• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เราได้ยินเสียงได้อย่างไร

เราได้ยินเสียงได้อย่างไร

 

                              

 

หูนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้รับเสียง มีกลไกที่ซับซ้อนในการรับเสียงและเปลี่ยนเสียงเป็นกระแสประสาทเพื่อให้สมองแปลออกมาเป็นการได้ยิน

ใบหูที่มองเห็นได้จากภายนอกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกรับเสียง เพื่อให้เกิดการได้ยิน ใบหูทำหน้าที่คล้ายจานรับสัญญาณเพื่อที่จะป้อนคลื่นเสียงเข้าไปในรูหู สุดรูหูจะมีแก้วหูซึ่งเป็นแผ่นเยื่อบางๆ กั้นอยู่ เมื่อคลื่นเสียงมากระทบแก้วหู แผ่นแก้วหูจะสั่น แผ่นแก้วหูนี้ติดกับกระดูกชิ้นเล็กๆ 3 ชิ้น ซึ่งทำหน้าที่ขยายคลื่นเสียงให้แรงขึ้น กระดูกชิ้นสุดท้ายมีรูปคล้ายโกลนของอานม้า มีฐานของโกลนติดกับแผ่นเยื่อบางๆ อีกแผ่นหนึ่ง ซึ่งปิดปากท่อที่ขดเป็นรูปก้นหอยฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ ภายในก้นหอยมีของเหลวบรรจุอยู่ เมื่อเสียงมากระทบจะทำให้เกิดคลื่นเสียงที่ผ่านมาถึงของเหลวนี้ ภายในก้นหอยจะมีเซลล์ประสาทที่รับเสียงในความถี่ต่างๆกัน เสียงที่มากระทบจะทำให้เกิดกระแสประสาทไปที่สมอง โดยผ่านประสาทหู และสมองจะแปลออกมาให้เป็นการได้ยิน

เมื่อเราหมุนตัวทำไมจึงมีอาการเวียนหัว

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าหูชั้นในมีอวัยวะ 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือก้นหอย มีหน้าที่รับรู้การได้ยิน อีกอย่างหนึ่งคือท่อครึ่งวงกลม 3 ท่อ อวัยวะนี้มีประโยชน์ในการทรงตัว กล่าวคือบอกกับเราว่า เราอยู่ในท่าใด แม้หลับตาก็สามารถบอกได้ อวัยวะนี้ทำงานโดยการไหลของของเหลวภายในท่อนั้นเอง เมื่อเราเปลี่ยนท่าของเหลวในท่อจะไหลลงล่างตามแรงโน้มถ่วงของโลก ของเหลวนี้จะไปกระทบขนเส้นเล็กๆ ในท่อซึ่งมีเส้นประสาทต่อไปที่สมอง ทำให้สมองแปลออกมาได้ว่าเราอยู่ในท่าอะไร

เมื่อเราหมุนตัว ของเหลวในท่อครึ่งวงกลมจะเคลื่อนไหวไป เมื่อเราหยุดทันทีของเหลวที่อยู่ในท่อไม่ได้หยุด แต่เคลื่อนไหวต่อไป ทำให้ขนเส้นเล็กๆในท่อส่งกระแสประสาทไปยังสมองอยู่เรื่อย สมองจึงแปลออกมาว่าเรายังไม่หยุด แต่ยังหมุนอยู่ ทำให้เห็นบ้านเรือนต้นไม้รอบตัวเราหมุนคว้างไปหมด เราจึงมีอาการเวียนศีรษะ

ทำไมเราจึงรู้สึกหูอื้อ? ?

อาการหูตึงหรืออาการหูลั่น เกิดจากความแตกต่างของความดันระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง ถ้าความดันในหูชั้นนอกน้อยกว่า แก้วหูจะถูกดันให้โป่งตึงออกมาทำให้เกิดอาการหูตึงหรือหูลั่น

ตามปกติหูชั้นนอกกับหูชั้นกลางมีความดันเท่ากัน เพราะมีช่องทางติดต่อกันทางท่อยูสเตเชี่ยน แก้วหูซึ่งอยู่ตรงกลางจะตึงพอดี เราก็มีอาการปกติ ถ้าเราขึ้นสู่ที่สูงเร็วๆ เช่นขึ้นลิฟต์ หรือขึ้นเครื่องบินขณะเครื่องบินไต่ระดับสูงขึ้น ความดันของบรรยากาศบนชั้นสูงๆจะต่ำ เพราะอากาศเบาบาง ทำให้ความดันในหูชั้นนอกที่ติดต่อกับอากาศโดยตรงมีความดันต่ำไปด้วย ส่วนความดันในหูชั้นกลางซึ่งต้องปรับความดันผ่านท่อยูสเตเชี่ยนยังปรับไม่ทัน ความดันในหูชั้นนอกจึงต่ำกว่าความดันในหูชั้นกลางเป็นผลให้ความดันในหูชั้นกลางดันเอาแก้วหูโป่งออก เราจึงรู้สึกหูอื้อหรือหูลั่น คนที่เป็นหวัด ท่อยูสเตเชี่ยนบวมหรือตีบแคบ จะมีอาการหูอื้อง่ายกว่าคนปกติ วิธีแก้ทำได้โดยการกลืนน้ำลาย หรือใช้มือบีบจมูกแล้วเป่าแรงๆ จะทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนเปิดและเกิดความดันเท่ากัน อาการหูอื้อหูลั่นก็จะหายไป

 

                        ************************************************


 

ข้อมูลสื่อ

210-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 210
ตุลาคม 2539
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์