• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนไม่หลับเพราะสามีชอบกลับบ้านดึก

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 46
ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 42 ปี ครึ่งนั่งครึ่งนอนอยู่บน เตียงเข็นในห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉินตั้งแต่ตอนสายๆ ด้วยอาการเจ็บแน่นในอกมาหลายวัน และเพิ่งออกจากโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งเมื่อ 2-3 วันก่อน หลังจากไปพักรักษาตัวอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 วัน
แพทย์ประจำบ้านที่ห้องฉุกเฉินได้ตรวจผู้ป่วย แล้วไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยเจ็บแน่นอกจากอะไร จึงให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในห้องฉุกเฉินเพื่อรอดูอาการ จนกระทั่งบ่าย เมื่ออาจารย์มาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยช่วงที่ 2


แพทย์ประจำบ้าน : "ผู้ป่วยรายนี้เป็นหญิงไทยคู่ อายุ 42 ปี มีอาการเจ็บแน่นอกก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมงค่ะ เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกและ ใจสั่นมาก จะมาที่นี่ (ที่ผู้ป่วยรักษาอยู่เป็นประจำ) แต่ระหว่างทาง อาการกำเริบมาก จึงแวะเข้าโรงพยาบาลที่อยู่ระหว่างทางนั้น และแพทย์ได้รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วให้กลับบ้าน และบอกว่าถ้าเป็นอีกให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิม
ครั้งนี้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นอกขณะกำลังจะ หุงข้าวเช้า รู้สึกใจเต้นแรง จึงนั่งพัก แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงให้สามีพามาโรงพยาบาล
ตรวจร่างกายพบว่าชีพจรปกติ หายใจแรงเล็ก น้อย ความดันเลือดปกติ บริเวณกลางหน้าอกมีเสียงฟู่ยาว จนกลบเสียง 1 และเสียง 2 ของหัวใจ (pansystolic murmur) เพราะผู้ป่วยมีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง (ventricular septal defect) มาแต่กำเนิด แต่รูเล็กมาก จึงไม่ต้องผ่าตัดปิดหรือให้การรักษาใดๆ ตรวจร่างกายอื่นๆ ไม่พบความผิดปกติ
จึงได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจเลือด ก็ไม่พบว่าอาการเจ็บแน่นอกนี้เกิดจากอะไร จึงให้นอนรอดูอาการไว้ก่อนค่ะ
อาจารย์ : "แล้วหมอคิดว่า ผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคหรือภาวะอะไร"

แพทย์ประจำบ้าน : "เนื่องจากผู้ป่วยมีโรคหัวใจรั่ว แต่กำเนิด และเพิ่งออกจากโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งได้เพียง 2 วัน และครั้งก่อนโรงพยาบาลนั้นก็รับผู้ป่วยไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 3 วัน จึงไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยจะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือเปล่า เพราะ ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด และอื่นๆ มักจะปกติ จึงให้นอนรอดูอาการ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเลือดซ้ำใหม่ค่ะ" 
อาจารย์ : "แล้วหมอสอบถามจากโรงพยาบาลก่อนหรือเปล่าว่า ครั้งที่แล้วผู้ป่วยไปนอนป่วยด้วยโรคอะไร และได้รับยาอะไรบ้าง"

แพทย์ประจำบ้าน : "ให้ญาติไปขอประวัติการป่วยจากโรงพยาบาลก่อนแล้วค่ะ และผู้ป่วยไม่ได้นำยาที่โรงพยาบาลก่อนให้ตอนกลับบ้านมาด้วยค่ะ"
อาจารย์หันไปพูดคุยกับผู้ป่วย
อาจารย์ : " สวัสดีครับ ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง ดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิมครับ"
ผู้ป่วย : "ยังเหมือนเดิมค่ะ ยังเจ็บๆ แน่นๆ อกเหมือนเดิม แต่ใจไม่ค่อยสั่นแล้ว ตั้งแต่มาหมอเพิ่งให้ยาไป 2 เม็ดเท่านั้น อมใต้ลิ้น 1 เม็ด และเคี้ยวแล้วกลืนอีก 1 เม็ด ยังไม่ได้ฉีดยาหรือให้น้ำเกลืออะไรเลย "

อาจารย์ : "คุณหมอเขาสงสัยว่าคุณอาจจะมีภาวะหัวใจขาดเลือด จึงให้ยา 2 เม็ดนั้น แต่ยาฉีดและน้ำเกลือไม่จำเป็น และอาจเป็นอันตรายได้ไหนคุณเล่าให้หมอฟังใหม่ว่า อาการของคุณเริ่มต้นอย่างไร และเป็นเรื่อยๆ มาอย่างไร

ผู้ป่วย : "คุณหมอก็รู้แล้วว่าฉันเป็นโรคหัวใจรั่ว แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนขณะนั่งดูโทรทัศน์อยู่ มันก็เจ็บแปล๊บขึ้นมาที่หัวใจ แล้วหัวใจก็เต้นแรงจนจะเต้นออกมานอกอก จากนั้นก็รู้สึกเหนื่อยจนต้องนอนลง พยายามหายใจแรงๆ ลึกๆ ก็ไม่ดีขึ้น รู้สึกหน้ามืดจะเป็นลม มือเท้าชาหน้าชาไปหมด จึงรีบมาโรงพยาบาล แต่มาไม่ถึงโรงพยาบาลที่นี่เพราะรู้สึกจะแย่จึงแวะเข้าโรงพยาบาลระหว่างทางก่อน และหมอที่นั่นก็รับตัวไว้นอนโรงพยาบาล 3 วัน บอกว่าสงสัยหัวใจขาดเลือดเหมือนกัน หลัง 7 วันไม่มีอะไร เค้าก็ให้กลับบ้าน และบอกให้ไปติดต่อที่โรงพยาบาลเก่าที่เคยรักษาอยู่ ถ้ามีอาการอีกจึงมาที่นี่เมื่อเช้ากำลังจะหุงข้าวรู้สึกเจ็บแปล๊บที่หัวใจขึ้นมาอีก ใจจึงเต้นแรงและเหนื่อยขึ้นมาอีก กลัวจะเป็นมากเหมือนครั้งก่อน จึงรีบให้สามีพามาโรงพยาบาลนี่ก็ยังเจ็บๆ แน่นๆ อยู่ค่ะ

อาจารย์ : "ช่วงนี้คุณมีงานเพิ่มขึ้น หรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม ที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ "
ผู้ป่วย : " ไม่มีค่ะ"

อาจารย์ : "คุณกินได้ นอนหลับ และถ่ายเป็นปกติไหมครับ"
ผู้ป่วย : "กินได้ค่ะ แต่นอนไม่ค่อยหลับ ถ่ายเป็นปกติค่ะ"

อาจารย์ : "แล้วนอนไม่ค่อยหลับเพราะสาเหตุอะไรครับ มันเจ็บ มันปวดที่ตรงไหน หรือไม่สบายอะไรจนนอนไม่หลับ"

ผู้ป่วย : "ไม่ได้เจ็บปวด หรือไม่สบายอะไรค่ะ"

อาจารย์ : "สามีและลูกๆ สบายดีไหมครับ"

ผู้ป่วย : "สบายดีค่ะ"

อาจารย์ : "แล้วสามีและลูกๆ เกเรหรือทำให้คุณไม่สบายใจบ้างไหมครับ"

ผู้ป่วย : "ลูกๆ ดีทั้ง 2 คนเลยค่ะ แต่สามีชอบกลับบ้านดึก เลยทำให้นอนไม่ค่อยหลับค่ะ"
อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวหมอจะคุยกับสามีของคุณให้ประพฤติตัวให้คุณสบายใจขึ้น แล้วอาการเจ็บแน่นอกและอื่นๆ ของคุณจะดีขึ้น เพราะอาการของคุณเกิดจากความเครียดของกล้ามเนื้อที่หน้าอกของคุณ ไม่ได้เกิดที่หัวใจ เมื่อผสมกับที่คุณมีโรคหัวใจรั่วอยู่ หมอจึง อาจเข้าใจผิดว่าอาการของคุณเกิดจากหัวใจ แต่อาการของคุณไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจ และการตรวจต่างๆ ก็ไม่แสดงถึงภาวะหัวใจขาดเลือด คุณจึงสบายใจได้นะครับ และหมอจะคุยกับสามีของคุณให้เขาทำตัวดีขึ้น "

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แพทย์ชอบพึ่งการตรวจแล็บ (ตรวจเลือด คลื่นไฟฟ้าฯ เอกซเรย์ เป็นต้น) ในการวินิจฉัยโรคแทนที่จะพึ่งประวัติ และมุ่งรักษา"คน" (ผู้ป่วยและครอบครัว) มากกว่าอยู่ในห้องฉุกเฉินหลายชั่วโมงโดยไม่มีความจำเป็นเลย

 

ข้อมูลสื่อ

334-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 334
กุมภาพันธ์ 2550
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์