ยวอะไรที่ค่อนข้างเล็กและแข็ง เวลาที่เจ็บมากก็ไปหาหมอฟันทุกครั้ง แต่ก็ตรวจไม่พบว่าเป็นอะไร จนครั้งที่ 4 ก็เอกซเรย์พบว่าฟันร้าว หมอฟันก็พยายามเก็บฟันไว้ (ไม่ถอนฟัน) โดยใช้ลวดมัดฟันเพื่อไม่ให้ฟันที่ร้าวนั้นแตกออกจากกัน แต่ปรากฏว่ามันกลับทำให้ปวดมากขึ้นๆ จนอีก 4 วันต่อมา ต้องไปให้หมอฟันถอดลวดที่มัดออก รวมทั้งถอนฟันซี่นั้นออกด้วย เพราะหมอฟันบอกว่า ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ฟันที่ร้าวแล้วติดกันได้ และเมื่อพยายามมัดให้มันไม่แตกออก กลับทำให้เจ็บมากขึ้น ก็ต้องถอนออก

ปรากฏว่าฟันกรามซี่ที่ถอนออกมานั้น ดูปกติดี แต่เมื่อหมอฟันใช้เข็มแทงลงตรงศูนย์กลางของหน้าฟัน (ที่ใช้บดอาหาร) ซึ่งเป็นหลุม (แอ่งเล็กๆ) ฟันซี่นั้นก็จะปริออกเป็น 2ส่วนเกือบจะเท่าๆ กัน โดยเห็นรอยร้าวชัดเจน แต่เมื่อดึงเข็มออก รอยร้าวนั้นก็หายไป (มองไม่เห็น) นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมหมอฟันตรวจและเอกซเรย์ในช่วงแรกถึง 3 ครั้ง จึงตรวจไม่พบ

ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจหมอฟันทันที ที่ต้องใช้ความพยายามตรวจถึง 4 ครั้ง จึงสามารถวินิจฉัยโรคได้ เช่นเดียวกับที่ผู้เขียนบางครั้งก็ต้องใช้เวลาตรวจแล้วตรวจอีกหลายครั้งกว่าจะวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้ หรือบางครั้งก็วินิจฉัยไม่ได้ แม้แต่อาการป่วยที่เกิดกับตัวเอง แต่เมื่ออาการมันดีขึ้นเองและหายเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์หาโรคให้เจ็บตัว และก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
 
เพราะเรารักษา " คน " ไม่ใช่ " รักษาโรค "

ข้อมูลสื่อ

333-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 333
มกราคม 2550
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์